คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1292/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เงินค่าเลี้ยงรับรองและค่าน้ำมันรถจำเลยจ่ายแก่โจทก์แน่นอนทุกเดือนจึงเป็นเงินตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานในตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์จึงเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 100,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน30,000 บาท ค่าชดเชยจำนวน 60,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้มาทำงาน จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 100,000 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าค่าเลี้ยงรับรองและค่าน้ำมันรถยนต์เป็นค่าจ้างหรือไม่และจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างในเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2538 ในส่วนที่เป็นค่าเลี้ยงรับรองและค่าน้ำมันรถหรือไม่ ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ได้กำหนดไว้ในข้อ 2 ว่า “ค่าจ้าง”หมายความว่า เงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้และหมายความรวมถึงเงินหรือเงินและสิ่งของที่จ่ายให้ในวันหยุดซึ่งลุกจ้างไม่ได้ทำงานและในวันลาด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณ หรือจ่ายเป็นการตอบแทนในวิธีอย่างไรและไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร ดังนี้เห็นได้ว่าเงินหรือเงินและสิ่งของใดที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานเวลาปกติของวันทำงาน รวมทั้งวันหยุดวันลา หรือจ่ายให้ตามผลงาน ไม่ว่าค่าตอบแทนนั้นจะเรียกชื่อ หรือกำหนด คำนวณอย่างไรก็ล้วนเป็นค่าจ้างทั้งสิ้น เมื่อข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า นอกจากโจทก์ได้รับเงินเดือนเดือนละ 40,000 บาท แล้ว โจทก์ยังได้รับค่าเลี้ยงรับรองและค่าน้ำมันรถอีกเดือนละ 20,000 บาท โดยแบ่งจ่ายทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน งวดละ 10,000 บาท ศาลฎีกาเห็นว่า เงินดังกล่าวถึงจะเรียกว่า ค่าเลี้ยงรับรองและค่าน้ำมันรถ แต่จำเลยจ่ายแก่โจทก์แน่นอนทุกเดือน จึงเป็นเงินตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานในตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ เป็นค่าจ้างตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวข้างต้น จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างในส่วนค่าเลี้ยงรับรองและค่าน้ำมันรถในเดือนเมษายน 2538 และพฤษภาคม 2538 อีกเดือนละ 20,000 บาท รวมเป็น 40,000 บาท อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยต่อไปว่า จำเลยจะต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างเดือนมิถุนายน 2538 หรือไม่ ปัญหาข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2538 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2538และจำเลยได้แสดงเจตนาเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน2538 ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575บัญญัติว่า อันว่าสัญญาจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนคือลูกจ้างต้องทำงานให้แก่นายจ้าง และนายจ้างจะจ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ ในระหว่างวันที่1 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2538 โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปโดยไม่ได้ทำงานให้แก่นายจ้างเช่นนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในระหว่างเวลานั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง60,000 บาท แก่โจทก์ในเดือนมิถุนายน 2538 จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินค่าจ้างสำหรับเดือนมิถุนายน 2538 จำนวน 60,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share