คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6132/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีภาระต้องทำงานชดใช้หนี้ตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศเป็นเวลา5ปี10เดือน24วันคิดเป็นเงินที่ต้องชดใช้จำนวน160,089.99บาทและต้องทำงานชดใช้หนี้ตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาหรือฝึกอบรมณต่างประเทศเป็นเวลา1ปี6เดือน2วันคิดเป็นเงินที่ต้องชดใช้จำนวน556,199.90บาทซึ่งในการพิจารณาว่าหนี้รายใดจะตกหนักที่สุดแก่จำเลยนั้นจะต้องพิจารณาจากภาระที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นประเด็นสำคัญแม้ระยะเวลาทำงานชดใช้ตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศยาวนานกว่าก็ตามแต่กรณีได้ผ่านพ้นระยะเวลาที่จะต้องทำงานชดใช้ไปแล้วเนื่องจากโจทก์อนุญาตให้จำเลยลาออกจากราชการจำเลยจึงมีหน้าที่เพียงชดใช้เงินให้แก่โจทก์เท่านั้นดังนั้นจึงต้องพิจารณาจากจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชดใช้ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยดังนั้นหนี้ตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาหรืออบรมณต่างประเทศจึงเป็นรายที่ตกหนักที่สุดแก่จำเลยจึงต้องให้หนี้ตามสัญญาดังกล่าวได้เปลื้องไปก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา328โดยนำเวลาที่จำเลยกลับเข้าทำงานชดใช้เป็นเวลา3ปี1เดือน24วันไปชดใช้เวลาที่จำเลยต้องทำงานชดใช้จำนวน1ปี6เดือน2วันก่อนซึ่งยังเหลือเวลาที่จำเลยทำงานชดใช้ไว้อีก1ปี7เดือน22วันและถือว่าจำเลยได้ทำงานชดใช้ตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาหรือฝึกอบรมณต่างประเทศครบตามสัญญาแล้วจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาดังกล่าวอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เดิมรับราชการตำแหน่งอาจารย์ 1วิทยาลัยครูเชียงใหม่ สังกัดโจทก์ เมื่อปีการศึกษา 2519จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ลาศึกษาต่อภายในประเทศณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ระดับปริญญาโทด้านภาษาและวรรณคดีอังกฤษ หลักสูตร 2 ปี วันที่ 21 มิถุนายน 2519จำเลยที่ 1 ทำสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศไว้แก่โจทก์มีนางสาวศันสนีย์ จันทร์สถิตย์พร เป็นผู้ค้ำประกันครบกำหนดเวลาตามสัญญา จำเลยที่ 1 ยังไม่จบการศึกษาและได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาต่อได้อีก 3 ภาคการศึกษา มีการทำสัญญากันใหม่อีก 3 ฉบับครั้งแรกวันที่ 6 มิถุนายน 2521 กำหนดเวลา 1 ภาคการศึกษานับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2521 เป็นต้นไป นางสาวมานี ธรรมรักษ์เป็นผู้ค้ำประกัน ครั้งที่สองวันที่ 7 พฤศจิกายน 2521 กำหนดเวลา1 ภาคการศึกษา นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2521 เป็นต้นไปนางสาวสมพร เทศะบำรุง เป็นผู้ค้ำประกัน ครั้งที่สามวันที่10 มิถุนายน 2522 กำหนดเวลา 1 ภาคการศึกษา นับแต่วันที่1 มิถุนายน 2522 เป็นต้นไป นางยุพยง ทองดี จำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกัน เมื่อจำเลยที่ 1 จบการศึกษาได้กลับเข้าทำงานตามสังกัดเดิมเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2522 รวมเวลาเรียน 3 ปี 4 เดือนแล้วกลับเข้าทำงานชดใช้ทุนจนถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2523 จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ลาไปฝึกอบรมที่ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ ด้วยทุนซีเมโอ โดยเมื่อวันที่23 มิถุนายน 2523 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาข้าราชการไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศให้ไว้แก่โจทก์ กำหนดเวลาตั้งแต่วันที่7 กรกฎาคม 2523 ถึงวันที่ 6 เมษายน 2524 เป็นเวลา 9 เดือน1 วัน นายประกิจ ดวงพิกุล จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 กลับเข้าทำงานตามสังกัดเดิมเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2524ต่อมาจำเลยที่ 1 ขอลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2527และได้รับอนุญาตจากโจทก์ตามคำสั่งที่ 445/2527 ลงวันที่ 22พฤษภาคม 2527 จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจำนวน 51,535บาท ตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศและสัญญาข้าราชการไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศที่จำเลยที่ 1 ทำไว้แก่โจทก์จำเลยที่ 1 จะต้องรับราชการในสังกัดโจทก์หรือในสังกัดอื่นตามที่ได้รับอนุญาตเป็นเวลา 2 เท่าของเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษาต่อและรับเงินเดือนกับเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพ หากผิดสัญญาต้องใช้คืนเงินเดือนกับเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพที่ได้รับไปจากโจทก์ระหว่างลาและเงินทุนที่ได้รับนั้นให้แก่โจทก์พร้อมเบี้ยปรับอีก1 เท่า จำเลยที่ 1 ทำงานชดใช้ให้แก่โจทก์เพียง 3 ปี 11 เดือนซึ่งไม่ครบกำหนดเวลาเป็นการผิดสัญญา ตามสัญญาฉบับแรกเหลือเวลาทำงานชดใช้อีก 1 เดือน ต้องใช้คืนเงินพร้อมเบี้ยปรับจำนวน2,013.70 บาท ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้แทนแล้ว ตามสัญญาฉบับวันที่6 มิถุนายน 2521 ยังไม่ได้ทำงานชดใช้ ต้องใช้คืนเงินพร้อมเบี้ยปรับจำนวน 23,390 บาท ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้แทนแล้วตามสัญญาฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน 2521 ยังไม่ได้ทำงานชดใช้ต้องใช้คืนเงินพร้อมเบี้ยปรับจำนวน 36,190 บาท โจทก์นำเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 หักชำระหนี้แล้วตามสัญญาฉบับวันที่ 10 มิถุนายน 2522ยังไม่ได้ทำงานชดใช้ ต้องใช้คืนเงินพร้อมเบี้ยปรับจำนวน 20,680 บาทโจทก์นำเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ส่วนที่เหลือจำนวน 15,345 บาทหักชำระหนี้บางส่วนแล้ว คงเหลือหนี้ตามสัญญาฉบับนี้จำนวน 5,335 บาทซึ่งจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว และตามสัญญาฉบับวันที่23 มิถุนายน 2523 ที่รับทุนซีเมโอ จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ทำงานชดใช้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันต้องใช้คืนเงินเดือนเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพ พร้อมเบี้ยปรับรวมจำนวน 63,926.20 บาทเงินทุนพร้อมเบี้ยปรับจำนวน 492,273.70 บาท รวม 2 รายการจำนวน 556,199.90 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 3ไม่ชำระ จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงต้องเสียดอกเบี้ยตามที่กำหนดในสัญญาในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปเมื่อรวมต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 796,264.20บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน796,264.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 556,199.90 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ก่อนจำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การ โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จากสารบบความ
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินให้แก่โจทก์แล้วคงเหลือหนี้อีกไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งเมื่อคำนวณเวลาที่จำเลยที่ 1 กลับเข้ารับราชการหลังจากฝึกอบรมเสร็จก็เป็นการเพียงพอกับการใช้ทุนตามสัญญาแล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด คดีโจทก์ขาดอายุความและฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชำระเงินจำนวน645,572.84 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้นจำนวน 556,199.90 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชำระเงินจำนวน 556,199.60 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับจำเลยที่ 1 นับแต่วันที่ 13 เมษายน 2531ส่วนจำเลยที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 รับราชการเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยครูเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในสังกัดของโจทก์และได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร โดยทำสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศไว้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2519 กำหนดเวลา2 ปี ตามเอกสารหมาย จ.2 นางสาวศันสนีย์ จันทร์สถิตย์พรเป็นผู้ค้ำประกัน ครบกำหนดการลาจำเลยที่ 1 ยังไม่จบการศึกษาแต่ได้รับอนุญาตให้ลาต่ออีก 3 ภาคการศึกษา จึงมีการต่อสัญญาอีก 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ภาคการศึกษาโดยฉบับแรกลงวันที่ 6 มิถุนายน2521 ตามเอกสารหมาย จ.3 นางสาวมานี ธรรมรักษ์ เป็นผู้ค้ำประกันสัญญาฉบับที่สองลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2521 ตามเอกสารหมาย จ.4นางสาวสมพร เทศะบำรุง เป็นผู้ค้ำประกัน และสัญญาฉบับที่สามลงวันที่ 10 มิถุนายน 2522 ตามเอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกัน รวมเวลาที่ลาเพื่อศึกษาต่อ 3 ปี 4 เดือน ระหว่างลาจำเลยที่ 1 ได้รับเงินเดือนและเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพจากโจทก์ตามปกติ จบการศึกษาแล้ว จำเลยที่ 1 กลับเข้าทำงานตามสังกัดเดิมเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2522 และทำงานได้เพียง 9 เดือน 6 วันก็ได้รับอนุญาตให้ลาไปฝึกอบรมที่ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ด้วยทุนซีเมโอ เป็นเวลา 9 เดือน 1 วัน ซึ่งจำเลยที่ 1ทำสัญญาข้าราชการไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ ให้ไว้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2523 ตามเอกสารหมาย จ.8 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ป.ล.1ระหว่างที่ลาเพื่อฝึกอบรมจำเลยที่ 1 ได้รับเงินเดือนกับเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพจากโจทก์ตามปกติ และได้รับเงินทุนตามจำนวนที่กำหนดจำเลยที่ 1 กลับเข้าทำงานให้แก่โจทก์อีกครั้งเมื่อวันที่ 7 เมษายน2524 ต่อมาจำเลยที่ 1 ขอลาออกจากราชการและได้รับอนุญาตให้ลาออกได้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2527 โดยได้รับบำเหน็จจำนวน 51,535 บาทรวมเวลาที่จำเลยที่ 1 ทำงานชดใช้ให้แก่โจทก์ในช่วงหลังนี้ 3 ปี1 เดือน 24 วัน จำเลยที่ 1 จึงรับราชการชดใช้ไม่ครบตามสัญญาที่ทำไว้แก่โจทก์ซึ่งตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำไว้แก่โจทก์ทั้งห้าฉบับนั้น จำเลยที่ 1 จะต้องทำงานชดใช้ให้แก่โจทก์เป็นเวลา 2 เท่าของเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษาต่อและฝึกอบรมโดยรับเงินเดือนกับเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพ หากผิดสัญญาต้องใช้คืนเงินเดือนกับเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพที่ได้รับไปจากโจทก์ระหว่างลาและเงินทุนที่ได้รับไปนั้นให้แก่โจทก์พร้อมเบี้ยปรับอีก 1 เท่า ถ้าผิดนัดไม่ชดใช้คืนเงินและเบี้ยปรับตามสัญญาจำเลยที่ 1 ต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.5จำนวน 160,089.99 บาท และตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาหรือฝึกอบรมณ ต่างประเทศเอกสารหมาย จ.8 จำนวน 556,199.90 บาท โจทก์จึงเรียกให้จำเลยที่ 1 และผู้ค้ำประกันทุกรายชำระหนี้และนำเวลารับราชการที่จำเลยที่ 1 ทำงานชดใช้มาหักออกจากเวลาที่ต้องชดใช้ตามสัญญาฉบับแรกแล้วยังเหลือเวลาที่ต้องชดใช้อีก 1 เดือนซึ่งผู้ค้ำประกันตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศตามสัญญาฉบับแรกและฉบับที่สองชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 แล้ว ส่วนสัญญาฉบับที่สามโจทก์นำเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 หักชำระหนี้แล้วยังเหลือเงินบำเหน็จอยู่ 15,345 บาท จึงนำมาหักชำระหนี้ตามสัญญาฉบับที่สี่และยังคงเหลือหนี้ตามสัญญาฉบับที่สี่จำนวน 5,335 บาทตามเอกสารหมาย จ.19 และหนี้ตามสัญญาฉบับที่สี่ที่ยังค้างชำระจำนวน5,335 บาท นั้น จำเลยที่ 2 ชำระให้แก่โจทก์แล้วหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้พร้อมด้วยดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 6,242.68 บาทหนี้ตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศทั้ง 4 ฉบับจึงได้รับการชำระเสร็จสิ้นแล้ว ยังคงเหลือแต่หนี้ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.8 ที่ยังไม่ได้รับชดใช้จำนวน 556,199.90 บาทจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินชำระได้ยื่นคำร้องขอเข้ารับราชการตามเดิมเพื่อใช้ทุน แต่โจทก์ไม่อนุญาต
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3ข้อแรกว่า การที่โจทก์นำระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ทำงานชดใช้ทุนและเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ไปหักใช้หนี้ตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.5 ก่อน โดยถือว่าเป็นหนี้รายที่ตกหนักที่สุดแก่จำเลยที่ 1 นั้น ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคสองหรือไม่ โดยจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า การที่โจทก์นำเอาเวลาทำงานชดใช้ทุนจำนวน 3 ปี1 เดือน 24 วัน ที่จำเลยที่ 1 ทำงานหลังจากกลับจากประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์และเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ไปหักหนี้ตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.5โดยถือว่าเป็นหนี้รายที่ตกหนักที่สุดแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคสอง นั้นไม่ถูกต้อง เพราะหนี้รายที่ตกหนักที่สุดแก่จำเลยที่ 1 คือหนี้ตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศตามเอกสารหมาย จ.8 เนื่องจากจำเลยที่ 1จะต้องชดใช้เงินให้แก่โจทก์ตามสัญญาฉบับนี้จำนวน 556,199.90 บาทแต่หนี้ที่ต้องชดใช้ตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศตามเอกสารหมาย จ.2 หรือ จ.5 มีจำนวนรวมกันเพียง 160,089.99 บาทเท่านั้น จึงต้องนำเอาเวลาทำงานและเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1ไปใช้หนี้ตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศตามเอกสารหมาย จ.8 ก่อน จึงจะชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 328 วรรคสอง เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีภาระต้องทำงานชดใช้หนี้ตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศตามเอกสารหมาย จ.2ถึง จ.5 เป็นเวลา 5 ปี 10 เดือน 24 วัน คิดเป็นเงินที่ต้องชดใช้จำนวน 160,089.99 บาท และต้องทำงานชดใช้หนี้ตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศตามเอกสารหมาย จ.8 เป็นเวลา1 ปี 6 เดือน 2 วัน คิดเป็นเงินที่ต้องชดใช้จำนวน 556,199.90 บาทซึ่งในการพิจารณาว่าหนี้รายใดจะตกหนักที่สุดแก่จำเลยที่ 1 นั้นจะต้องพิจารณาจากภาระที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นประเด็นสำคัญ แม้ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.5 และ จ.8 นั้นจำเลยที่ 1 จะต้องทำงานชดใช้เป็นเวลา 2 เท่าของเวลาที่จำเลยที่ 1รับเงินเดือนระหว่างไปศึกษาต่อหรือไปฝึกอบรม โดยระยะเวลาทำงานชดใช้ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.5 ยาวนานกว่าตามสัญญาเอกสารหมาย จ.8 ก็ตามแต่กรณีได้ผ่านพ้นระยะเวลาที่จะต้องทำงานชดใช้ไปแล้วเนื่องจากโจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการจำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่เพียงชดใช้เงินให้แก่โจทก์ตามสัญญาเท่านั้นดังนั้นการพิจารณาว่าหนี้รายใดที่ตกหนักที่สุดแก่จำเลยที่ 1จึงต้องพิจารณาจากจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย เมื่อหนี้ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.8 ที่จำเลยที่ 3เป็นผู้ค้ำประกันนั้น จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้เงินให้แก่โจทก์จำนวน 556,199.90 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 13 เมษายน 2531 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดส่วนหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาเอกสารหมายจ.2 ถึง จ.5 นั้น มีจำนวน 160,089.99 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 เมษายน 2531 ดังนั้นหนี้ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.8 จึงเป็นรายที่ตกหนักที่สุดแก่จำเลยที่ 1 เพราะเมื่อคำนวณดอกเบี้ยในระยะเวลาเท่ากัน จำนวนดอกเบี้ยของหนี้ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.8 จะเป็นจำนวนที่สูงกว่าจึงต้องใช้หนี้ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.8 ได้เปลื้องไปก่อนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น โดยนำเวลาที่จำเลยที่ 1 กลับเข้าทำงานชดใช้เป็นเวลา 3 ปี 1 เดือน 24 วัน ไปชดใช้เวลาที่จำเลยที่ 1ต้องทำงานชดใช้ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.8 จำนวน 1 ปี 6 เดือน 2 วันก่อน ซึ่งยังเหลือเวลาที่จำเลยที่ 1 ทำงานชดใช้ไว้อีก 1 ปี7 เดือน 22 วัน และถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำงานชดใช้ตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศเอกสารหมาย จ.8 ครบตามสัญญาแล้วจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาดังกล่าวอีก จำเลยที่ 3ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดเช่นเดียวกัน คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 3 อีกต่อไป และกรณีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 1จะไม่ได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1)ประกอบด้วยมาตรา 247
พิพากษาแก้ เป็น ว่า ให้ จำเลย ที่ 1 ชำระ เงิน จำนวน 35,806.86 บาทพร้อม ด้วย ดอกเบี้ย อัตรา ร้อยละ 15 ต่อ ปี นับแต่ วันที่ 13 เมษายน2531 เป็นต้น ไป จนกว่า จะ ชำระ เสร็จ แก่ โจทก์ และ ยกฟ้อง โจทก์เฉพาะ จำเลย ที่ 3

Share