แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยร่วมกับ จ. ทำร้ายผู้ตายและหลบหนีไปด้วยกัน แม้จำเลยไม่ทราบว่า จ. มีอาวุธมีดติดตัว และไม่ได้ร่วมใช้อาวุธทำร้ายผู้ตายด้วย จำเลยก็ต้องรับผิดฐานเป็นตัวการร่วมทำร้ายผู้ตายเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรกซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษได้ เพราะการกระทำเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาที่โจทก์ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,80, 83, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 วรรคแรก, 83 ให้จำคุก 3 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ให้จำคุก 1 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยมีเจตนาร่วมกับพวกทำร้ายผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายหรือไม่…เห็นว่า โดยความสัมพันธ์จำเลยเป็นน้องชายนายหนู ผู้เสียหายก็ยืนยันชั้นพิจารณาและตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.1ว่า เห็นจำเลยเข้าไปชกต่อยผู้ตายด้วย เชื่อได้ว่าจำเลยร่วมกับพวกทำร้ายผู้ตายจริงที่จำเลยนำสืบต่อสู้อ้างว่าขณะเกิดเหตุจำเลยอยู่ที่บ้าน เพิ่งวิ่งออกมาดูเหตุการณ์ภายหลังไม่น่าเชื่อ แต่เมื่อในชั้นพิจารณาผู้เสียหายเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยนั่งอยู่ภายในบ้าน เพิ่งออกมารุมชกต่อยผู้ตายในภายหลัง โดยไม่ทันสังเกตว่าจำเลยชกต่อยผู้เสียหายด้วยหรือไม่ ตามพฤติการณ์ยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยทราบว่านายจุ๋มมีอาวุธมีดติดตัว เมื่อนายจุ๋มโดยเฉพาะตัวใช้อาวุธมีดยาวประมาณ 10 นิ้ว กว้างประมาณ 3-4 นิ้วแทงผู้ตาย 3 ครั้ง เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและแทงผู้เสียหาย 1 ครั้ง บาดแผลปรากฏตามรายงานการชันสูตรพลิกศพและใบรับรองแพทย์ท้ายฟ้องตามลำดับ จำเลยซึ่งร่วมทำร้ายผู้ตายและหลบหนีไปด้วยกัน แม้จะไม่ได้ร่วมใช้อาวุธทำร้ายผู้ตายด้วยก็ต้องรับผิดฐานเป็นตัวการร่วมทำร้ายผู้ตาย เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรกซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในการกระทำผิดตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้ายดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น