คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลตายหุ้นส่วนอื่นที่คงเหลืออยู่เพียงแต่ได้แสดงเจตนาจะขอซื้อหุ้นของหุ้นส่วนดังกล่าว กรณียังไม่เป็นการรับซื้อหุ้นของหุ้นส่วนที่ตาย ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา1060 ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลจึงเป็นอันเลิกกันและต้องมีการชำระบัญชีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 1069,1055(5) ผู้จัดการมรดกของผู้เป็นหุ้นส่วนที่ตาย เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1251 วรรคสอง มีอำนาจร้องขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนนั้นได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลศรีสุทธามีหุ้นส่วน 5 คน โดย นายเกษม สุทธาศวิน เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม 2532 นายเกษมตาย เป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลศรีสุทธาต้องเลิกกันและจะต้องตั้งผู้ชำระบัญชีกับจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วน ขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานในกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม หรือบุคคลอื่นใดตามที่ศาลเห็นสมควรเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลศรีสุทธาต่อไป
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องคัดค้านว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลศรีสุทธายังไม่ต้องเลิกกันเพราะผู้คัดค้านที่ 1 ได้ดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนดังกล่าว ต่อมาโดยยอมรับซื้อหุ้นของนายเกษมผู้ตายไว้ทั้งหมด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1251 จึงพร้อมกันมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ให้เป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลศรีสุทธา และให้มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายทุกประการ
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลศรีสุทธาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2497 มีหุ้นส่วน5 คน คือ นายเกษม สุทธาศวิน หุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสอง ต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม 2532 นายเกษมตายผู้คัดค้านที่ 1 ได้ดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนดังกล่าวต่อมาผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายเกษมผู้ตาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้คัดค้านทั้งสองประการแรกว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลศรีสุทธายังไม่จำต้องเลิกกันด้วยเหตุนายเกษมตายเพราะผู้คัดค้านที่ 1 รับซื้อหุ้นของนายเกษมไว้แล้วหรือไม่ ผู้คัดค้านที่ 1เบิกความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ซื้อหุ้นของนายเกษมผู้ตายไว้เองแต่ผู้คัดค้านทั้งสองไม่มีหลักฐานอื่นใดที่แสดงว่าผู้คัดค้านที่ 1ได้รับซื้อหุ้นของนายเกษมแล้ว ผู้คัดค้านที่ 1 ก็เบิกความยอมรับว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้ซื้อหุ้นของนายเกษมจากผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเกษม เห็นว่า ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายเกษมจึงเป็นผู้มีอำนาจจัดการมรดกหุ้นของนายเกษมด้วยผู้คัดค้านที่ 1 จะรับซื้อหุ้นดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อผู้ร้องเป็นผู้ตกลงขายให้เท่านั้น เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 เบิกความยอมรับดังกล่าวแล้วว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้ซื้อหุ้นของนายเกษมจากผู้ร้องแสดงว่าผู้ร้องไม่ได้ตกลงขายหุ้นของนายเกษมให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1กรณีตามคำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 1 นั้นคงฟังได้แต่เพียงว่าผู้คัดค้านที่ 1 ได้แสดงเจตนาจะขอรับซื้อหุ้นของนายเกษมเท่านั้นยังไม่เป็นการรับซื้อหุ้นของนายเกษมหรือของผู้ที่ออกจากหุ้นส่วนไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1060ดังนั้น ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลศรีสุทธาจึงเป็นอันเลิกกันและต้องมีการชำระบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1069ประกอบด้วยมาตรา 1055(5)
ปัญหาตามฎีกาผู้คัดค้านทั้งสองในประการหลังว่า ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเกษมมีอำนาจร้องขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลศรีสุทธาหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเกษมย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลศรีสุทธาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1251 วรรคสอง ผู้ร้องจึงมีอำนาจร้องขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนดังกล่าวได้ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาว่าการร้องขอดังกล่าวจะเป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริตหรือไม่ เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share