แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสองปลูกสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแบบแปลนจำเลยที่2โดยผู้อำนายการเขตจึงมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองระงับการก่อสร้างและให้โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขแบบแปลนภายในเวลาที่กำหนดแต่โจทก์ทั้งสองไม่ปฏิบัติตามทั้งมิได้อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาจำเลยที่2จึงฟ้องโจทก์ทั้งสองให้รื้อถอนอาคารที่ปลูกสร้างผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่22886/2532ให้โจทก์ทั้งสองดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารพิพาทให้ถูกต้องตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตหากโจทก์ทั้งสองไม่แก้ไขโจทก์ทั้งสองต้องรื้อถอนอาคารพิพาทส่วนที่ก่อสร้างผิดจากแบบแปลนออกเสียโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวในขณะที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีดังกล่าวโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขแบบแปลนแต่ผู้อำนวยการเขตไม่อนุญาตโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขแบบแปลนเช่นเดียวกันโจทก์ทั้งสองจึงมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ดังนั้นประเด็นในคดีนี้มีว่าคำสั่งของผู้อำนายการเขตและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับคำขออนุญาตแก้ไขแบบแปลนอาคารพิพาทของโจทก์ทั้งสองนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ซึ่งก็จะต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าอาคารพิพาทก่อสร้างผิดจากแบบที่จำเลยสามารถอนุญาตให้แก้ไขให้ถูกต้องได้หรือไม่หรือจะต้องรื้อถอนปรากฎว่าในคดีแพ่งดังกล่าวศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าที่โจทก์ทั้งสองก่อสร้างอาคารพิพาทผิดจากแบบเป็นการก่อสร้างผิดจากแบบที่จำเลยสามารถอนุญาตให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้หรือไม่หรือจะต้องรื้อถอนทั้งหมดดังนี้ประเด็นในคดีนี้ดังกล่าวจึงรวมอยู่ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่22886/2532ดังกล่าวนั้นด้วยเมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในคดีแรกไปแล้วจึงต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา144
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2373 แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายกรุงเทพมหานคร และอาคารตึกแถว 4 ชั้น จำนวน 1 คูหา เลขที่ 223ถนนวรจักร แขวงวันเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานครซึ่งใช้เป็นอาคารพาณิชย์อยู่อาศัย เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2531โจทก์ทั้งสองยื่นคำขออนุญาตแก้ไขแบบแปลนอาคารตึกแถวของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวต่อผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ซึ่งปฏิบัติราชการแทนจำเลยทั้งสอง ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยแก้ไขแบบแปลนจากประเภทอาคารพาณิชย์เป็นอาคารตึกแถวพาณิชย์พักอาศัยและขอแก้ไขแบบแปลนภายในอาคารเกี่ยวกับเรื่องบันได ระยะช่วงเสาด้านหน้าและด้านหลัง ระยะทางเดินด้านหลัง และพื้นที่ชั้นลอย เนื่องจากพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 43 เปิดช่องให้เมื่อสร้างอาคารไม่ตรงกับแบบ โดยไม่ผิดกฎหมายตามข้อบัญญัติที่กำหนดไว้ให้มีสิทธิยื่นขอแก้ไขแบบแปลนอาคารก่อสร้างเพื่อขอรับอนุญาตจากฝ่ายจำเลยให้ถูกต้องตามที่ก่อสร้างไปแล้วได้ โจทก์ทั้งสองจึงยื่นขอแก้ไขแบบแปลนต่อจำเลยทั้งสองเพื่อให้แบบแปลนขออนุญาตตรงกับที่ก่อสร้างไปแล้วตามความเป็นจริงโดยไม่ขัดต่อข้อบัญญัติของกฎหมายต่อมาวันที่ 14 เมษายน 2531 ผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายปฏิบัติราชการแทนจำเลยทั้งสองมีคำสั่งแจ้งไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองแก้ไขแบบแปลนดังกล่าว 5 รายการ ยอมให้แก้ไขได้ 4 รายการเกี่ยวกับบันได ระยะช่วงเสาด้านหน้าและด้านหลัง ระยะทางเดินด้านหลังคงเหลือเหตุที่เกี่ยวกับพื้นที่ชั้นลอยเหตุเดียว ที่ก่อสร้างมีพื้นที่เกินร้อยละ 40 ของพื้นที่อาคารชั้นล่าง และยกเหตุใหม่ขึ้นมาเพิ่มเติมอีกหนึ่งเหตุ อ้างว่าอาคารที่ใช้เป็นอาคารที่พักอาศัย จะต้องมีที่ว่าง 30 ใน 100 ส่วนของพื้นที่ทั้งหมดตามข้อบัญญัติข้อ 76(1) เป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2531ประกาศกระทรวงทั้งสองยื่นขอแก้ไขแบบแปลนอาคารตึกแถว 4 ชั้นเป็นครั้งที่ 2 ต่อผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ในฐานะปฏิบัติราชการแทนจำเลยทั้งสองในวันที่ 15 สิงหาคม 2531ผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายซึ่งปฏิบัติราชการแทนจำเลยทั้งสองมีคำสั่งแจ้งไม่อนุญาต เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2531 โจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 17มกราคม 2533 โจทก์ทั้งสองได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่381-69/2532 เรื่องที่ 469 ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยื่นตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น โจทก์ทั้งสองไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพราะอาคารพิพาทโจทก์ทั้งสองไม่ จำต้องมีที่ว่างอันปราศจากหลังคาและหรือสิ่งปกคลุม 30 ใน 100 ส่วนของพื้นที่ตามคำสั่งของจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่น และตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่ประการใด ส่วนเรื่องพื้นที่ชั้นลอยของอาคารชั้นล่างที่โจทก์ทั้งสองสร้างเกินร้อยละ 40 ของพื้นที่ห้อง โจทก์ทั้งสองได้ขอแก้ไขแบบเพื่อหักส่วนช่องว่างบันไดตรงพื้นชั้นลอยออกเป็นพื้นที่กว้าง 1 เมตรยาว 3.50 เมตร ก็จะทำให้พื้นที่ชั้นลอยของโจทก์ทั้งสองเหลือเกินไป2 ตารางเมตร เพียงเล็กน้อย ไม่ต้องรื้อมากอย่างที่จำเลยทั้งสองอ้างแต่คำสั่งของจำเลยทั้งสองและคำวินิจฉัยอุทธรณ์กลับไม่ยินยอมให้โจทก์ทั้งสองแก้ไขแบบไปตามความเป็นจริงโดยไม่ต้องรื้อพื้นชั้นลอยหรือรื้อบางส่วนแต่เพียงเล็กน้อย ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายซึ่งปฏิบัติราชการแทนจำเลยทั้งสอง ตามคำสั่งที่ กท.9007/ ย.5057 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่381-69/2532 เสียโดยให้โจทก์ทั้งสองแก้ไขแบบไม่ต้องมีที่ว่างหรือทางเดินด้านหลังได้ ส่วนพื้นที่ชั้นลอยก็ให้แก้ไขแบบไปตามที่ก่อสร้างไปแล้วได้ หรือรื้อบางส่วนหักช่องบันไดให้รื้อน้อยลง
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ที่ 1 ทำการดัดแปลงอาคารของผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ซึ่งปฏิบัติราชการแทนจำเลยที่ 2 เป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งคำสั่งดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดโดยโจทก์ทั้งสองยังอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อไปได้ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 52 คำสั่งดังกล่าวจึงยังอาจถูกเปลี่ยนแปลงโดยการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้อีก และเมื่อโจทก์ที่ 1 ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จนคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่น และแจ้งผลการพิจารณาให้โจทก์ที่ 1ทราบแล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์ทั้งสองก็ชอบที่จะฟ้องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อไป เนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 50 ไม่ใช่เจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งแต่งตั้งโดยอำนาจหน้าที่จำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าว และในเรื่องที่ว่างอันปราศจากหลังคาหรือสิ่งปกคลุม ปรากฎว่าเดิมโจทก์ที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ทำการก่อสร้างอาคารชนิดติด 4 ชั้น จำนวน 1 หลัง เพื่อใช้เป็นพาณิชย์ต่อมาวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2531 โจทก์ที่ 1 ได้ยื่นคำขออนุญาตดัดแปลงอาคารดังกล่าวเพื่อใช้เป็นพาณิชย์และพักอาศัย ต้องมีพื้นที่ว่างอันปราศจากหลังคาหรือสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่า 30 ใน 100 ส่วนของพื้นที่ แต่โจทก์ที่ 1 ได้ก่อสร้างอาคารดังกล่าวให้มีพื้นที่ว่างอันปราศจากหลังคาหรือสิ่งปกคลุมไม่ถึง 30 ใน 100 ส่วนของพื้นที่และแม้ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2531 โจทก์ที่ 1จะได้ยื่นขออนุญาตดัดแปลงอาคารดังกล่าวอีกเป็นครั้งที่ 2โดยขอเช่าที่ดินของวัดดิสานุการาม เป็นที่ว่างเพื่อให้มีพื้นที่ว่างอันปราศจากหลังคาหรือสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่า 30 ใน 100 ส่วนของพื้นที่ แต่ที่ว่างที่แสดงไว้ในแบบที่ขอแก้ไขไม่อาจถือเป็นที่ว่างสำหรับอาคารของโจทก์ทั้งสองได้ อาคารดังกล่าวจึงมีที่ว่างอันปราศจากหลังคาหรือสิ่งปกคลุมไม่ถึง 30 ใน 100 ส่วน ของพื้นที่ซึ่งเป็นการขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 76(2) และเนื่องจากตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 อาคารดังกล่าวไม่ใช่ตึกแถวจึงไม่อาจใช้ข้อบัญญัติดังกล่าว ข้อ 76(3),(4) และ (5) มาพิจารณาใช้บังคับได้ถึงอย่างไรก็ตาม โจทก์ที่ 1 ได้จัดให้มีการต่อเติมหลังคาอาคารดังกล่าวปกคลุมปิดทางเดินด้านหลังตลอดแนวขนาดกว้าง2.56 + 3.50 เมตร อาคารดังกล่าวจังไม่มีที่ว่างโดยปราศจากสิ่งปกคลุมเป็นทางเดินด้านหลังอาคารได้ถึงกันกว้างไม่น้อยกว่า2 เมตร อันเป็นการขัดต่อข้อบัญญัติดังกล่าว ข้อ 76 (5) มาใช้พิจารณาได้อีกด้วย และในเรื่องพื้นที่ชั้นลอย ปรากฎว่า โจทก์ที่ 1 ได้จัดให้มีการก่อสร้างอาคารให้ผิดไปจากที่ได้รับอนุญาตตามใบอนุญาตเลขที่ ป.33/2529 จำนวนหลายรายการรวมทั้งพื้นที่ชั้นลอยชั้นล่างซึ่งตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตต้องสร้างกว้างไม่เกิน 3.50 เมตรยาว 6.48 เมตร และต้องมีพื้นที่ไม่เกินร้อยละ 40 ของพื้นที่อาคารชั้นล่าง แต่โจทก์ที่ 1 สร้างให้มีความกว้างถึง 3.50 เมตรยาว 8 เมตร ซึ่งเป็นการสร้างเกินกว่าแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตและคิดเป็นพื้นที่ชั้นลอยเกินกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ชั้นล่างเป็นการขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2522 ข้อ 35 วรรคท้าย ซึ่งในเรื่องที่ได้มีการก่อสร้างอาคารให้ผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาตนี้ จำเลยที่ 2 เคยฟ้องโจทก์ทั้งสองต่อศาลชั้นต้น ให้รื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างผิดแบบดังกล่าวและในคดีดังกล่าวศาลพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองรื้อถอนอาคารในส่วนที่ก่อสร้างผิดแบบดังกล่าวแล้ว ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 22886/2532 ของศาลชั้นต้น ขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างจำเลยทั้งสอง(โจทก์ทั้งสองในคดีนี้) อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ปรากฎว่าในระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าวโจทก์ที่ 1 ได้ยื่นคำขออนุญาตดัดแปลงอาคารดังกล่าวจากเพื่อใช้เป็นพาณิชย์ เป็นพาณิชย์และพักอาศัยรวม 2 ครั้ง โดยโจทก์ทั้งสองยังไม่ได้ทำการแก้ไขอาคารในเรื่องพื้นที่ชั้นลอยที่ก่อสร้างผิดแบบและขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวให้ถูกต้องเสียก่อน การที่โจทก์ทั้งสองได้ทำการก่อสร้างอาคารให้ผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตและขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522ดังกล่าวแล้ว ทั้งยังไม่ได้ทำการแก้ไขให้ถูกต้อง จำเลยทั้งสองจังได้พิจารณาไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองทำการดัดแปลงอาคารดังกล่าว และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยยืนตามคำสั่งของจำเลยทั้งสองเป็นการชอบด้วยเหตุผลแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการแรกมีว่า คดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 22886/2532 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์ทั้งสองปลูกสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแบบแปลน จำเลยที่ 2 โดยผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายจึงมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองระงับการก่อสร้างและให้โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขแบบแปลนภายในเวลาที่กำหนด แต่โจทก์ทั้งสองไม่ปฏิบัติตามทั้งมิได้อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา จำเลยที่ 2 จึงฟ้องโจทก์ทั้งสองให้รื้อถอนอาคารที่ปลูกสร้างผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 22886/2532 ให้โจทก์ทั้งสองดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารพิพาทให้ถูกต้องตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตหากโจทก์ทั้งสองไม่แก้ไข โจทก์ทั้งสองต้องรื้อถอนอาคารพิพาทส่วนที่ก่อสร้างผิดจากแบบแปลนออกเสีย โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวในขณะที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีดังกล่าว โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขแบบแปลนแต่ผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายไม่อนุญาต โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขแบบแปลนเช่นเดียวกัน โจทก์ทั้งสองจึงมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าประเด็นในคดีนี้มีว่า คำสั่งของผู้อำนวยการเขตและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับคำขออนุญาตแก้ไขแบบแปลนอาคารพิพาทของโจทก์ทั้งสองนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ซึ่งก็จะต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าอาคารพิพาทก่อสร้างผิดจากแบบที่จำเลยสามารถอนุญาตให้แก้ไขให้ถูกต้องได้หรือไม่ หรือจะต้องรื้อถอนปรากฎว่าในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 22886/2532 ดังกล่าวจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งโจทก์ที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ทำการก่อสร้างอาคารพิพาท โจทก์ที่ 1 ได้จัดให้มีการก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาตโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ที่ 1 ระงับการก่อสร้างส่วนที่ผิดไปจากแบบและให้ดำเนินการแก้ไขอาคารส่วนที่ทำการก่อสร้างผิดแบบให้ถูกต้องภายใน 30 วัน แต่โจทก์ทั้งสองมิได้ระงับการก่อสร้างและแก้ไขให้ถูกต้อง ขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองรื้อถอนอาคารพิพาทส่วนที่ก่อสร้างผิดจากแบบและศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ที่โจทก์ทั้งสองก่อสร้างอาคารพิพาทผิดจากแบบเป็นการก่อสร้างผิดจากแบบที่จำเลยสามารถอนุญาตให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้หรือไม่ หรือจะต้องรื้อถอนทั้งหมด ดังนี้ประเด็นในคดีนี้ดังกล่าวจึงรวมอยู่ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 22886/2532 นั้นด้วย เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในคดีแรกไปแล้ว จึงต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวอีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144ดังนี้ ฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
พิพากษายืน