แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีสำนวนแรกโจกท์ฟ้องอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทด้วยการครอบครองปรปักษ์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382เป็นการอ้างการได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยนิติเหตุ ส่วนคดีสำนวนหลังโจทก์อ้างว่าได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยโจทก์ซื้อมาจากจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกล่าวอ้างการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยทางนิติกรรม ถึงแม้คำขอของโจทก์ทั้งสองสำนวนจะขอให้เปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินเป็นของโจทก์เหมือนกันก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการยื่นฟ้องคดีในเรื่องเดียวกัน อันจะถือว่าเป็นการฟ้องซ้อนที่ศาลชั้นต้นรวมการพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกันแล้ววินิจฉัยว่า คดีสำนวนหลังเป็นฟ้องซ้อนให้ยกฟ้อง แต่ยังพิพากษาให้จำเลยปฏิบัติตามคำขอท้ายฟ้องคดีสำนวนหลัง คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในส่วนที่วินิจฉัยว่าเป็นฟ้องซ้อนไม่ชอบ เพราะเมื่อคดีสำนวนหลังไม่เป็นฟ้องซ้อนแล้ว ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาคดีตามที่พิจารณาได้ความว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5178แต่ได้มีการโอนโฉนดผิดแปลงตามคำฟ้องคดีสำนวนหลังได้ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นส่วนนี้ชอบแล้ว
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ศาลให้รวมพิจารณาพิพากษา เพื่อความสะดวกในการพิจารณาให้เรียกนายเชื่อม รักอยู่ ว่า จำเลยที่ 1 และเรียกนายมงคล มีเอี่ยม ว่า จำเลยที่ 2 สำนวนแรกโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นปี 2521 โจทก์ตกลงจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 5178เนื้อที่ 1 งานเศษ จากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 12,000 บาท โจทก์ได้ชำระราคาที่ดินให้จำเลยที่ 1 พร้อมกับจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นโจทก์ได้ปลูกสร้างบ้านและได้รับหมายเลขประจำบ้านเป็นบ้านเลขที่ 149 นอกจากนี้เมื่อวันที่ 18เมษายน 2523 และวันที่ 2 พฤษภาคม 2529 โจทก์ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 4680 และ 7768 ซึ่งเป็นที่ดินข้างเคียงจากจำเลยที่ 1 เพื่อให้พื้นที่บริเวณบ้านขยายติดต่อเป็นผืนเดียวกัน โจทก์ครอบครองที่ดินตลอดมาจนกระทั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2533 จำเลยที่ 2 มาแจ้งให้โจทก์รื้อบ้านออกไปจากที่ดิน อ้างว่าที่ดินเป็นของจำเลยที่ 2โจทก์จึงไปตรวจสอบหลักฐานเอกสารทางทะเบียน ปรากฏว่ามีชื่อจำเลยที่ 2ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยจดทะเบียนรับโอนจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2532 ส่วนที่ดินที่โจทก์จดทะเบียนรับโอนเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 2799 เนื่องจากโจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี โจทก์จึงได้สิทธิตามกฎหมายโดยการครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิในที่ดินโฉนดเลขที่ 5178ให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินมาเป็นชื่อของโจทก์หากจำเลยที่ 2 เพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 2799 แต่โจทก์กลับเข้าครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 ซึ่งเป็นการครอบครองที่ดินผิดแปลงจึงเป็นการสำคัญผิดของตัวโจทก์เอง โจทก์จะอ้างเอาการครอบครองปรปักษ์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายความจริงโจทก์ปลูกบ้านพักอาศัยประมาณปี 2525-2526 โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ เพราะยังไม่ครบกำหนดระยะเวลา 10 ปี ตามกฎหมาย หากฟังว่าโจทก์ได้ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์ก็จะอ้างการครอบครองมายันจำเลยที่ 2 ซึ่งซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตไม่ได้ เพราะการได้มาของโจทก์ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 เนื้อที่ 1 งาน 69 ตารางวาเศษ และที่ดินโฉนดเลขที่ 2799 เนื้อที่ 1 งาน 29 ตารางวาเศษ เมื่อประมาณปลายปี2520 โจทก์ได้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2521 โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 เป็นเงิน 12,000 บาท แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1นำโฉนดที่ดินเลขที่ 2799 มาจดทะเบียนขายให้โจทก์โดยสำคัญผิดว่าเป็นที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 5178 นอกจากนี้เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2523โจทก์ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 4680 เนื้อที่ 83 ตารางวาเศษ และวันที่ 2 พฤษภาคม 2529 โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 7768 เนื้อที่2 งาน 63 ตารางวา จากจำเลยที่ 1 ที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ติดต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 โจทก์ประสงค์จะให้ที่ดินทั้งสามแปลงติดต่อเป็นผืนเดียวกัน ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 2799 จำเลยที่ 1 ได้โอนขายให้จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2532 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1นำโฉนดที่ดินเลขที่ 5178 มาจดทะเบียนขายให้จำเลยที่ 2 โดยสำคัญผิดว่าเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 2799 ต่อมาเมื่อประมาณปลายปี 2533เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชัยนาทได้มาสำรวจและรังวัดที่ดินข้างเคียงโฉนดเลขที่ 2799 ได้มีหมายนัดโจทก์ให้ไปชี้ระวังแนวเขตที่ดินจึงเป็นเหตุให้โจทก์กับจำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินสลับแปลงกัน โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ไปจัดการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดให้ถูกต้องตามเจตนาที่ซื้อขายแล้วแต่จำเลยที่ 2 ไม่ยินยอม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองนำที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 ไปจดทะเบียนลงชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 5178 ให้โจทก์หากจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง และโจทก์ยินยอมโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2799 ให้จำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ตกลงขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 แต่จำเลยที่ 1 ได้หยิบโฉนดผิดแปลงนำไปจดทะเบียนขายให้โจทก์โดยหยิบโฉนดที่ดินเลขที่ 2799 ไปจดทะเบียนเนื่องจากรูปแผนที่ในโฉนดทั้งสองแปลงมีลักษณะใกล้เคียงกัน ส่วนที่ดินที่จำเลยที่ 1 ขายให้จำเลยที่ 2 นั้น คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 2799 แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 นำโฉนดที่ดินเลขที่ 5178 ไปจดทะเบียนโอนให้จำเลยที่ 2จำเลยที่ 1 เคยขอร้องให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ถูกต้องตามเจตนาที่แท้จริงแล้วแต่จำเลยที่ 2 ไม่ยินยอม
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้อนและหรือฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ 883/2533 ของศาลชั้นต้น ศาลไม่ควรรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 2799 แต่โจทก์กลับครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 เพราะเป็นที่ดินมีราคาแพงกว่าเป็นการใช้สิทธิที่จะฉ้อโกงและฉ้อฉลต่อจำเลยที่ 1 ที่โจทก์กล่าวในฟ้องว่าโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 4680 และ 7768 เพิ่มเติมเพื่อให้เป็นที่ดินติดต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 ให้เป็นผืนเดียวกันนั้นไม่เป็นความจริง โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในโฉนดสลับกันไม่ตรงกับเจตนาซื้อขายก็เป็นการเข้าใจผิดและสำคัญผิดของโจทก์ฝ่ายเดียว จำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 มาโดยเสียค่าตอบแทนและเป็นการซื้อขายที่ถูกต้องตามกฎหมาย การที่โจทก์จะให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 ให้โจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เมื่อจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 แล้วจำเลยที่ 2 ต้องการจะเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินที่ซื้อมาได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่า โจทก์ครอบครองที่ดินผิดแปลง และให้โจทก์ครอบครองให้ถูกแปลง เพื่อจำเลยที่ 2 จะได้เข้าไปครอบครองที่ดินตามที่จำเลยที่ 1 ขายให้จำเลยที่ 2 แต่โจทก์เกิดความละโมบมีเจตนาทุจริตมาแต่ต้น จึงฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นจำเลยในคดีนี้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 ให้โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ไปจัดการจดทะเบียนโอนก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 5178 ให้โจทก์ และให้โจทก์ไปจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2799 ให้จำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในสำนวนหลัง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบหรือไม่เห็นว่า ตามข้ออ้างในคำฟ้องของโจทก์สำนวนคดีแรกนั้นโจทก์อ้างการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ด้วยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 อันเป็นการกล่าวอ้างการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยนิติเหตุ ส่วนข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ในสำนวนคดีหลังนั้น เป็นการกล่าวอ้างการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 ในสำนวนคดีหลังจึงเป็นการกล่าวอ้างการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยทางนิติกรรม ถึงแม้คำขอของโจทก์ทั้งสองสำนวนจะมีคำขออย่างเดียวกันคือขอให้เปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ก็ตาม เมื่อคำฟ้องในสำนวนคดีหลังข้ออ้างที่จะต้องวินิจฉัย ไม่ใช่อย่างเดียวกันกับข้ออ้างในคำฟ้องสำนวนแรกเช่นนี้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่เป็นการยื่นฟ้องในเรื่องเกี่ยวกันอันจะถือว่าเป็นการฟ้องซ้อนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1)ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีสำนวนหลังเป็นการฟ้องซ้อนกับสำนวนคดีแรกนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนนี้ และเมื่อสำนวนคดีหลังไม่เป็นการฟ้องซ้อนกับสำนวนคดีแรกแล้วสำนวนคดีหลังพิจารณาโดยความอย่างไรก็พิจารณาไปตามที่พิจารณาได้ความได้ ข้อเท็จจริงตามสำนวนคดีหลังนั้นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่5178 และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ตกลงซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่2799 แต่ได้มีการโอนที่ดินลงในโฉนดผิดแปลงกัน การที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 รับโอนโฉนดที่ดินสลับกันมาเป็นเพราะความเข้าใจผิดแต่โจทก์ได้ครอบครองที่ดินที่ถูกต้องตลอดมา ดังนี้ที่ศาลชั้นต้นพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความในสำนวนคดีหลังนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน แต่ให้ตัดข้อความในคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังออก