แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏจากการนำสืบของโจทก์และจำเลยว่าในเขตของหน่วยงานบริหารราชการส่วนท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีจำเลยที่1นั้นมีลักษณะของทรัพย์สินขนาดพื้นที่ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันกับทรัพย์สินของโจทก์มีการให้เช่ากันอันสามารถนำค่าเช่ามาเทียบเคียงในการประเมินค่ารายปีทรัพย์สินของโจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินค่ารายปีของทรัพย์สินลงวันที่30มีนาคม2535ได้พนักงานเจ้าหน้าที่จึงต้องประเมินค่ารายปีแห่งทรัพย์สินขึ้นเองให้เห็นได้ว่าเป็นจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่งๆตามความหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา8วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ.2475โดยหาฐานในการคำนวณจากมูลค่าของทรัพย์สินที่ให้เช่าด้วยเหตุผลที่ว่าการให้เช่าเป็นการหาประโยชน์จากทรัพย์สินดังนั้นมูลค่าของทรัพย์สินที่ให้เช่าย่อมเป็นสิ่งที่ผู้ให้เช่าต้องคำนึงถึงและนำมาใช้เป็นฐานของการคำนวณหาจำนวนเงินค่าเช่าได้กล่าวคือทรัพย์สินมีมูลค่าน้อยก็สมควรได้ค่าเช่าน้อยกว่าทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากและค่าเช่านั้นเกิดขึ้นตามระยะเวลาของการเช่าหรือระยะเวลาในการใช้ทรัพย์ที่เช่าใกล้เคียงกับประโยชน์ที่ผู้ฝากเงินได้รับดอกเบี้ยจากธนาคารตามฐานของจำนวนเงินที่ฝากประกอบระยะเวลาที่ฝากดังนั้นอัตราดอกเบี้ยจึงนำมาเทียบเคียงเพื่อใช้ในการคำนวณหาจำนวนค่าเช่าได้ด้วยโดยเหตุนี้การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีจำเลยที่2อาศัยมูลค่าทรัพย์สินคูณด้วยอัตราผลประโยชน์ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีที่เทียบเคียงมาจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารโดยที่ได้ลดมูลค่าของทรัพย์สินในส่วนที่เป็นเครื่องจักรลงให้ประมาณกึ่งหนึ่งและลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีของทรัพย์สินนั้นรวมทั้งส่วนควบดังกล่าวแล้วนั้นย่อมเป็นการประเมินค่ารายปีขึ้นโดยประมาณด้วยกฎเกณฑ์อันสมควรและมีเหตุผลโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าการชี้ขาดตามการประเมินดังกล่าวไม่ชอบหาได้นำสืบให้เห็นว่ามีกฎเกณฑ์ใดที่สมควรและมีเหตุผลสามารถนำมาเทียบเคียงในการคำนวณหาค่าเช่าอันสมควรสำหรับทรัพย์สินรายพิพาทของโจทก์ได้เหมาะสมไปกว่านี้ศาลจึงต้องฟังว่าค่ารายปีตามคำชี้ขาดของจำเลยที่2เป็นค่ารายปีที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้แจ้งคำชี้ขาดให้โจทก์ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยชอบเป็นผลให้โจทก์ต้องชำระค่าภาษีให้แก่จำเลยที่ 1 เกินความจริงรวมทั้งเงินเพิ่มเป็นจำนวน 3,497,325 บาท การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยของต้นเงิน 3,497,325 บาทแก่ธนาคารในอัตราร้อยละ 11 ต่อปี ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินโจทก์จำนวน 3,497,325 บาท พร้อมค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 11 ต่อปี ไปจนกว่าจะใช้ต้นเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้พิจารณาค่ารายปีของโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์อ้างว่าต้องนำเงินค่าภาษีส่วนที่เกินกว่าโจทก์พึงต้องชำระจริง จำนวน3,165,750 บาท พร้อมเงินเพิ่ม 331,575 บาท ไปวางให้แก่จำเลยก่อนฟ้องคดีนั้น เป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย จำเลยมิได้กระทำละเมิดสิทธิของโจทก์แต่อย่างใด จึงไม่ต้องรับผิดตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน3,497,325 บาท ให้แก่โจทก์ภายในสามเดือนนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนด ให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันครบกำหนดสามเดือนจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลย ที่ 1 อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่าโรงเรือนและที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนตลอดจนเครื่องจักรกลไกเพื่อใช้ดำเนินอุตสาหกรรมของโจทก์ ซึ่งติดตั้งเป็นส่วนควบที่สำคัญของโรงเรือน ตามแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2536 เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 1 ประกอบแบบแปลนแผนผัง เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 13 จ.10/1 ถึง จ.10/4 และภาพถ่ายหมาย จ.9/1 นั้น จำเลยที่ 3 ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินได้ประเมินค่ารายปีของทรัพย์สินนั้นรวมทั้งส่วนควบดังกล่าวแล้วด้วยเป็นเงิน จำนวน 141,794,346 บาท กับลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475มาตรา 13 แล้ว ได้ค่ารายปีเป็นเงินจำนวน 47,264,782 บาทค่าภาษีเป็นเงินจำนวน 5,908,097 บาท โจทก์ขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ จำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดให้โจทก์เสียภาษีจำนวน3,315,750 บาท ทั้งนี้โดยคิดค่ารายปีของทรัพย์สินนั้นรวมทั้งส่วนควบดังกล่าวแล้วด้วยเป็นเงินจำนวน 79,578,096 บาท ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ. 2475 มาตรา 13 แล้วได้ค่ารายปีเป็นเงิน 26,526,032 บาทและคดีนี้ศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้สองประเด็นคือ1. เครื่องจักรของโจทก์มูลค่า 1,628 ล้านบาทเศษ เป็นส่วนควบของโรงงานมูลค่า 181 ล้านบาทเศษ ซึ่งจะต้องนำทรัพย์ทั้งสองรายการมารวมคำนวณหาค่ารายปีตามการประเมินของจำเลยที่ 3 หรือไม่2. การประเมินค่ารายปีของเจ้าพนักงานของจำเลยโดยวิธีคิดในอัตราร้อยละ 7.5 ของมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดถูกต้องหรือไม่ศาลภาษีอากรกลางได้วินิจฉัยในประเด็นข้อ 1 เป็นที่ยุติแล้วว่าเครื่องจักรของโจทก์ดังกล่าวเป็นส่วนควบของอาคารโรงงานซึ่งโจทก์ใช้ดำเนินอุตสาหกรรม การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1นำมูลค่าของเครื่องจักรทั้งหมดที่ใช้ในกระบวนการผลิตในอาคารโรงงานดังกล่าวรวมกับมูลค่าของอาคารโรงงานมาคำนวณค่ารายปีแล้วลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามจึงเป็นไปตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และชอบด้วยกฎหมายแล้วจากคำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลางที่ยุติแล้วนั้น ย่อมเป็นการชี้ขาดว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มีอำนาจที่จะประเมินค่ารายปีของทรัพย์สินของโจทก์ขึ้นใหม่โดยนำเครื่องจักรอันเป็นส่วนควบที่สำคัญเพื่อใช้ดำเนินอุตสาหกรรม รวมคำนวณค่ารายปีกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างและที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างด้วย แต่ต้องลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามตามที่พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 13บัญญัติไว้ ดังนี้ค่ารายปีที่ประเมินขึ้นใหม่ย่อมจะต้องสูงกว่าค่ารายปีที่ล่วงมา ดังนั้น จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยตามประเด็นข้อที่ 2 ว่า การที่จำเลยที่ 3 ประเมินค่ารายปีทรัพย์สินของโจทก์จำนวนสูงขึ้น ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ชี้ขาดให้ลดลงเหลือจำนวน 26,526,032 บาท แล้วนั้น เป็นค่ารายปีที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ. 2475 มาตรา 8 วรรคสอง และวรรคสาม ได้บัญญัติไว้ว่า”เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ “ค่ารายปี” หมายความว่า จำนวนซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ
ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นให้เช่า ให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่า ค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้ เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สินขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศกระทรวง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินค่ารายปีของทรัพย์สิน ประกาศ ณ วันที่ 30 มีนาคม 2535ไว้ดังนี้ การประเมินค่ารายปีที่ให้เช่าและมีเหตุสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้ เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินค่ารายปีโดยเทียบเคียงค่ารายปีของทรัพย์สินที่ให้เช่า ที่มีลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันในเขตของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้น ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏจากการนำสืบของโจทก์และจำเลยว่า ในเขตของหน่วยงานบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของจำเลยที่ 1 นั้น มีลักษณะของทรัพย์สินขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันกับทรัพย์สินของโจทก์มีการให้เช่ากันอันสามารถนำค่าเช่ามาเทียบเคียงในการประเมินค่ารายปีทรัพย์สินของโจทก์ได้ ดังนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่จึงต้องประเมินค่ารายปีแห่งทรัพย์สินขึ้นเองให้เห็นได้ว่าเป็นจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ตามความหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475โดยหาฐานในการคำนวณจากมูลค่าของทรัพย์สินที่ให้เช่า จากเหตุผลที่ว่าการให้เช่าเป็นการหาประโยชน์จากทรัพย์สิน ดังนั้น มูลค่าของทรัพย์สินที่ให้เช่าย่อมเป็นสิ่งที่ผู้ให้เช่าต้องคำนึงถึงนำมาใช้เป็นฐานของการคำนวณหาจำนวนเงินค่าเช่าได้ กล่าวคือทรัพย์สินมีมูลค่าน้อยก็สมควรได้ค่าเช่าน้อยกว่าทรัพย์สินที่มีมูลค่ามาก และค่าเช่านั้นเกิดขึ้นตามระยะเวลาของการเช่าหรือระยะเวลาในการใช้ทรัพย์ที่เช่า ใกล้เคียงกับประโยชน์ที่ผู้ฝากเงินได้รับดอกเบี้ยจากธนาคารตามฐานของจำนวนเงินที่ฝากประกอบระยะเวลาที่ฝาก ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยจึงนำมาเทียบเคียงเพื่อใช้ในการคำนวณหาจำนวนค่าเช่าได้ด้วย จำเลยที่ 2 ชี้ขาดให้ค่ารายปีของทรัพย์สิน รวมทั้งส่วนควบเป็นเงินจำนวน 79,578,096 บาทเมื่อลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีของทรัพย์สินรวมทั้งส่วนควบตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475มาตรา 13 แล้ว เป็นจำนวน 26,526,032 บาท ทั้งนี้โดยอาศัยข้อมูลจากหลักฐานเอกสารของโจทก์ และหลักเกณฑ์ในการคำนวณดังนี้คือสำนักงานของโจทก์มีมูลค่ารวม 11,559,519 บาท อาคารโรงงานมีมูลค่า 181,282,896 บาท อาคารโกดังมีมูลค่า 68,198,873 บาทเครื่องจักรของโจทก์มีมูลค่า 1,628,550,000 บาท แต่เพื่อบรรเทาภาระภาษีแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงลดมูลค่าเครื่องจักรลงให้เหลือเพียง 800,000,000 บาท รวมมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดได้จำนวน1,061,041,288 บาท คูณด้วยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี แล้วหักออกหนึ่งในสาม ผลลัพธ์เป็นเงิน 26,526,032 บาท ถือเป็นค่ารายปีดังกล่าวแล้ว ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าการที่จำเลยที่ 2 อาศัยมูลค่าทรัพย์สินคูณด้วยอัตราผลประโยชน์ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีที่เทียบเคียงมาจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร โดยที่ได้ลดมูลค่าของทรัพย์สินในส่วนที่เป็นเครื่องจักรลงให้ประมาณกึ่งหนึ่งและลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีของทรัพย์สินนั้นรวมทั้งส่วนควบดังกล่าวแล้วนั้นย่อมเป็นการประเมินค่ารายปีขึ้นโดยประกอบด้วยกฎเกณฑ์อันสมควรและมีเหตุผล โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าการชี้ขาดตามการประเมินดังกล่าวไม่ชอบหาได้นำสืบให้เห็นว่ามีกฎเกณฑ์ใดที่สมควรและมีเหตุผลสามารถนำมาเทียบเคียงในการคำนวณหาค่าเช่าอันสมควรสำหรับทรัพย์สินรายพิพาทของโจทก์ได้เหมาะสมไปกว่านี้ ศาลจึงต้องฟังว่าค่ารายปีตามคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 จำนวน 26,526,032 บาท เป็นค่ารายปีที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วการที่โจทก์ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1คิดเป็นค่าภาษีจำนวน 3,315,750 บาท เงินเพิ่มจำนวน 331,575 บาทจึงชอบแล้ว
พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์