คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 167/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์มีผู้เสียหายซึ่งมีอายุเพียง8ปีเศษเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวแต่เมื่อเบิกความถึงเหตุการณ์ที่จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายเป็นขั้นเป็นตอนตามลำดับตรงไปตรงมาปราศจากการปรุงแต่งตามประสาเด็กที่ไร้เดียงสาทั้งเรื่องราวหลังเกิดเหตุยังสอดคล้องเชื่อมโยงกันดีกับพยานอื่นทำให้เชื่อได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำอนาจารแก่เด็กหญิง ผู้เสียหายอายุไม่เกิน 15 ปี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 279 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษ จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี2 กระทง รวมจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายมีอายุ 8 ปีเศษ จำเลยเป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียน ธีระวิทยาซึ่งผู้เสียหายเรียนอยู่ มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุครั้งแรก จำเลยใช้ให้ผู้เสียหายไปเอาปุ้งกี๋ที่ห้องเก็บของโดยจำเลยเดินตามไปด้วยแล้วจำเลยสั่งให้ผู้เสียหายนอนลงบนเก้าอี้ยาวพร้อมกับให้หลับตา จากนั้นจำเลยเอาอวัยวะเพศของจำเลยถูไถอวัยวะเพศของผู้เสียหาย 2 ถึง 3 ครั้ง เสร็จแล้วสั่งให้ผู้เสียหายลุกขึ้นแล้วนำปุ้งกี๋ออกจากห้องไป ส่วนในวันเกิดเหตุครั้งหลังจำเลยเรียกให้ผู้เสียหายเข้าไปในห้องเก็บของอีก แล้วให้ผู้เสียหายนั่งบนเก้าอี้พร้อมกับหลับตาและอ้าปาก ต่อมาจำเลยเอาอวัยวะเพศของจำเลยใส่เข้าไปในปากของผู้เสียหาย สักครู่หนึ่งจำเลยก็เอาออกแล้วทั้งคู่แยกย้ายกันกลับ จ่าสิบตำรวจสุกิจพยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า หลังเกิดเหตุครั้งที่สอง 2 วัน ผู้เสียหายเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้พยานฟัง พยานพาผู้เสียหายไปแจ้งต่อครูใหญ่โรงเรียนธีระวิทยาทราบ ครูใหญ่แนะนำให้พยานแจ้งความที่สถานีตำรวจ พยานจึงนำผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจเอกวัฒนชัย จันทิมางกูร พนักงานสอบสวนในวันนั้น ร้อยตำรวจเอกวัฒนชัยเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ผู้เสียหายอ้างว่าถูกจำเลยกระทำอนาจารจริง และเมื่อนำตัวจำเลยมาให้ผู้เสียหายดูผู้เสียหายก็ยืนยันว่าไม่ผิดตัว เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามปากเบิกความสอดคล้องเชื่อมโยงกันดี ไม่มีพิรุธ โดยเฉพาะผู้เสียหายซึ่งยังเป็นผู้เยาว์มีอายุเพียง 8 ปีเศษ เบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นขั้นเป็นตอนตามลำดับ ข้อเท็จจริงที่อ้างถึงเป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมา ปราศจากการปรุงแต่ง เป็นลักษณะตามประสาเด็กที่ไร้เดียงสาโดยแท้ ทำให้เชื่อได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงแม้โจทก์จะมีผู้เสียหายเบิกความเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวก็มีเหตุผลและน้ำหนักให้รับฟังได้เช่นนั้นที่จำเลยฎีกาว่าจ่าสิบตำรวจสุกิจและร้อยตำรวจเอกวัฒนชัยอยู่เบื้องหลังการสอบสวน คดีนี้และแต่งเรื่องให้ผู้เสียหายเบิกความนั้น จำเลยหาได้นำสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวอ้างไม่ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ทั้งไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ดังกล่าวเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่จะแกล้งเบิกความปรักปรำใส่ร้ายจำเลย ส่วนที่จำเลยอ้างว่า มีสาเหตุมาจากการที่จำเลยโมโหผู้เสียหายที่เดินไปเอาปุ้งกี๋ช้าจึงล๊อกคอผู้เสียหายอันเป็นเหตุให้ผู้เสียหายโกรธเคืองจำเลยนั้น ในข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกวัฒนชัยว่าในชั้นสอบสวนจำเลยให้การเพียงว่าจำเลยกอดคอผู้เสียหายเท่านั้น จึงไม่ตรงกับข้อนำสืบของจำเลยทำให้ขาดน้ำหนักและแม้จะเป็นไปดังที่จำเลยอ้าง การกระทำของจำเลยดังกล่าวก็เห็นได้ว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่น่าจะถึงขนาดทำให้ผู้เสียหายและจ่าสิบตำรวจสุกิจโกรธแค้นแล้วทั้งหมดร่วมมือกันกลั่นแกล้งดำเนินคดีนี้แก่จำเลย เนื่องจากหากจ่าสิบตำรวจสุกิจประสงค์จะกลั่นแกล้งจำเลยแล้วก็สามารถปั้นแต่งข้อหาอื่นเพื่อจับกุมจำเลยได้อยู่แล้ว ไม่จำต้องนำเอาบุตรีของตนเองเป็นผู้เสียหายเพื่อเปิดเผยการกระทำของจำเลยในกรณีเช่นนี้เพราะเป็นเรื่องอับอายที่ควรจะปกปิดไว้เพื่อรักษาชื่อเสียงของตนมากกว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีเหตุผลและน้ำหนักมั่นคง ฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยมา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นสำหรับข้อที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยมีอาชีพเป็นครู น่าจะประพฤติตัวให้เป็นแบบอย่างในทางที่ดีเพื่อให้นักเรียนปฏิบัติตาม แต่กลับมากระทำผิดเสียเองและตามพฤติการณ์การกระทำผิดของจำเลยในคดีนี้ก็เป็นเรื่องร้ายแรงที่ผู้มีอาชีพเป็นครูไม่ควรกระทำอย่างยิ่งจึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำเลยฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share