คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยออกเช็คจำนวนเงินเท่ากับจำนวนเงินในตั๋วแลกเงินของคนงานให้โจทก์ยึดถือไว้เพื่อค้ำประกันเงินตามตั๋วแลกเงินที่คนงานจ่ายเป็นค่าเครื่องบินให้แก่จำเลย มิใช่จำเลยออกเช็คให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ โจทก์จึงเป็นเพียงตัวแทนของคนงานเท่านั้นแม้เช็คจะระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินก็มีผลเพียงให้ถือไว้แทนคนงานหาได้ทำให้โจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 904 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ เช็คย่อมไม่มีมูลหนี้ที่โจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยผู้สั่งจ่ายรับผิดชำระเงินให้ตนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท กระทำการผูกพันจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นกรรมการของบริษัท จำเลยที่ 1 ได้รับใบอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ เมื่อประมาณกลางเดือนมีนาคม 2528 จำเลยได้ร่วมกันออกเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาบางเขนลงวันที่ 5 เมษายน 2528 สั่งจ่ายเงินจำนวน 320,000 บาท ให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ในการที่โจทก์จัดหาคนงานมาให้จำเลยเพื่อส่งคนงานไปต่างประเทศ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่เพื่อเรียกเก็บเงินแทน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 344,000 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 320,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า โจทก์ทรงเช็คโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ทั้งเช็คพิพาทนั้น โจทก์ จำเลยที่ 1ที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์และไม่มีมูลหนี้ต่อกัน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 มิได้ลงลายมือชื่อไว้ในเช็คพิพาทไม่ว่าในฐานะใด จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามเช็คพิพาทให้โจทก์เป็นจำนวน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2528 ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4เป็นกรรมการ จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้โจทก์เป็นผู้แนะนำเกี่ยวกับการเตรียมตัวของคนงานที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.2 โจทก์ได้จัดหาคนงานมาให้จำเลยที่ 1 เพื่อจัดส่งไปทำงานในต่างประเทศจำนวน 32 คน คนงานดังกล่าวมอบเงินค่าเครื่องบินโดยสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินจำนวน 32 ฉบับ มอบให้โจทก์นำไปให้จำเลยที่ 1 เป็นเงินคนละ 10,000 บาท ปรากฏตามตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย ล.4 ถึง ล.35 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำไปเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทให้โจทก์หรือไม่เพียงใด ได้ความจากโจทก์ว่า เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2528 โจทก์พาคนงานจำนวน 32 คน ไปให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการติดต่อคนงานและดำเนินการขออนุญาตให้คนงานเดินทางไปต่างประเทศเป็นค่าพาหนะค่าหนังสือเดินทาง ค่าจำนองที่ดินและอื่น ๆ เป็นเงินคนละ 10,000บาท ให้โจทก์ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คพิพาท ลงวันที่5 เมษายน 2532 จำนวนเงิน 320,000 บาท จำเลยที่ 1 นำสืบว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ติดต่อนางประทุมพี่สาวจำเลยที่ 2เป็นผู้จัดหาคนงานส่งไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย จำเลยที่ 1จะเรียกค่าบริการจากคนงานคนละ 33,000 บาท นางประทุมติดต่อให้โจทก์หาคนงานได้ 32 คน นางประทุมกับโจทก์จะได้ผลประโยชน์แบ่งกันคนละครึ่ง จะได้รับผลประโยชน์เมื่อคนงานเดินทางไปทำงานต่างประเทศแล้ว คนงานที่โจทก์พามาสมัครงานกับจำเลยที่ 1 จำนวน32 คน ไม่มีเงินจ่ายค่าบริการ จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือขอสินเชื่อจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสันป่าตอง ให้แก่คนงานจำนวน30 คน ธนาคารให้สินเชื่อโดยคนงานดังกล่าวนำโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกัน ในวงเงินคนละ 45,000 บาท ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2528 ธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาสันป่าตอง ได้ออกตั๋วแลกเงินฉบับละ 10,000 บาทจำนวน 32 ฉบับ ให้คนงาน แล้วให้โจทก์นำมามอบให้จำเลยที่ 1 โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ออกเช็คให้ 1 ฉบับ จำนวนเงิน 320,000 บาท เท่ากับจำนวนเงินตั๋วแลกเงิน 32 ฉบับ ให้โจทก์ไว้เพื่อเป็นประกัน ถ้าหากคนงานทั้ง 32 คน เดินทางล่าช้าหรือมีปัญหาไม่ได้เดินทางตามกำหนดให้โจทก์นำเช็คมาแลกเงินสดจากจำเลยที่ 2 จากนั้นจำเลยที่ 2ได้ไปซื้อตั๋วเครื่องบินให้คนงานทั้ง 32 คน ซึ่งจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศในวันที่ 6 มีนาคม 2528 ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม2528 คนงาน 17 คนแจ้งว่า ไม่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ ขอเงินเดือนคนละ 10,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงคืนเงินให้คนงานทั้ง 17 คนตามเอกสาร ล.38 ถึง ล.54 จำเลยที่ 2 แจ้งให้โจทก์นำเช็คพิพาทมาเปลี่ยนเป็นเช็คฉบับใหม่ แต่โจทก์บอกว่าไม่ได้เอาเช็คมาจากจังหวัดเชียงใหม่จะนำมาคืนให้ในภายหลัง ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2528 บริษัทสิงห์ทองโอเวอร์ซี จำกัดแจ้งแก่จำเลยที่ 1 ว่า มีเหตุขัดข้องในการเดินทาง จากนั้นคนงานอีก 15 คน บอกเลิกการเดินทางขอเงินคืน จำเลยที่ 2 ไม่คืนให้เนื่องจากโจทก์ไม่ยอมคืนเช็คพิพาท เห็นว่า ตามฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ตกลงจะใช้ค่าใช้จ่ายตามที่โจทก์ใช้จ่ายไปในการจัดหาคนงานให้แก่โจทก์แต่ประการใด ทั้งตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.2 ก็ปรากฏเพียงว่า จำเลยที่ 1มอบอำนาจให้โจทก์แนะนำให้ข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับการเตรียมตัวของคนงานที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งมีลักษณะเป็นการค้า โจทก์เป็นนายหน้าจัดหาคนงาน แต่ไม่มีข้อสัญญาว่าจำเลยที่ 1 จะใช้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้แก่โจทก์ นางประทุม นิมากร พยานจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เบิกความยืนยันว่า เมื่อโจทก์จัดหาคนงานได้ครบจำนวน 32 คนแล้ว โจทก์กับพยานไปที่บริษัทจำเลยที่ 1เพื่อตกลงแบ่งผลประโยชน์โดยตกลงกันว่า จะได้รับเมื่อคนงานเดินทางไปทำงานในต่างประเทศแล้วและจำเลยที่ 2 เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 จะได้รับค่าบริการจากคนงานคนละ 33,000 บาท โจทก์กับนางประทุมจะได้คนละครึ่ง แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์กับนางประทุมจะได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์จากคนงานจำนวนเท่าใด เมื่อคิดคำนวณจากการที่คนงานนำโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)ไปจดทะเบียนจำนองต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสันป่าตองในวงเงินคนละ 45,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.3 ธนาคารได้ออกตั๋วแลกเงินให้คนงานจำนวนคนละ 10,000 บาท เพื่อนำไปมอบให้จำเลยที่ 1 ล่วงหน้า เพื่อเป็นค่าเครื่องบินตามเอกสารหมาย ล.4ถึง ล.35 เมื่อรวมกับค่าบริการที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องแล้วก็จะเป็นจำนวน 43,000 บาท จะเห็นได้ว่า เงินส่วนที่เหลือ 2,000 บาทจะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมในการทำหนังสือเดินทางค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนจำนองและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่า การที่โจทก์กับนางประทุมจะได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์จากค่าบริการที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บจากคนงานนั้น นางประทุมยืนยันว่าจำเลยที่ 1 จะได้ส่วนแบ่ง 50 เปอร์เซ็นต์ โจทก์กับนางประทุมจะได้คนละ 25 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น โจทก์กับนางประทุมก็จะได้รับคนละ 8,250 บาท ต่อคนงานหนึ่งคนซึ่งสอดคล้องกับที่โจทก์อ้างว่าค่าใช้จ่ายในการลงทุนสำหรับคนงานแต่ละคนประมาณคนละ 8,000ถึง 9,000 บาท โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทให้โจทก์เพื่อชดใช้ค่าใช้จ่ายที่โจทก์จ่ายในการทำหนังสือเดินทางค่าธรรมเนียมจดทะเบียนจำนองที่ดินและค่าพาหนะของคนงาน ก็ไม่ปรากฏว่าค่าหนังสือเดินทางและค่าธรรมเนียมจดทะเบียนจำนองมีจำนวนเท่าไร ค่าพาหนะของคนงานคนใด เดินทางมาจากไหนไปที่ใด จำนวนคนละเท่าไรล้วนแต่เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง จำเลยที่ 2 เบิกความยืนยันว่า โจทก์มอบตั๋วแลกเงินของคนงานจำนวน 32 คน ฉบับเพื่อจ่ายเป็นค่าเครื่องบินคนละ 10,000บาท ให้จำเลยที่ 1 โจทก์ขอร้องให้จำเลยที่ 2 ออกเป็นเช็คเท่าจำนวนเงินในตั๋วแลกเงินทั้ง 32 ฉบับให้โจทก์เพื่อเป็นประกันว่าถ้าคนงานทั้ง 32 คนมีปัญหาไม่ได้เดินทางไปทำงานตามกำหนด โจทก์จะนำเช็คมาแลกเงินจากจำเลยที่ 1 คืน จำเลยที่ 2 จึงออกเป็นเช็คโดยระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงิน เห็นว่า โจทก์เป็นผู้พาคนงาน32 คน และนำตั๋วแลกเงินของคนงานมาให้จำเลยที่ 1 โจทก์จะต้องเป็นที่เชื่อถือของคนงาน โจทก์ย่อมต้องรับผิดชอบต่อคนงานเพื่อไม่ให้คนงานได้รับความเสียหาย ถ้าเกิดเหตุขัดข้องทำให้คนงานไม่ได้ไปทำงานในต่างประเทศตามที่โจทก์ชักนำ เช่นนี้จึงฟังได้ว่า ที่จำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทจำนวนเงินเท่ากับจำนวนเงินในตั๋วแลกเงินของคนงานจำนวน 32 คน ให้โจทก์ยึดถือไว้เพื่อค้ำประกันเงินตามตั๋วแลกเงิน 32 ฉบับ ที่จ่ายค่าเครื่องบินมิใช่จำเลยที่ 1 ออกเช็คให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ โจทก์จึงเป็นเพียงตัวแทนของคนงานจำนวน 32 คนเท่านั้น แม้เช็คพิพาทจะระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินก็มีผลเพียงให้ถือไว้แทนคนงาน หาได้ทำให้โจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 904 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ เช็คพิพาทย่อมไม่มีมูลหนี้ที่โจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินให้ตนได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1ชำระเงินตามเช็คพิพาทนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามเช็คพิพาทต่อโจทก์ ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ต่อไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share