คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่รถยนต์พิพาทถูกเจ้านักงานตำรวจยึดเอาไปก็เพราะมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นรถยนต์ผิดกฎหมายโดยมีการแก้ไขเลขประจำตัวถังรถซึ่งมิใช่การกระทำหรือเป็นความผิดของโจทก์ที่เป็นเพียงผู้เช่าซื้อโจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชอบในการที่รถยนต์พิพาทถูกยึดไปการแสดงหลักฐานและประวัติของรถยนต์พิพาทว่ามิใช่รถยนต์ผิดกฎหมายย่อมเป็นหน้าที่ของเจ้าของกรรมสิทธิ์คือจำเลยที่2ผู้ให้เช่าซื้อเพราะโจทก์ผู้เช่าซื้อมิใช่ผู้ที่ทราบหรือครอบครองหลักฐานต่างๆอันเกี่ยวกับรถยนต์พิพาททั้งโจทก์ก็ได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยแจ้งให้จำเลยที่2ผู้ให้เช่าซื้อทราบถึงการที่รถยนต์ถูกยึดภายใน7วันนับจากวันถูกยึดแล้วถือได้ว่าโจทก์ได้ทำหน้าที่ผู้เช่าซื้อครบถ้วนตามสัญญาแล้วจำเลยที่2จึงต้องรับผิดต่อโจทก์จำเลยที่2จะมาโต้เถียงแสดงหลักฐานว่ารถยนต์พิพาทมิใช่รถยนต์ผิดกฎหมายแม้จะฟังได้เช่นนั้นก็หาทำให้ความรับผิดของจำเลยที่2ต่อโจทก์เปลี่ยนแปลงไปไม่เพราะความเสียหายของโจทก์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์ที่เช่าซื้อตามสัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ตกลงเช่าซื้อรถยนต์ หมายเลขทะเบียน1ฉ-6432 กรุงเทพมหานคร จากจำเลยทั้งสอง ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ได้ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยสงสัยว่าจะเป็นรถยนต์ที่ผิดกฎหมายขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 378,143 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี จากยอดเงิน 253,780 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 2 โจทก์จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การว่า การที่รถยนต์พิพาทถูกยึดมิใช่ความผิดของจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 134,707 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1
จำเลย ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 2 ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.2 โจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 2 รวม 11 งวด เป็นเงิน 153,780 บาท และรถยนต์พิพาทถูกเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราชยึดไปอ้างว่าเป็นรถยนต์นำเข้าผิดกฎหมาย เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2532ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2532 โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบว่ารถยนต์พิพาทถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดไปเพื่อตรวจสอบเพราะสงสัยว่าเป็นรถยนต์ที่นำเข้ามาโดยผิดกฎหมาย ขอให้จำเลยที่ 2 นำเอกสารเกี่ยวกับรถยนต์พิพาทไปแสดงความถูกต้องของรถยนต์ต่อเจ้าพนักงานโดยด่วน ต่อมาวันที่ 16 พฤษภาคม 2532 โจทก์มีหนังสือแจ้งของดส่งเงินค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดวันที่ 15 พฤษภาคม 2532 และในวันที่ 23 มิถุนายน 2532 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 ตามลำดับ
มีปัญหาว่า การที่รถยนต์พิพาทถูกยึดจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดหรือไม่ ได้ความจากนายประสาท กาญจนวรานนท์ พยานจำเลยที่ 2ซึ่งรับราชการอยู่ที่สำนักงานทะเบียนรถยนต์ กรมการขนส่งทางบกว่า รถยนต์พิพาทเป็นรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศมีการโอนเปลี่ยนมือกันมาแล้ว 3 เจ้าของก่อนที่จะโอนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.19 หากปรากฏว่ารถยนต์ที่ทางกรมศุลกากรประมูลขายบริเวณหมายเลขตัวถังมีการปะและพ่นสีทับ ถ้าผู้นำมาจดทะเบียนมีเอกสารเกี่ยวกับใบเสร็จรับเงินที่ทางกรมศุลกากรออกให้ ประกอบกับหนังสือของกรมศุลกากรระบุว่าผู้ใดเป็นผู้ประมูลได้นำมาประกอบการจดทะเบียนแล้วทางกองทะเบียนกรมตำรวจสมัยนั้นก็จะรับจดทะเบียนให้ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกเข้มงวดกวดขันในการตรวจสภาพและจดทะเบียนรถยนต์ทุกชนิด บริเวณที่จะตรวจสอบเป็นพิเศษคือบริเวณที่เป็นเลขเครื่องและเลขตัวรถ หากสงสัยว่าบริเวณเลขตัวรถมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขตัวเลขก็จะขูดสีดูถ้าสภาพปรากฏตามภาพถ่ายจำลองวัตถุพยานหมาย จ.6 ก็จะไม่รับจดทะเบียนให้เพราะไม่เรียบร้อยเห็นได้ว่าเมื่อรถยนต์พิพาทถูกส่งไปตรวจสอบที่แผนกพิสูจน์หลักฐานกองบังคับการตำรวจภูธร 11 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2532 ปรากฏว่าตรวจพบการแก้ไขที่บริเวณเลขหมายประจำตัวถังของรถยนต์ มีรอยเชื่อมโลหะรอบแผ่นกั้นห้องเครื่องซึ่งมีเลขหมายปรากฏ เชื่อว่าได้มีการตัดเอาแผ่นโลหะซึ่งมีเลขหมายแท้จริงออกไปและนำเอาแผ่นโลหะซึ่งมีหมายเลขที่ปรากฏเชื่อมติดแทนไว้ ตามภาพถ่ายประกอบรายการตรวจพิสูจน์หมาย จ.6 ดังรายละเอียดรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย ล.18ดังนั้น ตามสภาพรถยนต์พิพาทดังกล่าวน่าเชื่อว่า กรมการขนส่งทางบกจะไม่รับจดทะเบียนให้ แต่ที่จดทะเบียนได้ในครั้งแรกนั้นเพราะมีเอกสารจากกรมศุลกากรถูกต้อง กองทะเบียน กรมตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่จดทะเบียนรถยนต์ในขณะนั้นจึงได้จดทะเบียนให้การที่เจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดรถยนต์พิพาทเพราะสงสัยว่าจะเป็นรถยนต์ผิดกฎหมายจึงมีสาเหตุมาจากสภาพรถยนต์พิพาทที่ถูแก้ไขเลขประจำตัวถังรถเมื่อไม่ปรากฏว่าเกิดจากการกระทำของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชอบในการที่รถยนต์พิพาทถูกยึดไปดังกล่าว ทั้งได้ความจากนายวิชัย ธนะรัชติกานนท์ พยานจำเลยที่ 2 เองว่าในขณะที่พยานเบิกความคือปี 2536 รถยนต์พิพาทยังถูกยึดอยู่ที่สถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช แสดงว่าจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ให้เช่าซื้อมิได้กระทำการใด ๆ อันจักให้เจ้าพนักงานตำรวจเชื่อว่ารถยนต์พิพาทเป็นรถยนต์ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายและปล่อยรถยนต์พิพาท ทำให้โจทก์ผู้เช่าซื้อรถยนต์พิพาทไม่สามารถใช้หรือรับประโยชน์จากรถยนต์คันนั้นตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญาได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์จำเลยที่ 2 จะมาโต้เถียงแสดงหลักฐานในชั้นนี้ว่า รถยนต์พิพาทมิใช่รถยนต์ผิดกฎหมาย แม้จะฟังได้เช่นนั้นก็หาทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์เปลี่ยนแปลงไปไม่ เพราะความเสียหายของโจทก์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์ที่เช่าซื้อตามสัญญาได้เกิดขึ้นแล้วที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 12 การติดตามเอารถยนต์พิพาทคืนจากเจ้าพนักงานตำรวจเป็นหน้าที่ของโจทก์มิใช่จำเลยที่ 2 นั้น สัญญาข้อ 12 ระบุว่า “ไม่ว่าโดยเหตุใดก็ตามถ้ารถยนต์เช่าซื้อถูกจับถูกยึดหรือถูกใช้สิทธิยึดหน่วง ผู้เช่าซื้อต้องรีบแจ้งให้บริษัท (จำเลยที่ 2) ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน7 วัน นับแต่วันถูกจับ ถูกยึดหรือถูกใช้สิทธิยึดหน่วง และผู้เช่าซื้อต้องจัดการประการหนึ่งประการใด หรือจัดการชำระหนี้อันเป็นมูลให้ถูกยึดหน่วงแล้วแต่กรณีเพื่อให้ได้รถยนต์เช่าซื้อคืนมาโดยเร็ว มิฉะนั้นบริษัทจะถือว่าผู้เช่าซื้อ (โจทก์) ปฏิบัติผิดสัญญานี้” เห็นว่า การที่รถยนต์พิพาทถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดเอาไปก็เพราะเป็นเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นรถยนต์ผิดกฎหมายโดยมีการแก้ไขเลขประจำตัวถังรถดังกล่าวมาแล้วข้างต้นซึ่งมิใช่การกระทำหรือเป็นความผิดของโจทก์ที่เป็นเพียงผู้เช่าซื้อการแสดงหลักฐานและประวัติของรถยนต์พิพาทว่ามิใช่รถยนต์ผิดกฎหมายย่อมเป็นหน้าที่ของเจ้าของกรรมสิทธิ์คือจำเลยที่ 2 ผู้ให้เช่าดังเช่นที่จำเลยที่ 2 ก็ได้นำมาสืบแสดงต่อศาลในคดีนี้แล้ว ทั้งนี้เพราะโจทก์ผู้เช่าซื้อมิใช่ผู้ที่ทราบหรือครอบครองหลักฐานต่าง ๆอันเกี่ยวกับรถยนต์พิพาท ทั้งโจทก์ก็ได้ปฏิบัติตามสัญญาข้อ 12โดยแจ้งให้จำเลยที่ 2 ผู้ให้เช่าซื้อทราบถึงการที่รถยนต์ถูกยึดภายใน7 วัน นับจากวันถูกยึดแล้วตามเอกสารหมาย จ.7 ถือได้ว่าโจทก์ได้ทำหน้าที่ผู้เช่าซื้อครบถ้วนตามสัญญาแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้ เป็น ว่า ให้ จำเลย ที่ 2 ชำระ เงิน 134,707 บาทพร้อม ด้วย ดอกเบี้ย ใน อัตรา ร้อยละ 7.5 ต่อ ปี นับแต่ วันที่ 3 กรกฎาคม2532 จนกว่า จะ ชำระ เสร็จ แก่ โจทก์ นอกจาก ที่ แก้ ให้ เป็น ไป ตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์

Share