แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ.2528มาตรา17ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา180ให้อำนาจคู่ความที่จะร้องขอแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การที่เสนอต่อศาลได้และการที่ศาลภาษีอากรกลางอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องเพราะโจทก์สับสนแนบหนังสือมอบอำนาจผิดฉบับเป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมถูกต้องตามบทกฎหมายแล้วไม่มีบทกฎหมายใดห้ามศาลอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องภายหลังจำเลยยื่นคำให้การตัดคำฟ้องเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามข้อ(3)(ค)ของกฎกระทรวงฉบับที่159(พ.ศ.2526)ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้มิได้กำหนดกฎเกณฑ์ไว้เป็นการตายตัวว่าก่อนโจทก์จำหน่ายหนี้สูญโจทก์จะต้องขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือทำการตรวจสอบงบดุลของลูกหนี้เสียก่อนการที่โจทก์ให้ทนายความติดตามหาทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อยึดบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้วไม่ปรากฎว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินให้ยึดบังคับชำระหนี้ได้ถือได้ว่าโจทก์ได้ปฎิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีกาและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่159(พ.ศ.2526)ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้มิได้กำหนดกฎเกณฑ์ไว้เป็นการตายตัวว่าก่อนโจทก์จำหน่ายหนี้สูญโจทก์จะต้องขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือทำการตรวจสอบงบดุลของลูกหนี้เสียก่อนการที่โจทก์ให้ทนายความติดตามหาทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อยึดบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้วไม่ปรากฎว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินให้ยึดบังคับชำระหนี้ได้ถือได้ว่าโจทก์ได้ปฎิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่159(พ.ศ.2526)ก่อนจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้แล้วดังนั้นการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทจึงชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา65ทวิ(9)แห่งประมวลรัษฎากร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.6/1035/2/100099 และที่ ต.6/1035/2/100101และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่531 ข/2538/1 ที่วินิจฉัยให้โจทก์นำเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 2,054,131.93บาท ไปชำระด้วย
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องนั้นชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.6/1035/2/100099/ และที่ต.6/1035/2/100101 ลงวันที่ 29 เมษายน 2537 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 531 ก/2538/1 และ 531 ข/2538/1 ฉบับลงวันที่ 31สิงหาคม 2538
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาจำเลยเรื่องอำนาจฟ้องที่จำเลยฎีกาว่า ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 บรรทัดที่ 9 ระบุให้นางอุบลรัตน์ นครชัยเป็นผู้มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ เพื่อให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีการค้าเดือนสิงหาคม 2527 ของกรมสรรพากรที่ ต.6/1035/4/102732 ลงวันที่ 29 เมษายน 2537 และเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 532/2538/1ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2538 แต่คำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์ระบุขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการประเมินเพื่อเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต.6/1035/2/100099 และที่ ต.6/1035/2/100101 ลงวันที่ 29เมษายน 2537 นางอุบลรัตน์ นครชัย จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้แม้ต่อมาโจทก์จะได้ขอแก้ไขเพิ่มเติมอ้างว่าสับสนก็เป็นเวลาหลังจากที่จำเลยได้ให้การตัดฟ้องโจทก์แล้ว การฟ้องคดีของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ให้อำนาจคู่ความที่จะร้องขอแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การที่เสนอต่อศาลได้ และการที่ศาลภาษีอากรกลางอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง เพราะโจทก์สับสนแนบหนังสือมอบอำนาจผิดฉบับเป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมถูกต้องตามบทกฎหมายแล้วไม่มีบทกฎหมายใดห้ามศาลอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องภายหลังจำเลยยื่นคำให้การตัดคำฟ้องเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ปัญหาต่อไปตามอุทธรณ์จำเลยมีว่า การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทนั้นโจทก์ได้ปฎิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่159 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่รอบระยะเวลาบัญชีพิพาทหรือไม่ ปัญหานี้ปรากฎตามข้อเท็จริงที่คู่ความแถลงรับกันแล้วในชั้นพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางว่าก่อนโจทก์จำหน่ายหนี้สูญตามฟ้อง โจทก์ได้ฟ้องลูกหนี้ให้ศาลพิพากษาบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ จนศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว โจทก์ได้ให้ทนายความติดตามสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อยึดบังคับชำระหนี้ แต่ไม่ปรากฎว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินใดที่จะยึดยังคับชำระหนี้ได้ โจทก์จึงจำหน่ายหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้สูญ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การกระทำของโจทก์ดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะจำหน่ายหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้สูญได้ตามกฎกระทรวงดังกล่าว เพราะโจทก์ยังมิได้ขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือทำการตรวจสอบงบดุลของลูกหนี้ว่ายังมีทรัพย์สินใดพอจะยึดบังคับชำระหนี้ได้นั้นเห็นว่า ตามข้อ 1 (3) (ค) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 159 (พ.ศ. 2526)ดังกล่าวมิได้กำหนดกฎเกณฑ์ไว้เป็นการตายตัวว่าก่อนโจทก์จำหน่ายหนี้สูญ โจทก์จะต้องขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือทำการตรวจสอบงบดุลของลูกหนี้เสียก่อน การที่โจทก์ให้ทนายความติดตามหาทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อยึดบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้วไม่ปรากฎว่าลูกนี้มีทรัพย์สินให้ยึดบังคับชำระหนี้ได้ ถือได้ว่าโจทก์ได้ปฎิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 159(พ.ศ. 2526) ก่อนจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้แล้ว ดังนั้นการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทจึงชอบด้วยบทบัญญัติ มาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร
พิพากษายืน