คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6202/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มีหน้าที่ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือแล้วส่งมอบให้จำเลยที่ท่าปลายทางตรงตามความหมายของคำว่าไลเนอร์เทอมส์(LinerTerms)ในใบตราส่งและมีประเพณีปฏิบัติในการขนถ่ายสินค้าว่าผู้รับสินค้าข้างลำเรือจะต้องจัดหาเรือลำเลียงไปรับสินค้าอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายเนื่องจากการจัดหาเรือลำเลียงอยู่ในอำนาจควบคุมของผู้รับสินค้าไม่ใช่ผู้ขนส่งเมื่อตัวแทนโจทก์แจ้งให้จำเลยเตรียมการรับขนถ่ายสินค้าข้างลำเรือและจำเลยได้เลือกวิธีการจัดหาเรือลำเลียไปรับการขนถ่ายสินค้าแล้วจึงถือเป็นข้อตกลงโดยปริยายระหว่างโจทก์และจำเลยว่าจำเลยจะต้องจัดหาเรือลำเลียงไปรับการขนถ่ายสินค้าอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายเมื่อจำเลยจัดเรือลำเลียงไปขนถ่ายสินค้าล่าช้าจึงเป็นการผิดหน้าที่ตามข้อตกลงทำให้โจทก์ต้องเสียเวลาจอดเรือรอการขนถ่ายสินค้าของจำเลยโจทก์ย่อมได้รับความเสียหายจำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียเวลาที่โจทก์ต้องจอดเรือรอเนื่องในการที่จำเลยทำให้การขนถ่ายสินค้าล่าช้า จำเลยให้การต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ1ปีในมูลละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้อ้างว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ.2534มาตรา46ดังนั้นฎีกาในเรื่องอายุความของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาในศาลชั้นต้นศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นปี 2532 จำเลยสั่งซื้อเศษเหล็กจากผู้ขายในต่างประเทศ และผู้ขายได้ว่าจ้างโจทก์ขนส่งสินค้าดังกล่าวจากประเทศสหภาพโซเวียตมายังท่าเรือในอาณาบริเวณการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยเรือสินค้าชื่อ “กี เอ็กซ์พลอเรอ”ซึ่งโจทก์เช่ามาดำเนินการรับส่งสินค้าเพื่อทำการขนถ่ายส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลย โดยมีข้อตกลงโดยปริยายว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้รับตราส่งมีหน้าที่ต้องไปรับสินค้าจากเรือสินค้าของโจทก์ตามประเพณีการขนส่งสินค้าทางทะเล และหรือตามประเพณีการขนถ่ายสินค้าจากเรือเดินทะเลแห่งท้องถิ่นในทันทีที่เรือสินค้าของโจทก์พร้อมที่จะทำการขนถ่ายส่งมอบสินค้าให้จำเลย และจำเลยจะต้องมีเรือลำเลียงไปรับขนถ่ายสินค้าจากเรือสินค้าของโจทก์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้การขนถ่ายสินค้าเป็นไปโดยรวดเร็ว มิฉะนั้นจำเลยจะต้องรับผิดชอบชำระค่าเรือจอดรอซึ่งเป็นอุปกรณ์แห่งค่าระวางเรือตามประเพณีการขนส่งสินค้าทางทะเลในอัตราวันละ 8,150 ดอลลาร์สหรัฐปรากฏว่าเมื่อเรือสินค้าของโจทก์มาจอดที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรีแล้วจำเลยก็ได้จัดเรือลำเลียงไปขนถ่ายสินค้าบางส่วน ส่วนสินค้าที่เหลือจำเลยจะต้องจัดเรือลำเลียงมารับขนถ่ายสินค้าจากเรือสินค้าของโจทก์ที่อาณาบริเวณการท่าเรือแห่งประเทศไทยตั้งแต่วันที่17 กันยายน 2532 เวลา 5.40 นาฬิกา ซึ่งเป็นวันเวลาที่โจทก์พร้อมจะขนถ่ายส่งมอบสินค้าให้จำเลยและโจทก์ให้แจ้งให้จำเลยทราบแล้วแต่จำเลยไม่มีเรือลำเลียงมารับส่งสินค้าในวันเวลาดังกล่าว ทำให้เรือสินค้าของโจทก์ต้องจอดรอจนกระทั่งวันที่ 18 เดือนเดียวกันเวลา 14.30 นาฬิกา จึงมีเรือลำเลียงของจำเลยมารับสินค้าและหลังจากนั้น จำเลยก็มิได้มีเรือลำเลียงมารับสินค้าอย่างสม่ำเสมอตลอด 24 ชั่วโมง คิดเป็นเวลาที่เรือสินค้าของโจทก์ต้องจอดรอโดยไม่มีการขนถ่ายสินค้าเนื่องจากจำเลยไม่มีเรือลำเลียงมารับสินค้ารวม 61 ชั่วโมง 20 นาที หรือเท่ากับ 2,556 วัน จำเลยต้องรับผิดชำระค่าเรือจอดรอให้โจทก์เป็นเงิน 20,831.40 ดอลลาร์สหรัฐหรือ 542,449.66 บาท ตามอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 26.04 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 572,962.45 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราเดียวกันในต้นเงิน 542,449.66 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ผู้ขายสินค้าเป็นผู้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์รับขนสินค้าไปส่งมอบให้จำเลยตามสถานที่ที่ระบุในสัญญาซื้อขายโดยผู้ขายสินค้าเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งทั้งหมดจนกว่าจะส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยเรียบร้อย (CIF Liner Terms Bangkok)จำเลยจึงไม่ต้องผูกพันรับผิดตามสัญญา ตามกฎหมายและประเพณีการขนสินค้าผู้รับขนจะเสร็จสิ้นภาระหน้าที่ก็ต่อเมื่อได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อสินค้าแล้ว ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมทั้งค่าจอดเรือรอที่เกิดขึ้นในระหว่างการส่งมอบสินค้ายังไม่แล้วเสร็จ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องชำระเอง โจทก์ฟ้องเกิน 1 ปี คดีจึงขาดอายุความในมูลละเมิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในการขนถ่ายสินค้าล่าช้าไป 28.70 ชั่วโมง หรือ 1.20 วัน ค่าเสียหายวันละ8,150 ดอลลาร์สหรัฐ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 26.04 บาท คิดเป็นค่าเสียหายวันละ 212,226 บาทพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 254,671.20 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ และ จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามคำฟ้อง คำให้การ และที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังมาว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศเยอรมันโจทก์ประกอบกิจการให้เช่าเรือสินค้าและรับจ้างขนส่งสินค้าทางทะเล จำเลยประกอบกิจการค้าเหล็กและเศษเหล็กเมื่อปี 2532 จำเลยสั่งซื้อเศษเหล็กจากประเทศสหภาพโซเวียตหนักประมาณ 7,000 ตัน บริษัทเบอร์วิล (เอเซีย) และบริษัทเมทัล เทรดเดอร์ จีเอ็มบีเอช ผู้ขายจ้างโจทก์ทำการขนส่งเศษเหล็กดังกล่าวมายังประเทศไทยโดยโจทก์ใช้เรือ กี เอ็กซ์พลอเรอบรรทุกเศษเหล็กมาส่งให้จำเลยในประเทศไทยตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.6 วันที่ 3 กันยายน 2532 เรือกีเอ็กซพลอเรอของโจทก์มาถึงประเทศไทยที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี โจทก์จัดเรือลำเลียงขนถ่ายเศษเหล็กบางส่วนจากเรือกีเอ็กซ์พลอเรอ ส่งให้จำเลย จากนั้นเรือ กี เอ็กซ์พลอเรอ ได้แล่นเข้ามายังบริเวณของการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยผูกเรืออยู่ที่ทุ่นผูกเรือหมายเลข 6และ 7 ตำบลบางหัวเสือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการเพื่อขนถ่ายสินค้าและเศษเหล็กที่เหลือวันที่ 8 กันยายน 2532บริษัทโทรีเซนไทย เอเยนซีส์ จำกัด ตัวแทนเรือของโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบและเตรียมการขนถ่ายสินค้าแล้วตามเอกสารหมายจ.7 จำเลยซึ่งเป็นผู้รับตราส่งได้เลือกวิธีการขนถ่ายสินค้าแบบข้างลำโดยเป็นผู้จัดหาเรือลำเลียงไปทำการขนถ่ายเศษเหล็กจากเรือกี เอ็กซ์พลอเรอ ของโจทก์วันที่ 18 กันยายน 2532 เวลา 14.30นาฬิกา จำเลยจัดเรือลำเลียงไปขนถ่ายเศษเหล็กจากเรือของโจทก์และขนถ่ายเสร็จสิ้นวันที่ 23 กันยายน 2532 แต่การขนถ่ายเศษเหล็กดังกล่าวจำเลยมิได้จัดหาเรือลำเลียงไปทำการขนถ่ายเศษเหล็กจากเรือของโจทก์อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายทำให้การขนถ่ายเศษเหล็กล่าช้าไป 28.70 ชั่วโมง หรือ 1.20 วันคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการแรกว่าจำเลยจะต้องรับผิดชำระค่าเสียเวลาเรือจอดรอให้แก่โจทก์หรือไม่จำเลยฎีกาว่า โจทก์รับขนส่งสินค้าในระบบไลเนอร์เทอมส์หรือเรือประจำทาง ความเสี่ยงภายในการจอดเรือจึงตกแก่โจทก์ผู้ขนส่ง และไม่มีประเพณีการขนถ่ายสินค้าข้างลำเรือที่ผู้รับสินค้าจะต้องรับผิดหากนำเรือลำเลียงไปรับสินค้าล่าช้าไม่ต่อเนื่อง ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์มีหน้าที่ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือแล้วส่งมอบให้จำเลยที่ท่าปลายทางตรงตามความหมายของคำว่าไลเนอร์เทอมส์ (Liner Terms) ในใบตราส่งเอกสารหมาย จ.6 และมีประเพณีปฏิบัติในการขนถ่ายสินค้าว่าผู้รับสินค้าข้างลำเรือจะต้องจัดหาเรือลำเลียงไปรับสินค้าอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย เนื่องจากการจัดหาเรือลำเลียงอยู่ในอำนาจควบคุมของผู้รับสินค้า ไม่ใช่ผู้ขนส่งเมื่อตัวแทนโจทก์แจ้งให้จำเลยเตรียมการรับขนถ่ายสินค้าข้างลำเรือและจำเลยได้เลือกวิธีการจัดหาเรือลำเลียงไปรับการขนถ่ายสินค้าแล้ว จึงถือเป็นข้อตกลงโดยปริยายระหว่างโจทก์และจำเลยว่า จำเลยจะต้องจัดหาเรือลำเลียงไปรับการขนถ่ายสินค้าอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายเมื่อจำเลยจัดเรือลำเลียงไปขนถ่ายสินค้าล่าช้าจึงเป็นการผิดหน้าที่ตามข้อตกลง ทำให้โจทก์ต้องเสียเวลาจอดเรือรอการขนถ่ายสินค้าของจำเลย โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียเวลาที่โจทก์ต้องจอดเรือรอเนื่องในการที่จำเลยทำให้การขนถ่ายสินค้าล่าช้า ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้ขนถ่ายสินค้าล่าช้านั้น ปรากฏว่าจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธไว้ แม้ศาลล่างทั้งสองจะวินิจฉัยให้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยเป็นประการสุดท้ายว่า โจทก์ทำการขนถ่ายสินค้าให้แก่จำเลยเสร็จในวันที่ 23 กันยายน2532 และโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 7 ธันวาคม 2533 การฟ้องคดีของโจทก์เกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยเสร็จสิ้น คดีโจทก์ขาดอายุความตามพระราชบัญญัติการขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 มาตรา 46 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยให้การต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ในมูลละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิได้อ้างว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 46ดังที่จำเลยฎีกา ดังนั้นฎีกาในเรื่องอายุความของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาในศาลชั้นต้นศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share