แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่าท. ได้สั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมเฉพาะสั่งจ่ายเงินฉบับละ2,000,000บาทระบุชื่อให้แก่โจทก์ที่1และโจทก์ที่2ตามลำดับโดยขีดฆ่าคำว่า”หรือผู้ถือ”โดยห้ามเปลี่ยนมือทั้งสองฉบับพ. บิดาของโจทก์ทั้งสองรับเช็คดังกล่าวไว้แล้วนำไปเข้าบัญชีเงินฝากของพ.ที่ธนาคารสาขาของจำเลยที่1เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่1ได้นำเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีพ. โดยไม่มีอำนาจที่จะกระทำเช่นนั้นได้เพราะเช็คดังกล่าวทั้งสองฉบับเป็นเช็คขีดคร่อมระบุชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้รับเงินตามเช็คและเจ้าหน้าที่ของจำเลยจะต้องนำเช็คทั้งสองฉบับเข้าบัญชีเฉพาะของโจทก์ทั้งสองหากโจทก์ทั้งสองยังไม่มีบัญชีกับธนาคารจำเลยที่1เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่1ก็ต้องปิดบัญชีให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อจะได้นำเงินตามเช็คทั้งสองฉบับเข้าบัญชีของโจทก์ทั้งสองอันเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายและธรรมเนียมประเพณีของธนาคารพาณิชย์การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายการกระทำของเจ้าหน้าที่จำเลยที่1จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองแล้วจำเลยที่1ในฐานะนายจ้างย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองโจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง ที่จำเลยที่1ฎีกาว่าโจทก์ทั้งสองใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องแต่เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันโดยชอบในศาลล่างทั้งสองศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แม้โจทก์จะกล่าวในคำฟ้องว่าด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่จำเลยที่1เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยที่1ต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์มีมูลหนี้มาจากการละเมิดอันจะต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายภายในอายุความ1ปีก็ตามแต่เมื่อพิจารณาคำฟ้องเป็นการฟ้องว่าจำเลยที่1ไม่มีสิทธิอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1000เพื่อยกเว้นความรับผิดทั้งเป็นการเรียกเอาทรัพย์จากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้คืนตามมาตรา1336ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความดังนี้จะนำอายุความเรื่องละเมิด1ปีมาใช้บังคับไม่ได้ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ แม้ขณะเกิดเหตุโจทก์ทั้งสองยังเป็นผู้เยาว์พ.บิดาในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองของโจทก์ทั้งสองในขณะนั้นย่อมมีอำนาจจัดการแทนโจทก์ทั้งสองได้ก็ตามแต่เมื่อเงินได้ตามเช็คพิพาทเป็นเงินได้ที่ต้องนำบัญชีส่วนตัวของโจทก์ทั้งสองเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่1ก็ชอบที่จะจัดการนำเช็คดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองเข้าบัญชีโจทก์ทั้งสองและในทางปฏิบัติหากโจทก์ทั้งสองไม่มีบัญชีในธนาคารจำเลยที่1เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่1ก็ย่อมดำเนินการเปิดบัญชีใหม่ให้โจทก์ทั้งสองได้เมื่อความเป็นผู้เยาว์ของโจทก์ทั้งสองไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการเปิดบัญชีใหม่แต่ประการใดดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่1นำเช็คขีดคร่อมของโจทก์ทั้งสองเข้าบัญชีส่วนตัวของพ. แล้วเป็นเหตุให้พ. ถอนเงินจำนวนดังกล่าวไปได้นั้นเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อจำเลยที่1ในฐานะนายจ้างย่อมต้องรับผิดคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรผู้เยาว์ของนายพรชัยกับนางฉวีวรรณ วงศ์เวคิน ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางมีคำสั่งตั้งนางนวลพิศ วงศ์เวคิน และพนักงานอัยการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมายของสำนักงานคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน กรมอัยการเป็นผู้ปกครองของโจทก์ทั้งสอง นางฉวีวรรณได้ทำสัญญาประกันชีวิตและประกันอุบัติเหตุและทุพพลภาพไว้กับบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด จำนวนเงินเอาประกันชีวิต 2,000,000 บาท และจำนวนเงินเอาประกันอุบัติเหตุ2,000,000 บาท โดยระบุให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาต่อมานางฉวีวรรณได้ถึงแก่กรรมโดยอุบัติเหตุบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด ได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ จำกัด สำนักงานใหญ่เป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะ จำนวนเงิน 2,000,000 บาท ระบุชื่อให้แก่โจทก์ที่ 1 และขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือโดยห้ามเปลี่ยนมือ และสั่งจ่ายเช็คธนาคารเดียวกัน จำนวนเงิน 2,000,000 บาท ระบุชื่อให้แก่โจทก์ที่ 2 และขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือโดยห้ามเปลี่ยนมือโดยนายพรชัยบิดาของโจทก์ทั้งสองเป็นผู้รับเช็คทั้งสองฉบับไปต่อมานายพรชัยได้นำไปเข้าบัญชีเงินฝากของนายพรชัยที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขานนทบุรี อันเป็นธนาคารสาขาของจำเลยที่ 1 เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้นำเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวเข้าบัญชีของนายพรชัยโดยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้เพราะเช็คทั้งสองฉบับเป็นเช็คขีดคร่อมระบุชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้รับเช็ค ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและธรรมเนียมประเพณีของธนาคารพาณิชย์ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับเงินตามเช็คและขาดผลประโยชน์อันควรจะได้จากเงินจำนวนดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 4,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในเงิน 4,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
ระหว่างไต่สวนคำร้องของโจทก์ทั้งสองที่ขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา โจทก์ทั้งสองขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 1 ให้การว่า บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัดไม่เคยจ่ายเช็คตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยไม่ต้องคืนเงินจำนวน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองเพราะในขณะที่บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด สั่งจ่ายเช็คตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองยังเป็นผู้เยาว์ นายพรชัยวงศ์เวคิน ซึ่งเป็นบิดาตามกฎหมายมีอำนาจจัดการแทนได้การที่นายพรชัยนำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีของนายพรชัยที่ธนาคารของจำเลย และเจ้าหน้าที่ของธนาคารจำเลยเรียกเก็บเงินมาเข้าบัญชีของนายพรชัย และนายพรชัยได้รับเงินตามเช็คไปแล้ว จึงเป็นการกระทำชอบด้วยกฎหมายและธรรมเนียมประเพณีของธนาคาร ธนาคารไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ ถ้าโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายอย่างไร ก็เป็นการกระทำของนายพรชัย วงศ์เวคินผู้ที่โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองคือนายพรชัย วงศ์เวคินมิใช่จำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 4,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2529จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลย ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นเป็นที่รับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของนายพรชัยและนางฉวีวรรณ วงศ์เวคินนางฉวีวรรณถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2529 โดยอุบัติเหตุทางรถยนต์ทางรถยนต์ ก่อนถึงแก่กรรม นางฉวีวรรณได้ทำประกันชีวิตไว้กับบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด โดยให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้รับประโยชน์คนละ 2,000,000 บาท เมื่อนางฉวีวรรณถึงแก่กรรมบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด ได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2คนละฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 2,000,000 บาท ระบุให้จ่ายเงินแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออกและขีดคร่อมกับมีถ้อยคำว่า “A/C PAYEE ONLY” ภายในขีดคร่อมมอบให้แก่นายพรชัยบิดาของโจทก์ทั้งสอง แล้วนายพรชัยได้นำเช็คทั้งสองฉบับเข้าบัญชีเงินฝากของนายพรชัยที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขานนทบุรี ซึ่งเป็นสาขาของจำเลยที่ 1 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขานนทบุรี ได้เรียกเก็บเงินตามเช็คทั้งสองฉบับเข้าบัญชีของนายพรชัย แล้วนายพรชัยได้ถอนเงินออกจากบัญชีทั้งหมด
คดีจึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1ว่าโจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องหรือไม่ คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความหรือไม่ และจำเลยที่ 1 จะต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้องหรือไม่เพียงใด ปัญหาข้อแรกที่ว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัดได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด สำนักงานใหญ่อันเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะ เช็คหมายเลข 0186496 และ 0186497ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2529 สั่งจ่ายเงินฉบับละ 2,000,000 บาทระบุชื่อให้แก่นางสาวอนัญญา วงศ์เวคิน โจทก์ที่ 1 และเด็กชายเกม วงศ์เวคิน โจทก์ที่ 2 ตามลำดับโดยขีดฆ่าคำว่า”หรือผู้ถือ” โดยห้ามเปลี่ยนมือทั้งสองฉบับ ตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 นายพรชัย วงศ์เวคิน บิดาของโจทก์ทั้งสองรับเช็คดังกล่าวไว้ แล้วนำไปเข้าบัญชีเงินฝากของนายพรชัยที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขานนทบุรี อันเป็นธนาคารสาขาของจำเลยที่ 1 เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1ได้นำเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีนายพรชัยเลขที่ 211-5 โดยไม่มีอำนาจที่จะกระทำเช่นนั้นได้ เพราะเช็คดังกล่าวทั้งสองฉบับเป็นเช็คขีดคร่อม ระบุชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้รับเงินตามเช็คมิใช่นายพรชัย เจ้าหน้าที่ของจำเลยจะต้องนำเช็คทั้งสองฉบับเข้าบัญชีเฉพาะของโจทก์ทั้งสอง หากโจทก์ทั้งสองยังไม่มีบัญชีกับธนาคารจำเลยที่ 1 เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ก็ต้องเปิดบัญชีให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อจะได้นำเงินตามเช็คทั้งสองฉบับเข้าบัญชีของโจทก์ทั้งสอง อันเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายและธรรมเนียมประเพณีของธนาคารพาณิชย์ การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ดังนี้ถือได้ว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองแล้ว จำเลยที่ 1ในฐานะนายจ้างย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง อนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาโต้แย้งอ้างว่าโจทก์ทั้งสองใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าสุจริตหรือไม่อันนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันโดยชอบในศาลล่างทั้งสองศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาข้อที่ 2 ที่ว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความหรือไม่นั้นแม้โจทก์จะกล่าวในคำฟ้องว่า ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์มีมูลหนี้มาจากการละเมิด อันจะต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายภายในอายุความ 1 ปีก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาคำฟ้องทั้งหมดแล้ว เห็นว่า เป็นการที่โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1000 เพื่อยกเว้นความรับผิดทั้งเป็นการเรียกเอาทรัพย์จากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความจะนำอายุความเรื่องละเมิด 1 ปี มาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาข้อสุดท้ายที่ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้องหรือไม่ เพียงใดนั้น ปัญหานี้แม้จำเลยที่ 1 อ้างว่าขณะนั้นโจทก์ทั้งสองยังเป็นผู้เยาว์นายพรชัยบิดาในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองในขณะนั้นย่อมมีอำนาจจัดการแทนโจทก์ทั้งสองได้ก็ตาม แต่เมื่อเงินได้รายนี้เป็นเงินได้ที่ต้องนำเข้าบัญชีส่วนตัวของโจทก์ทั้งสอง เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะจัดการนำเช็คดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองเข้าบัญชีโจทก์ทั้งสอง และในทางปฏิบัติ หากโจทก์ทั้งสองไม่มีบัญชีในธนาคารจำเลยที่ 1 เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1ก็ย่อมดำเนินการเปิดบัญชีใหม่ให้โจทก์ทั้งสองได้ ความเป็นผู้เยาว์ของโจทก์ทั้งสองไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการเปิดบัญชีใหม่แต่ประการใด ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 นำเช็คขีดคร่อมของโจทก์ทั้งสองเข้าบัญชีส่วนตัวของนายพรชัยแล้วเป็นเหตุให้นายพรชัยถอนเงินจำนวนดังกล่าวไปได้นั้น เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างย่อมต้องรับผิดคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้อง
พิพากษายืน