แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์จำเลยตกลงเลิกสัญญาบริการกันแล้วจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นลูกจ้างและนายจ้างกันต่อไปจำเลยไม่มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ดังนั้นเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความจึงมิใช่ค่าจ้างเมื่อโจทก์จำเลยตกลงเลิกสัญญาบริการกันแล้วจำเลยไม่มีหน้าที่จะต้องชำระภาษีเงินได้แทนโจทก์ต่อไปและเงินที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนี้เป็นเงินได้อันเนื่องมาจากสัญญาจ้างแรงงานและเป็นเงินพึงประเมินตามมาตรา40(1)แห่งประมวลรัษฎากรจำเลยผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษีไว้ณที่จ่ายตามมาตรา50ประกอบมาตรา3จตุทศแล้วนำส่งเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรหากโจทก์เห็นว่าโจทก์เสียภาษีน้อยกว่าที่จำเลยหักไว้เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องดำเนินการแก่กรมสรรพากรว่าด้วยเรื่องการคืนภาษีเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายโดยอ้างว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าก่อน 6 เดือน ตามข้อตกลงในสัญญาบริการ และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลแรงงานกลางได้พิพากษาตามยอมโดยให้โจทก์ลาออกและจำเลยยอมจ่ายเงินให้โจทก์ 750,000 บาทแบ่งชำระเป็นสองงวด งวดแรกครึ่งหนึ่งชำระในวันที่ 31 ตุลาคม2539 งวดที่สองอีกครึ่งหนึ่งชำระในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2539 ต่อมาจำเลยได้นำเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน 339,313.85 บาท สำหรับชำระหนี้งวดแรกโดยหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้จำนวน 35,686.15 บาท มาวางศาลพร้อมหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามประมวลรัษฎากรเพื่อให้โจทก์รับไป
โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเป็นเรื่องที่จำเลยตกลงจ่ายเงินเดือนให้โจทก์จำนวน3 เดือน เพราะเหตุที่จำเลยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าก่อนเลิกจ้าง6 เดือน ตามข้อตกลงในสัญญาบริการไม่มีข้อตกลงให้จำเลยให้จำเลยมีสิทธิหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ได้แต่อย่างใด ตามสัญญาบริการเอกสารหมายเลข 1 ท้ายฟ้อง ข้อ 4.1 และ 4.2 ได้ตกลงกันไว้ว่า เงินค่าจ้างที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์เดือนละ 250,000 บาท นั้น ไม่มีการหักภาษีใด ๆ ทั้งสิ้น หากมีภาษีที่โจทก์จะต้องจ่ายจำเลยจะเป็นผู้จ่ายแทนทั้งหมด จำเลยจึงต้องจ่ายเงินให้โจทก์เต็มจำนวนในสัญญาประนีประนอมยอมความ
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า จำเลยผู้จ่ายเงินมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรจึงให้ยกคำร้องของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำนวนเงิน 750,000 บาท ที่จำเลยตกลงชำระให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เป็นการตกลงที่จะชำระเต็มจำนวนตามสัญญาที่ทำไว้ต่อศาล และตามสัญญาบริการระหว่างโจทก์จำเลยที่ใช้บังคับในระหว่างที่โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยที่ใช้เป็นฐานแห่งการชำระเงินในคดีนี้ระบุไว้โดยชัดแจ้งในข้อ 4.2 ว่าภาษีเงินได้และภาษีอื่นที่โจทก์พึงจ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับค่าตอบแทนจำเลยจะเป็นผู้แทนในนามของโจทก์ทั้งสิ้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักภาษี ณ ที่จ่ายนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์จำเลยตกลงเลิกสัญญาบริการกันแล้วจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นลูกจ้างและนายจ้างกันต่อไปจำเลยไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ ดังนั้น เงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความจึงมิใช่ค่าจ้าง เมื่อโจทก์จำเลยตกลงเลิกสัญญากันแล้วจำเลยไม่มีหน้าที่จะต้องชำระภาษีเงินได้แทนโจทก์ต่อไป และเงินที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนี้เป็นเงินได้อันเนื่องมาจากสัญญาจ้างแรงงานและเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากรจำเลยผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50ประกอบมาตรา 3 จตุทศ แห่งประมวลรัษฎากร แล้วนำส่งเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากร หากโจทก์เห็นว่าโจทก์เสียภาษีน้อยกว่าที่จำเลยหักไว้ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องดำเนินการแก่กรมสรรพากรว่าด้วยการคืนภาษีเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน