คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2495/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1643ที่กำหนดให้สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรงนั้นหมายความถึงผู้สืบสันดานโดยสายโลหิตอันแท้จริงเท่านั้นส่วนบุตรบุญธรรมแม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1627จะให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก็ตามก็หมายความเพียงว่าบุตรบุญธรรมเป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1629(1)และมีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมเท่านั้นหามีผลทำให้บุตรบุญธรรมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ผู้รับบุตรบุญธรรมด้วยไม่เพราะไม่ใช่เป็นผู้สืบสันดานโดยตรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1643ดังนั้นเมื่อผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของจ. ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับเจ้ามรดกและจ. ถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดกแล้วเช่นนี้ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกแทนที่จ. ได้เพราะผู้ร้องไม่ใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของจ. ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกในอันที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1713

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของนางสาวจรัญ เด่นศิริพงษ์ ซึ่งได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่12 สิงหาคม 2539 นางสาวจรัญเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางสาวสุพิน เด่นศิริพงษ์ เจ้ามรดกซึ่งได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 10 กันยายน2539 เจ้ามรดกไม่มีคู่สมรสและไม่มีบุตรคงมีแต่พี่น้องร่วมบิดามารดาเท่านั้น ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวสุพินเจ้ามรดก
ในวันนัดไต่สวนคำร้อง ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีเพื่อไปทำคำร้องคัดค้านมายื่นต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นสอบผู้ร้อง ผู้ร้องแถลงว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในฐานะผู้รับมรดกแทนที่นางสาวจรัญมารดา ซึ่งรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรม ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องไต่สวนพยาน จึงมีคำสั่งให้งดไต่สวนพยานผู้ร้องและยกคำร้องขอเลื่อนคดีของผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้น พิพากษา ให้ยก คำร้องขอ ของ ผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1643บัญญัติว่า สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ซึ่งหมายความถึงผู้สืบสันดานโดยสายโลหิตอันแท้จริงเท่านั้นส่วนบุตรบุญธรรมนั้น แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629จะบัญญัติ ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้ก็ตาม ก็หมายความเพียงว่าบุตรบุญธรรมดังกล่าวเป็นทายาทโดยธรรมตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(1) และมีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมเท่านั้นแต่หามีผลทำให้บุตรบุญธรรมดังกล่าวมีสิทธิรับมรดกแทนที่ผู้รับบุตรบุญธรรมด้วยไม่เพราะไม่ใช่เป็นผู้สืบสันดานโดยตรงตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1643 ดังนั้น เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงจากคำร้องขอของผู้ร้องว่าผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของนางสาวจรัญ เด่นศิริพงษ์ ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางสาวยุพิน เด่นศิริพงษ์เจ้ามรดก และนางสาวจรัญได้ถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดกแล้วเช่นนี้ ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกแทนที่นางสาวจรัญได้ เพราะผู้ร้องไม่ใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของนางสาวจรัญ ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกในอันที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคหนึ่งคำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบด้วยเหตุผลและต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share