คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4124/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทมิใช่ทางสาธารณะแต่เป็นของโจทก์ทั้งสองเมื่อกรมทางหลวงจำเลยเวนคืนเอาที่ดินของโจทก์ทั้งสองไปขยายเป็นเขตทางหลวงและมิได้กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสองตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์โดยโจทก์ทั้งสองไม่มีโอกาสเรียกค่าทดแทนตามขั้นตอนของกฎหมายได้โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากที่ดินพิพาทถูกเวนคืนจากจำเลยได้ การดำเนินการเพื่อการเวนคืนที่ดินของโจทก์เพื่อสร้างทางหลวงในคดีนี้จำเลยมิได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินพิพาทที่ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงจังหวัดพ.ศ.2530ให้แก่โจทก์ทั้งสองตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังนี้โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีโอกาสปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายในการเรียกค่าทดแทนจึงไม่มีกรณีที่จะต้องพิจารณาว่าจะนำหลักเกณฑ์การกำหนดค่าทดแทนตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่295ลงวันที่28พฤศจิกายน2515หรือตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาใช้บังคับแต่กรณีตามคำฟ้องของโจทก์ที่เรียกค่าที่ดินที่จำเลยขอทำถนนในที่ดินของโจทก์ส่วนที่พิพาทโดยจำเลยจะจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์ในภายหลังนั้นพอถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายนั่นเอง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 4719 เนื้อที่ 45 ไร่ 19 ตารางวา ที่ดินดังกล่าวมีทางสาธารณประโยชน์กว้าง 8 เมตร ผ่ากลางจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน เมื่อปี 2530 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3208 สายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (เขาวัง) – บรรจบทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3313(ชัฎป่าหวาย) ตอนบ้านเขาวัง-บ้านน้ำพุ พ.ศ. 2530 ครั้นปี 2531ช่างรังวัดแขวงการทางและพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ปักหลักกำหนดเขตขยายทางหลวงตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว โดยขยายจากทางสาธารณประโยชน์ให้มีความกว้างข้างละ 36 เมตร เนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน21 ตารางวา โดยจำเลยขอให้โจทก์ทั้งสองอุทิศที่ดินส่วนที่ขยายออกไปให้จำเลยแต่โจทก์ทั้งสองไม่ยอม จำเลยจึงขอทำถนนในที่ดินของโจทก์ทั้งสองตามเขตที่ขยายออกไปโดยจะจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสองในภายหลัง กับให้โจทก์ทั้งสองแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกเป็นบริเวณเขตทางที่กำหนดเขตเวนคืนเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลังต่อไปโจทก์ทั้งสองจึงแบ่งแยกที่ดินเป็นโฉนดเลขที่ 39219 เนื้อที่ 7 ไร่21 ตารางวา ซึ่งเมื่อหักเนื้อที่ทางสาธารณประโยชน์ที่อยู่ตรงกลางเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน ออกไปจะเหลือที่ดินที่จำเลยต้องจ่ายค่าเวนคืนเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา ราคาประเมินไร่ละ 300,000 บาทเป็นเงิน 1,740,750 บาท โจทก์ทั้งสองทวงถามแต่จำเลยไม่ชำระขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,740,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองกับนางสาวจุฑาทิพย์ ชมภูนุชและนางสาวนิพภยา ชมภูนุช เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่4719 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเวนคืนที่ดินเนื้อที่5 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา ทั้งหมดจากจำเลย จังหวัดราชบุรีสร้างทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3208 สายบ้านเขาวัง-บ้านน้ำพุเมื่อปีใดไม่ปรากฎชัด โดยสร้างเป็นผิวจราจรลูกรัง กว้าง 5 เมตรคันทางกว้าง 8 เมตร เขตทางข้างละ 20 เมตร หลังจากนั้นประชาชนใช้ถนนดังกล่าวสัญจรตลอดมา ต่อมาปี 2506 จังหวัดราชบุรีได้มอบให้จำเลยดูแลรักษา จำเลยได้ครอบครองดูแลบำรุงรักษาให้ประชาชนใช้สอยตลอดมาเป็นเวลาเกิน 10 ปี ที่ดินพิพาทจึงเป็นทางสาธารณประโยชน์ ราคาที่ดินพิพาทในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวเขตที่ดินใช้บังคับมีราคาไร่ละ 6,000 บาท โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกเงินค่าทดแทนเป็นเงิน 139,260 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 232,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 870,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
โจทก์ ทั้ง สอง และ จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองกับพวกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4719เนื้อที่ 45 ไร่ 19 ตารางวา ที่ดินดังกล่าวเดิมจังหวัดราชบุรีได้สร้างทางสาธารณะสายบ้านเขาวัง-บ้านน้ำพุ ผ่านจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ครั้นปี 2506 จังหวัดราชบุรีได้มอบทางสาธารณะสายบ้านเขาวัง-บ้านน้ำพุให้จำเลย โดยแขวงการทางบ้านโป่งเป็นผู้รับมอบแทนต่อมาปี 2530 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3208 สายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (เขาวัง) บรรจบทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3313(ชัฎป่าหวาย) ตอนบ้านเขาวัง-บ้านน้ำพุ พ.ศ. 2530 ออกใช้บังคับที่ดินของโจทก์ทั้งสองส่วนที่ทางสาธารณะผ่านอยู่ในแนวเขตที่จะสร้างทางหลวงตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
ปัญหาประการแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นเขตทางข้างละ 20 เมตร ของทางสาธารณะที่ผ่านที่ดินโจทก์ทั้งสองคิดเป็นเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา เป็นทางสาธารณะหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะที่จำเลยรับมอบทางสาธารณะสายบ้านเขาวัง-บ้านน้ำพุ จากจังหวัดราชบุรี ในปี 2506นั้น ทางสาธารณะกว้าง 8 เมตร และยังไม่มีเขตทาง ที่ดินพิพาทมิใช่ทางสาธารณะแต่เป็นของโจทก์ทั้งสอง เมื่อจำเลยเวนคืนเอาที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสองไปขยายเป็นเขตทางหลวงหมายเลข 3208สายบ้านเขาวัง-บ้านน้ำพุ ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวในภายหลังโดยมิได้กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสองตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ โจทก์ทั้งสองก็ไม่มีโอกาสเรียกค่าทดแทนตามขั้นตอนของกฎหมายได้ โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากที่ดินพิพาทถูกเวนคืนจากจำเลยได้
ปัญหาประการที่สองตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยมีว่าค่าเสียหายมีเพียงใด เห็นว่า คดีนี้จำเลยมิได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินพิพาทที่ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสองตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีโอกาสปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายในการเรียกค่าทดแทน จึงไม่มีกรณีที่จะต้องพิจารณาว่าจะนำหลักเกณฑ์การกำหนดค่าทดแทนตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 หรือตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาใช้บังคับ แต่กรณีตามคำฟ้องพอถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายนั่นเองและวินิจฉัยว่า ที่จำเลยขอให้กำหนดค่าเสียหายไร่ละ 6,000 บาทก็ต่ำเกินไปเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองไร่ละ 150,000 บาท
พิพากษายืน

Share