คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5806/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอใช้สิทธิเรียกร้องแทนบริษัทบ. โดยอ้างว่าก่อนที่จำเลยจะพ้นจากการเป็นกรรมการบริษัทบ. จำเลยเบียดบังทรัพย์สินของบริษัทบ.ไปโดยทุจริตบริหารงานหรือจัดการทรัพย์สินของบริษัทบ. ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทบ.ซึ่งเท่ากับกล่าวอ้างว่าจำเลยละเมิดต่อบริษัทบ.บริษัทบ.ชอบจะฟ้องร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของบริษัทบ.ชอบจะใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1169ฟ้องเรียกร้องบังคับเอาจากจำเลยแทนบริษัทบ.เท่าที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องแก่บริษัทบ.อยู่การเรียกร้องดังกล่าวเป็นการเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่กระทำละเมิดต่อบริษัทบ.มีอายุความตามมาตรา448เมื่อการกระทำละเมิดเกิดขณะจำเลยเป็นกรรมการบริษัทบ.อยู่คือก่อนวันที่17กันยายน2525ซึ่งเป็นวันที่จำเลยลาออกจากบริษัทบ. โจทก์ยื่นฟ้องวันที่23กันยายน2535พ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่จำเลยได้กระทำละเมิดแล้วคดีของโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล สังกัดกระทรวงการคลังมีหน้าที่ควบคุมและจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรจำเลยเป็นกรรมการของบริษัท บี.บี.อี. จำกัด มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการผูกพันบริษัทบี.บี.อี.จำกัด ได้ ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2523บริษัท บี.บี.อี.จำกัด มีทรัพย์สินที่เป็นเงินสดฝากธนาคารพาณิชย์ไว้ จำนวน 73,392.82 บาท และมีลูกหนี้และเงินให้กู้ยืมแก่ผู้ถือหุ้นและลูกจ้าง จำนวน 1,050,000 บาท ปรากฎตามงบดุลของบริษัท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2523 ต่อมาก่อนที่จำเลยจะพ้นจากการเป็นกรรมการบริษัทจำเลยได้เบียดบังยักยอกเอาเงิน73,392.82 บาท ของบริษัท บี.บี.อี. จำกัด ไปเป็นของจำเลยหรือบุคคลที่ 3 โดยทุจริต และใช้อำนาจในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการยกเงินของบริษัทบี.บี.อี จำกัด ให้ผู้อื่นโอนเสน่หาโดยไม่มีเหตุอันสมควร และให้ผู้ถือหุ้นกับลูกจ้างของบริษัทบี.บี.อี. จำกัด กู้ยืมโดยไม่มีหลักประกัน แล้วจำเลยละเลยไม่ได้ติดตามทวงถามให้ผู้กู้ยืมใช้หนี้คืนบริษัท บี.บี.อี. จำกัด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,050,000 บาทดังนั้น โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ค่าภาษีอากรและเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของบริษัท บี.บี.อี. จำกัด จำนวน 253,790.69 บาทจึงใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัท บี.บี.อี. จำกัด ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 253,790.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 253,790.69 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1169 มิได้กำหนดอายุความฟ้องร้องไว้ สิทธิเรียกร้องตามมาตราดังกล่าวจึงมีกำหนด 10 ปี ลูกหนี้ของบริษัทบี.บี.อี. จำกัด รายไนท์สปอร์ต จำกัด และลูกหนี้ตามเช็คเป็นหนี้ที่จำเลยปล่อยให้เกิดขึ้นโดยไม่มีหลักประกันในขณะจำเลยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัทดังกล่าวตั้งแต่ก่อนปี 2522 และค้างชำระตลอดมาโดยจำเลยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องจนกระทั่งจำเลยพ้นจากตำแห่งกรรมการผู้จัดการเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2525 หนี้ดังกล่าวจึงกลายจึงสภาพจากหนี้ค้างชำระเป็นหนี้สูญในวันที่จำเลยพ้นตำแหน่งดังกล่าวเพราะไม่มีผู้ใดสามารถติดตามเรียกร้องได้ ความเสียหายของบริษัท บี.บี.อี. จำกัด ในหนี้สินดังกล่าวจึงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2525โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2535ยังไม่เกินกำหนด 10 ปี นับแต่เกิดความเสียหาย คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ปัญหานี้นายวีระพันธ์ พูลทวี เจ้าหน้าที่โจทก์ผู้เร่งรัดภาษีอากรค้างเบิกความว่า บริษัทบี.บี.อี. จำกัดมีหน้าที่ชำระภาษีให้โจทก์ บริษัทดังกล่าวจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตั้งแต่ปี 2515 มีจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการในระหว่างปี 2515 ถึงปี 2525 ในเดือนกันยายน 2525 จำเลยลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทและนายทะเบียนรับจดทะเบียนการลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทดังกล่าวในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2525 จำเลยเบิกความว่าจำเลยลาออกจากกรรมการบริษัท บี.บี.อี. จำกัดเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2525 ปรากฎตามรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2525 เอกสารท้ายฟ้อง แผ่นที่ 12รายจ่ายของบริษัทที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2518 ถึงปี 2520 นั้นคณะกรรมการผู้ถือหุ้นของบริษัทอนุมัติค่าใช้จ่ายถูกต้องแล้วนับแต่วันที่จำเลยใช้จ่ายไปจนถึงวันฟ้องเกิน 10 ปีแล้ว เห็นว่าตามคำฟ้องโจทก์ โจทก์บรรยายคำฟ้องขอใช้สิทธิเรียกร้องแทนบริษัท บี.บี.อี. จำกัด โดยอ้างว่าก่อนที่จำเลยจะพ้นจากการเป็นกรรมการบริษัทจำเลยเบียดบังทรัพย์สินของบริษัทไปโดยทุจริตบริหารงานหรือจัดการทรัพย์สินของบริษัทก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทซึ่งเท่ากับกล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อบริษัท บริษัทได้รับความเสียหาย บริษัทชอบจะฟ้องร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของบริษัทชอบจะใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1169 ฟ้องเรียกร้องบังคับเอาจากจำเลยแทนบริษัทเท่าที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องแก่บริษัทอยู่ การเรียกร้องดังกล่าวเป็นการเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่กระทำละเมิดต่อบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448ซึ่งบัญญัติให้ฟ้องร้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่บริษัทรู้ถึงการกระทำละเมิดของจำเลย และรู้ตัวผู้ละเมิดว่าจำเลยต้องใช้สินไหมทดแทน หรือภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันกระทำละเมิดการกระทำละเมิดตามคำฟ้องของโจทก์เกิดขณะจำเลยเป็นกรรมการบริษัทอยู่คือก่อนวันที่ 17 กันยายน 2525 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยลาออกจากบริษัท โจทก์ยื่นคำฟ้องคดีนี้วันที่ 23 กันยายน 2535พ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่จำเลยได้กระทำละเมิดแล้ว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้อง ที่โจทก์ฎีกาให้นับอายุความสิบปีนับแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2525 ซึ่งเป็นวันที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจดทะเบียนให้จำเลยพ้นจากกรรมการบริษัทฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share