คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4187/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 และที่ 3 บิดามารดาจำเลยที่ 1 ไม่เคยทราบมาก่อน ว่าจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ อายุ 17 ปี ขับรถจักรยานยนต์ได้ ทั้ง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็อยู่ต่างอำเภอกับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ของเพื่อนจำเลยที่ 1 ชนโจทก์โดยละเมิดทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3มิได้รู้เห็นด้วย และไม่มีโอกาสห้ามปรามจำเลยที่ 1 มิให้ขับรถจักรยานยนต์เช่นนั้น จึงเป็นการสุดวิสัยที่จำเลยที่ 2 และที่ 3จะใช้ความระมัดระวังมิให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ในวันเกิดเหตุได้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์อยู่ในความดูแลอุปการะของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงและด้วยความประมาท เป็นเหตุให้ชนโจทก์ซึ่งกำลังเดินข้ามถนนได้รับอันตรายสาหัสกระดูกหน้าแข้งขวาหักการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์มีส่วนร่วมทำให้เกิดอุบัติเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองของจำเลยที่ 1ได้กำหนดที่อยู่ให้จำเลยที่ 1 อยู่หอพักเพื่อเรียนหนังสือและได้ว่ากล่าวตักเตือนเสมอมา จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน57,975 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ซึ่งไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ซึ่งอายุ 17 ปี ขับรถจักรยานยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อเฉี่ยวชนโจทก์ซึ่งเดินข้ามถนนขณะก้าวขึ้นทางเท้าเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส กระดูกหน้าแข้งขวาหัก และโจทก์เสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 57,975 บาท โดยเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่เพียงฝ่ายเดียว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงข้อเดียวว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วยหรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 อยู่ที่ตำบลหนองโพอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งมาเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนนครสวรรค์พักอาศัยอยู่ที่หอพักครูสะอาด-วิมาลาในอำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 4 จนถึงขณะเกิดเหตุซึ่งจำเลยที่ 1 เรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 5 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาเยี่ยมจำเลยที่ 1เป็นครั้งคราวและรับจำเลยที่ 1 กลับไปอยู่บ้านในช่วงปิดเทอมจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เคยทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ 1ขับรถจักรยานยนต์ได้และไม่เคยซื้อรถจักรยานยนต์ให้จำเลยที่ 1 ขับ ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ของนายดีเลิศเพื่อนจำเลยที่ 1 ซึ่งมีนายดีเลิศนั่งซ้อนท้ายไปชนโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่อ และเห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เคยทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ได้ ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็อยู่ต่างอำเภอกับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์ของเพื่อนจำเลยที่ 1 ชนโจทก์ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดามิได้รู้เห็นด้วยและไม่มีโอกาสห้ามปรามจำเลยที่ 1 มิได้ขับรถจักรยานยนต์เช่นนั้น จึงเป็นการสุดวิสัยที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะใช้ความระมัดระวังมิให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ในวันเกิดเหตุได้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์
พิพากษายืน

Share