คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3182/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา37บัญญัติให้ที่ประชุมเจ้าหนี้อาจลงมติตั้งกรรมการเจ้าหนี้ไว้เพื่อแทนเจ้าหนี้ทั้งหลายในกิจการเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้กรรมการเจ้าหนี้ย่อมอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของเจ้าหนี้ทั้งหลายในการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้เมื่อที่ประชุมกรรมการเจ้าหนี้มีมติเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ประการใดแล้วมติดังกล่าวจึงต้องถือว่าเป็นมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายนั้นเองดังนั้นคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้แก้ไขมติที่ประชุมกรรมการเจ้าหนี้ดังกล่าวเท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่ามติที่ประชุมเจ้าหนี้ขัดต่อประโยชน์อันร่วมกันของเจ้าหนี้ทั้งหลายซึ่งตามมาตรา36ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้นที่จะร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติตามมตินั้นได้โดยต้องยื่นคำร้องต่อศาลภายใน7วันนับแต่วันที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติผู้ร้องหามีสิทธิเช่นว่านั้นไม่และหากถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา146ผู้ร้องก็มิได้บรรยายให้เห็นว่าผู้ร้องได้รับความเสียหายอย่างไรจากการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดให้มีการประชุมกรรมการเจ้าหนี้ดังกล่าวจึงมิใช่กรณีที่ผู้ร้องอาจใช้สิทธิตามมาตรา146ได้ดังนี้จึงไม่มีเหตุแก้ไขมติที่ประชุมเจ้าหนี้นั้น

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2532 แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2535 ต่อมาที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2538 ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ให้แก่บริษัทยุวนาถ จำกัด และ/หรือ บุคคลใดที่บริษัทดังกล่าวจัดหามาในราคา682,539,682.54 บาท โดยเมื่อหักค่าธรรมเนียมและค่าอากรต่อใบรับเงินแล้วจะเหลือเงินสุทธิ 645,000,000 บาท
ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 4488 และเป็นกรรมการเจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านว่า การที่ที่ประชุมกรรมการเจ้าหนี้ครั้งที่ 4ลงมติให้ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวให้แก่บริษัทยุวนาถ จำกัด หรือผู้ที่บริษัทดังกล่าวจัดหามาในราคาสุทธิ 645,000,000 บาท เป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมินและราคาที่เป็นจริงในท้องตลาด ทำให้ยอดเงินเหลือไว้เฉลี่ยแก่เจ้าหนี้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขมติที่ประชุมดังกล่าวหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องของผู้ร้องไม่ได้บรรยายว่ามติที่ประชุมกรรมการเจ้าหนี้ครั้งที่ 4 ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรไม่มีเหตุแก้ไขมติที่ประชุม ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้อง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้ร้อง ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ฎีกาของผู้ร้องข้อแรกที่ว่าเมื่อมีการขายตามมติกรรมการเจ้าหนี้ ทำให้เจ้าหนี้รายอื่นได้เปรียบที่ดินของลูกหนี้มีราคาสูงกว่าราคาขาย การยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นผู้ร้องได้แสดงชัดเจนแล้วว่าการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จัดให้มีการประชุมเจ้าหนี้ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เช่าซื้อจึงเป็นการร้องคัดค้านการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งกฎหมายให้สิทธิและอำนาจผู้ร้องซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการเจ้าหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 146 ร้องคัดค้านได้นั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 37 บัญญัติให้ที่ประชุมเจ้าหนี้อาจลงมติตั้งกรรมการเจ้าหนี้ไว้เพื่อแทนเจ้าหนี้ทั้งหลายในกิจการเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้กรรมการเจ้าหนี้ย่อมอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของเจ้าหนี้ทั้งหลายในการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ เมื่อที่ประชุมกรรมการเจ้าหนี้มีมติเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ประการใดแล้วมติดังกล่าวจึงต้องถือว่าเป็นมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายนั้นเอง ดังนั้น คำร้องของผู้ร้องที่ขอให้แก้ไขมติที่ประชุมกรรมการเจ้าหนี้ดังกล่าวเท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่ามติที่ประชุมเจ้าหนี้ขัดต่อประโยชน์อันว่ากันของเจ้าหนี้ทั้งหลาย ซึ่งตามมาตรา 36 ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้นที่จะร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติตามมตินั้นได้ โดยต้องยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติ ผู้ร้องหามีสิทธิเช่นว่านั้นไม่ และหากถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 146 ผู้ร้องก็มิได้บรรยายให้เห็นว่าผู้ร้องได้รับความเสียหายอย่างไรจากการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดให้มีการประชุมกรรมการเจ้าหนี้ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2538 ขึ้นจึงมิใช่กรณีที่ผู้ร้องอาจใช้สิทธิตาม มาตรา 146 ได้
พิพากษายืน

Share