แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา290ซึ่งถือว่าเป็นคำฟ้องของโจทก์ร่วมด้วยโดยไม่ได้บรรยายมาในคำฟ้องเลยว่าผู้ตายได้รับอันตรายสาหัสและทางพิจารณาก็ไม่ได้ความดังกล่าวดังนั้นที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา297จึงเป็นการฎีกาในข้อหาที่โจทก์ไม่ได้กล่าวมาในฟ้องทั้งเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้ลงโทษศาลจะลงโทษจำเลยทั้งห้าในข้อหาดังกล่าวไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192วรรคสี่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่1และที่2ตามมาตรา297เป็นการเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้องโจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2536 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยทั้งห้ามิได้มีเจตนาฆ่า แต่ได้ร่วมกันชกต่อยเตะและถีบทำร้ายร่างกายนายอัคเรศ มังกะลัง หลายครั้ง เป็นเหตุให้นายอัคเรศ ถึงแก่ความตาย บาดแผลปรากฎตามรายงานความเห็นการชันสูตรพลิกศพของแพทย์ท้ายฟ้อง เหตุเกิดที่แขวงบางยี่เรือเขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290, 83
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางเสงี่ยม มังกะลัง> มารดาผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ประกอบด้วยมาตรา 83 วางโทษจำคุกคนละ3 ปี ข้อหาอื่นให้ยก และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5โจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 และ 83 ให้จำคุกคนละ 6 เดือนนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งห้าฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง นายอัคเรศ มังกะลัง ผู้ตายมีเรื่องทะเลาะวิวาทชกต่อยกับชายหลายคน และถูกทำร้ายร่างกายจนได้รับอันตรายแก่กาย ต่อมาผู้ตายถึงแก่ความตายขณะรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลหลังเกิดเหตุประมาณ 2 เดือน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าว่า จำเลยทั้งห้าได้ร่่วมกันทำร้ายผู้ตายหรือไม่ จำเลยทั้งห้าฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุผู้ตายเมาสุรา แล้วเข้าไปชกต่อยจำเลยที่ 1 และที่ 5 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เข้าไปห้ามก็ถูกผู้ตายชกต่อยด้วย จำเลยทั้งห้าไม่ได้ทำร้ายผู้ตาย บาดแผลที่ผู้ตายได้รับนั้นเกิดจากผู้ตายเซไปชนกำแพงและกระถางต้นไม้ ไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งห้านั้น โจทก์และโจทก์ร่วมมีนายสมบูรณ์อิศมาแอล และนางสาวฟูรอ ม้งกะลัง เบิกความประกอบกันได้ความว่า ขณะนายสมบูรณ์ยืนคุยอยู่กับนายบุญนำที่หน้าบ้านของนายบุญนำมีชาย 2 คน ขับรถจักรยานยนต์เข้ามาในซอยคนหนึ่งเป็นคนขับ อีกคนหนึ่งนั่งซ้อนท้ายผ่านนายสมบูรณ์ได้ในซอย จากนั้นมีเสียงเอะอะหันไปดูเห็นผู้ตายกับชายที่มากับรถจักรยานยนต์กำลังชกต่อยกัน แล้วมีชายอีก 3 คนมาจากไหนไม่ทันสังเกตเข้าช่วยชาย2 คนแรกชกต่อยผู้ตาย นายสมบูรณ์กับนายบุญนำเข้าไปห้ามแต่ไม่เป็นผล จึงไปบอกนางสาวฟูรอพี่ผู้ตาย นางสาวฟูรอทราบเรื่องได้ออกไปยังที่เกิดเหตุ พบผู้ตายนอนอยู่ส่วนจำเลยทั้งห้าอยู่ห่างจากผู้ตายประมาณ 10 เมตร จำเลยที่ 2 เข้าไปจับศีรษะผู้ตายโขกกับพื้นและจำเลยที่ 1 เข้าไปเตะขาผู้ตาย จากนั้น ผู้ตายกับจำเลยทั้งห้าก็ชุลมุนต่อสู้กัน นางสาวฟูรอเข้าไปขอร้องพวกจำเลยทั้งห้าไม่ให้ทำร้ายผู้ตาย แต่จำเลยทั้งห้าไม่ยอม พอดีมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาถึงพวกจำเลยทั้งห้าจึงพากันหลบหนี เห็นว่า พยานทั้งสองต่างไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งห้ามาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำให้ร้ายแก่จำเลยทั้งห้า เชื่อว่าพยานทั้งสองได้รู้เห็นเหตุการณ์จริงดังที่เบิกความ ที่จำเลยทั้งห้านำสืบต่อสู้ว่าผู้ตายเป็นฝ่ายชกต่อยจำเลยที่ 1 และที่ 5 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 5ไม่ได้โต้ตอบ จำเลยที่ 2 และที่ 4 เพียงแต่เข้าไปห้าม และจำเลยที่ 3เพียงแต่ไปดูเหตุการณ์ผู้ตายเซไปชนกำแพงและล้มทับกระถางต้นไม้เพราะความเมา ไม่่มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ พยานหลักฐานของโจทก์ร่วมฟังได้ว่าจำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันชกต่อยเตะทำร้ายผู้ตายจริงดังที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมา
ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 ซึ่งถือว่าเป็นคำฟ้องของโจทก์ร่วมด้วย โดยไม่ได้บรรยายมาในคำฟ้องเลยว่าผู้ตายได้รับอันตรายสาหัส และทางพิจารณาก็ไม่ได้ความดังกล่าวดังนั้น ที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 จึงเป็นการฎีกาในข้อหาที่โจทก์ไม่ได้กล่าวมาในฟ้องทั้งเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้ลงโทษศาลจะลงโทษจำเลยทั้งห้าในข้อหาดังกล่าวไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297เป็นการเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้อง การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 เพียงแต่ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบด้วยมาตรา 192วรรคท้าย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่ามีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลยทั้งห้าหรือไม่ เห็นว่า ไม่ปรากฎว่าจำเลยทั้งห้าได้รับโทษจำคุกมาก่อนไม่ปรากฎความประพฤติในทางเสื่อมเสีย ประกอบอาชีพโดยสุจริตโดยเฉพาะจำเลยที่ 1 ขณะเหตุเกิดเป็นนักศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยครูสมเด็จเจ้าพระยา เหตุที่เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ตายซึ่งเมาสุราแล้วชอบอาละวาดไปหาเรื่องจำเลยทั้งห้า บาดแผลที่เกิดขึ้นตามที่นางสาวฟูรอเบิกความขณะเกิดเหตุก็มีเพียงตาข้างซ้ายปิดและมีบาดแผลเหนือคิ้วเท่านั้น จำเลยทั้งห้าเพียงแต่เตะต่อยผู้ตายเท่านั้นซึ่งพฤติการณ์ก็ไม่ร้ายแรง แม้ว่่าจำเลยที่ 2 จะจับศีรษะผู้ตายโขกกับพื้น ก็ไม่ปรากฎว่ารุนแรงเพียงใดและมีบาดแผลร้ายแรงเกิดขึ้นตามที่นางสาวฟูรอเบิกความ อีกทั้งหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 3 จะนำตัวผู้ตายส่งโรงพยาบาลด้วยแต่ผู้ตายไม่ยอมไป แสดงว่าจำเลยทั้งห้าไม่ได้มีเจตนาคิดร้ายต่อผู้ตาย เพียงแต่ผู้ตายไปอาละวาดทำให้จำเลยทั้งห้าโกรธขึ้นมาเท่านั้น และเพียงแต่เตะกับต่อยผู้ตาย พฤติการณ์แห่งคดีจึงมีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำเลยทั้งห้าไว้แต่เพื่อให้จำเลยทั้งห้ากลับตัวและประพฤติตนเป็นพลเมืองดี จึงเห็นสมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่ง กับคุมความประพฤติจำเลยทั้งห้าไว้ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่่า ให้ปรับจำเลยทั้งห้าคนละ 2,000 บาทอีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยทั้งห้าไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน ภายในกำหนดระยะเวลาที่รอการลงโทษ ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2930 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์