แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำร้ายโจทก์ร่วม โดยจำเลยที่ 1 ใช้มีดฟันถูกฝ่ามือข้างซ้ายบริเวณโคนนิ้วก้อยและนิ้วนางของโจทก์ร่วม ทำให้เอ็นนิ้วก้อยและนิ้วนางขาด และเส้นประสาทขาด โจทก์ร่วมต้องรักษาตัวอยู่นานถึง 4 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็ยังไม่สามารถใช้นิ้วมือนับธนบัตรได้ตามหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามปกติ เป็นกรณีที่โจทก์ร่วมไม่สามารถประกอบกรณียกิจตามปกติได้เกินกว่ายี่สิบวัน การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8),83
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295, 297, 371, 83, 91, 58 และบวกโทษจำคุกจำเลยที่ 1ที่รอการลงโทษไว้ในคดีดังกล่าวเข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ด้วย
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่า เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกและศาลชั้นต้นรอการลงโทษไว้ตามฟ้องจริง
ระหว่างพิจารณา นายสุริยันต์ เย็นเจริญ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 จำคุกคนละ 4 ปี จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ปรับ 90 บาท คำให้การของจำเลยที่ 1ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนมีประโยชน์ต่อการพิจารณานับว่าเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี 4 เดือนปรับ 60 บาท บวกโทษจำคุก 4 เดือน ของจำเลยที่ 1 ที่รอการลงโทษไว้ตามคดีหมายเลขแดงที่ 3230/2532 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 12 เดือนและปรับ 60 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 1มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ปรับ 90 บาท คำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนมีประโยชน์ต่อการพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 1 ปี ปรับ 60 บาท บวกโทษจำคุก4 เดือน ของจำเลยที่ 1 ที่รอการลงโทษไว้ตามคดีหมายเลขแดงที่3230/2532 ของศาลชั้นต้น รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือนปรับ 60 บาท
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสี่ควรมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ส่วนจำเลยที่ 1 ฎีกาว่าไม่มีความผิดและขอให้ลดโทษหรือรอการกำหนดโทษ ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1โจทก์ร่วมเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมจับลูกบิดประตูดันไว้จำเลยที่ 1 ใช้มีดดาบยาวประมาณ 2 ฟุต ฟันเข้าไประหว่างช่องประตูซึ่งปิดไม่ได้ ถูกฝ่ามือข้างซ้ายบริเวณโคนนิ้วก้อยและนิ้วนางของโจทก์ร่วม ทำให้นิ้วก้อยของโจทก์ร่วมขาดห้อยลงไป นอกจากนั้นโจทก์และโจทก์ร่วมยังมีนายนิพนธ์ เย็นเจริญ เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันจำเลยที่ 1 นำสืบรับว่า ขณะเกิดเหตุได้ใช้มีดโต้ขวางประตูไว้จริง เห็นว่า เหตุเกิดเวลากลางวันไม่มีเหตุระแวงว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมจะให้การปรับปรำจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามที่พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1ใช้มีดฟันโจทก์ร่วมจริง โจทก์ร่วมเบิกความต่อไปว่าเมื่อไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล แพทย์ผู้รักษาบอกว่าเอ็นนิ้วก้อยและเอ็นนิ้วนางขาดและเส้นประสาทขาด แพทย์รับตัวได้เป็นคนไข้ในอยู่โรงพยาบาลประมาณ1 สัปดาห์ และออกไปรักษาตัวต่อที่บ้านอีกประมาณ 3 สัปดาห์ จึงสามารถไปทำงานได้ แต่ยังต้องเข้าเฝือกอยู่ การธนาคารกสิกรไทยซึ่งเป็นนายจ้างได้เปลี่ยนหน้าที่ไปอยู่สำนักงานใหญ่ แต่ไม่ได้มอบหมายงานให้ เพราะยังไม่สามารถใช้มือได้ จากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์จึงถอดเฝือกและสามารถใช้มือได้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีนายแพทย์ถาวร สุทธิยุทธ ซึ่งเป็นแพทย์ผู้ตรวจรักษาโจทก์ร่วมเบิกความเป็นพยานว่าบาดแผลของโจทก์ร่วมต้องใช้เวลารักษาไม่ต่ำกว่า 3 สัปดาห์จึงจะหาย ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบและศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ร่วมได้รับอันตรายแก่กายต้องรักษาตัวอยู่ไม่ต่ำกว่า 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็ยังไม่สามารถใช้นิ้วมือนับธนบัตรได้ตามหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามปกติเป็นกรณีที่โจทก์ร่วมไม่สามารถประกอบกรณียกิจตามปกติได้เกินกว่ายี่สิบวัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8) และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยโดยคู่ความมิได้ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมจำเลยทั้งสี่จึงต้องมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง และเห็นว่าโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดมานั้นเหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว และที่ศาลอุทธรณ์ไม่รอการกำหนดโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ก็เป็นการใช้ดุลพินิจที่ถูกต้องตามพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น