คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 953/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 ออกเช็คชำระหนี้ค่าหุ้นให้โจทก์ร่วมเป็นการชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะจำเลยที่ 1 มีเงินในบัญชีไม่พอจ่ายโจทก์ร่วมเป็นผู้ทรงเช็คจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์และเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ ส่วนโจทก์ร่วมซึ่งเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จะกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 46 หรือไม่เป็นกรณีที่จะต้องไปว่ากล่าวกันอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวกับคดีนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวธนกิจ จำกัดผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับ 100,000 บาทลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์จำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์อนุญาต ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 60,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำเลยที่ 1ได้สั่งให้โจทก์ร่วมซื้อหุ้นให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาได้ออกเช็คตามฟ้องเพื่อชำระหนี้ค่าหุ้นดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม โจทก์ร่วมได้นำเช็คตามฟ้องไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ปัญหาที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์พ.ศ. 2522 มาตรา 46 ซึ่งบัญญัติให้โจทก์ร่วมต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดและตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 17 เมษายน 2530 ได้กำหนดวิธีการไว้ในข้อ 2(2) ว่า บริษัทหลักทรัพย์จะต้องดำเนินการให้ผู้ซื้อชำระราคาทันที หรืออย่างช้าไม่เกิน 3 วันทำการ นับแต่วันที่ซื้อหลักทรัพย์ หากบุคคลนั้นไม่ชำระ บริษัทหลักทรัพย์ต้องดำเนินการขายหลักทรัพย์นั้นไม่ช้ากว่าวันทำการถัดจากวันที่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว เมื่อหลักทรัพย์นั้นไม่ช้ากว่าวันทำการถัดจากวันที่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว เมื่อเช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์ร่วมจะต้องนำหลักทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อออกขายไม่ช้ากว่าวันทำการถัดจากวันที่ครบกำหนดดังกล่าว แต่โจทก์ร่วมหาได้ปฏิบัติตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ การกระทำของโจทก์ร่วมจึงเป็นการกระทำขัดต่อกฎหมายดังกล่าวโดยชัดแจ้ง โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ออกเช็คชำระหนี้ค่าหุ้นให้โจทก์ร่วมเป็นการชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะจำเลยที่ 1 มีเงินในบัญชีไม่พอจ่าย โจทก์ร่วมเป็นผู้ทรงเช็คจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์และเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ โจทก์ร่วมจะกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522มาตรา 46 หรือไม่ เป็นกรณีที่จะต้องไปว่ากล่าวกันอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวกับคดีนี้
พิพากษายืน

Share