คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นองค์การของรัฐบาลจัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรพ.ศ.2517มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามมาตรา6(1)ถึง(8)ตามสัญญาซื้อปุ๋ยจำเลยที่1ต้องชำระเงินค่าปุ๋ยให้โจทก์ในวันทำสัญญาไม่น้อยกว่าร้อยละ5ส่วนที่เหลือชำระภายใน12เดือนโดยโจทก์คิดราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ0.65ต่อเดือนของราคาปุ๋ยที่ค้างชำระเท่านั้นซึ่งเป็นอัตราต่ำโจทก์จึงไม่ใช่พ่อค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา165(1)เดิมซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะฟ้องเพราะไม่ได้ซื้อสินค้ามาแล้วขายไปเป็นปกติธุระเพื่อหากำไรจึงนำอายุความ2ปีมาบังคับใช้แก่โจทก์ไม่ได้ต้องใช้อายุความ10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา164เดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีประธานกรรมการรองประธานกรรมการเลขานุการ เหรัญญิก และกรรมการอีก 1 คน ทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการ จำเลยที่ 3 เป็นรองประธานกรรมการ จำเลยที่ 4 เป็นเลขานุการ จำเลยที่ 5 เป็นเหรัญญิกจำเลยที่ 6 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม2523 จำเลยที่ 1 แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 ทำการแทนในการซื้อปุ๋ยไปจากโจทก์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2523 จำเลยที่ 2 ในฐานะทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำสัญญาซื้อปุ๋ย จำนวน 195,800 กิโลกรัมรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 920,260 บาท ไปจากโจทก์ มีจำเลยที่ 2 ถึงที่19 เป็นผู้ค้ำประกัน โดยตกลงว่าจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าปุ๋ยในวันทำสัญญาไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของราคาปุ๋ยทั้งหมดส่วนที่เหลือจะส่งชำระให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 12 เดือน พร้อมทั้งราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.65 ต่อเดือน ของราคาปุ๋ยที่ค้างชำระจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์ 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 51,020 บาทแล้วไม่ชำระอีกเลย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบเก้าร่วมกันชำระเงินเงินให้โจทก์ 1,549,442.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 0.65ต่อเดือน ในต้นเงิน 943,113.28 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 11 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 13 ที่ 15 และที่ 16 ถึงแก่ความตายก่อนโจทก์ฟ้องคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี
จำเลยที่ 3 และที่ 12 ให้การว่าไม่ได้เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ที่ 6 ที่ 14 ที่ 18 และที่ 19 ให้การว่า โจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยและฟ้องเรียกเกิน 5 ปี เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 7 ที่ 8 ที่ 10 และที่ 17 ให้การว่า โจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยค้างชำระเกิน 5 ปี เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 9 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า ลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันเป็นลายมือชื่อปลอม โจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยเกิน 5 ปีและฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 11และที่ 12 ร่วมกันชำระเงิน 1,549,442.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ0.65 ต่อเดือน ในต้นเงิน 943,113.28 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ สำหรับจำเลยที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8ที่ 9 ที่ 10 ที่ 14 ที่ 17 ที่ 18 และที่ 19 ให้ยกฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 1 ชำระในอัตราร้อยละ 0.65 ต่อเดือน จากต้นเงิน874,240 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 ที่ 11 ที่ 12ที่ 14 ที่ 17 ที่ 18 และที่ 19 ร่วมรับผิดด้วยเป็นเงิน 874,240บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.65 ต่อเดือน นับจากวันฟ้องถอยหลังลงไป 5 ปี และดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันจากต้นเงิน874,240 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 5ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 ที่ 14 ที่ 17 ที่ 18 และที่ 19ร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 17 ฎีกาโดยจำเลยที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 17 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 17 ฎีกาข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นองค์การของรัฐบาล จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ. 2517 มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามมาตรา 6(1) ถึง (8) ตามสัญญาซื้อปุ๋ย เอกสารหมาย จ.10 จำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินค่าปุ๋ยให้โจทก์ในวันทำสัญญาไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ส่วนที่เหลือชำระภายใน 12 เดือน โดยโจทก์คิดราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.65 ต่อเดือน ของราคาปุ๋ยที่ค้างชำระเท่านั้นซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำ โจทก์จึงไม่ใช่พ่อค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) เดิม ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะฟ้อง เพราะไม่ได้ซื้อสินค้ามาแล้วขายไปเป็นปกติธุระเพื่อหากำไรจึงนำอายุความ 2 ปี ตามกฎหมายดังกล่าวมาบังคับใช้แก่โจทก์ไม่ได้ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยที่ 7 ที่ 8ที่ 9 ที่ 10 และที่ 17 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาตามฎีกาโจทก์ข้อแรกมีว่า การคิดดอกเบี้ยจากต้นเงิน943,113.28 บาท ตามฟ้อง เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยหรือไม่ตามสัญญาซื้อปุ๋ยเอกสารหมาย จ.10 ข้อ 2 ระบุว่า “ผู้ซื้อต้องส่งชำระเงินค่าปุ๋ยในวันทำสัญญาไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของราคาปุ๋ยที่ซื้อทั้งหมดเป็นเงิน 46,020 บาท (สี่หมื่นหกพันยี่สิบบาทถ้วน)ส่วนที่เหลือจะส่งชำระให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดสิบสองเดือน พร้อมทั้งราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.65 ต่อเดือน (เศษของเดือนถ้าเกิน 15 วัน คิดเป็นหนึ่งเดือน) ของราคาปุ๋ยที่ค้างชำระ”และข้อเท็จจริงฟังยุติตามฟ้องโจทก์โดยฝ่ายจำเลยมิได้โต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 ซื้อปุ๋ยจากโจทก์เป็นเงิน 920,260 บาท ชำระค่าปุ๋ยในวันทำสัญญาแล้ว 46,020 บาท คงค้างชำระ 874,240 บาท โจทก์ได้คิดราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.65 ต่อเดือน ของราคาปุ๋ยที่ค้างชำระนับแต่เดือนกันยายน 2523 ถึงเดือนกันยายน 2524เป็นเงิน 73,873.28 บาท รวมเป็นราคาปุ๋ยค้างชำระ ณ เดือนกันยายน2524 เป็นเงิน 948,113.28 บาท ในเดือนกันยายน 2524 จำเลยที่ 1ได้ผ่อนชำระค่าปุ๋ยอีก 5,000 บาท จึงคงเหลือค่าปุ๋ยค้างชำระ943,113.28 บาท แม้ยอดค้างชำระดังกล่าวจะมีราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.65 ต่อเดือน รวมอยู่ด้วย ก็มิใช่ดอกเบี้ยฉะนั้นโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากยอดเงินค่าปุ๋ยค้างชำระ943,113.28 บาท กรณีมิใช่เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาตามฎีกาโจทก์ข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยย้อนหลังเพียงใด เห็นว่า ดอกเบี้ยเนื่องจากความผิดนัดในกรณีนี้มิใช่ดอกเบี้ยค้างส่งซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 เดิม แต่เป็นดอกเบี้ยที่กำหนดแทนค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรกที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเนื่องจากการผิดนัดย้อนหลังเพียง 5 ปี จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 14 ที่ 17ที่ 18 และที่ 19 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 943,113.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.65 ต่อเดือน นับแต่เดือนตุลาคม 2524เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้อง(วันที่ 21 สิงหาคม 2533) ต้องไม่เกิน 606,328.97 บาท ตามที่ขอมา

Share