แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
อุทธรณ์ชั้นบังคับคดีในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา224วรรคสองย่อมต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ให้จำเลยเช่าตึกแถวรวม3 ห้อง อัตราค่าเช่าห้องละ 100 บาท ต่อเดือน ต่อมาจำเลยผิดสัญญาเช่า ขอให้ขับไล่และเรียกค่าเสียหาย ระหว่างพิจารณาโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่20 กุมภาพันธ์ 2529 มีใจความสำคัญว่า โจทก์ยอมให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทในอัตราค่าเช่าห้องละ 300 บาท ต่อเดือนภายใต้เงื่อนไขการเช่าและกำหนดเวลาการเช่าตามสัญญาเดิมทุกประการ ถ้าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความข้อใดยินยอมให้โจทก์บังคับคดีให้จำเลยออกจากตึกพิพาทได้ทันทีและศาลได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ คดีถึงที่สุดแล้วต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดีฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2537อ้างว่าจำเลยไม่ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินอาคารตึกแถวที่เช่าซึ่งค้างชำระอยู่ 2 ปี คือปี 2535 และปี 2536 ปีละ85,050 บาท รวมเป็นเงิน 170,100 บาท รวมทั้งค่าภาษีเพิ่มอีกร้อยละ 10 จำนวน 17,010 บาท รวมเป็นเงิน 187,110 บาทอันเป็นการผิดต่อสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีตามที่โจทก์ขอ
จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2537 ว่าการประเมินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินสูงเกินไปและไม่ถูกต้อง แต่โจทก์ไม่อุทธรณ์การประเมินโจทก์จึงต้องรับภาระค่าภาษีส่วนที่เกินกว่าปีละ18,000 บาท เอง สำหรับค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินปี 2535 และปี 2536 ปีละ 18,000 บาท จำเลยได้สั่งจ่ายเป็นเช็คแก่โจทก์พร้อมกับค่าเช่าแล้ว จำเลยจึงไม่ได้ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความต่อโจทก์แต่อย่างใด และการที่ศาลได้ออกหมายบังคับคดีให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินด้วยนั้นเป็นการไม่ชอบ เนื่องจากตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวในข้อ 7 มีข้อความเพียงว่าถ้าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความข้อใด จำเลยยอมให้โจทก์บังคับคดีให้จำเลยออกจากตึกพิพาททันทีเท่านั้น ขอให้ยกเลิกหมายบังคับคดีที่ให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยและจัดการให้โจทก์เข้าครอบครองตึกแถวพิพาทฉบับลงวันที่ 10 มิถุนายน 2537
โจทก์แถลงคัดค้านว่าค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของอาคารตึกแถวพิพาทสำหรับปี 2535 และปี 2536 นั้น เชื่อได้ว่าเจ้าพนักงานผู้ทำการประเมินภาษีได้กระทำไปด้วยความสุจริตและถูกต้อง โจทก์ได้นำเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินกับค่าภาษีเพิ่มรวมจำนวน 187,110 บาทไปชำระให้แก่สำนักงานเขตพญาไทแล้ว จำเลยได้ส่งเช็คจำนวนเงิน40,500 บาทมาให้โจทก์ โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบว่าเพื่อเป็นการชำระเงินค่าอะไร โจทก์จึงไม่นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน ทั้งเช็คฉบับดังกล่าวก็ไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่โจทก์ได้ชำระไปแล้ว นอกจากนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวก็ได้ตกลงว่าการเช่าตึกแถวพิพาทดังกล่าวจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขการเช่าตามสัญญาเดิมทุกประการจำเลยจึงมีหน้าที่จะต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือภาษีอื่นใดอันเกี่ยวกับที่ดินและตึกแถวพิพาทแต่เพียงผู้เดียวโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นจำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินกับค่าภาษีเพิ่มในปี 2535 และปี 2536 ที่โจทก์ได้ชำระให้สำนักงานเขตพญาไทไปแล้วเป็นเงินจำนวน 187,110 บาทให้แก่โจทก์ และเมื่อโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยแต่จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระให้โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่จำเลยค้างชำระให้แก่โจทก์ได้ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องของจำเลยกับคำแถลงคัดค้านของโจทก์และคำแถลงรับกันของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องสืบพยานทั้งสองฝ่าย จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 6 กันยายน 2537 แล้ววินิจฉัยว่าการที่จำเลยไม่ชำระค่าภาษีโรงเรือนดังกล่าวเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำให้โจทก์มีสิทธิเพียงบังคับคดีให้จำเลยออกจากตึกพิพาทเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยได้ดังนั้น การที่ศาลได้ออกหมายบังคับคดีในส่วนที่ให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยด้วยจึงไม่ชอบมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยแต่ให้แก้ไขหมายบังคับคดีฉบับลงวันที่ 10 มิถุนายน 2537 โดยให้ยกเลิกการบังคับคดีในส่วนที่ศาลสั่งให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยออกเสีย
โจทก์ และ จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนเฉพาะอุทธรณ์ของโจทก์และให้ยกอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเป็นการชอบหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าอุทธรณ์ของจำเลยไม่เกี่ยวกับประเด็นโดยตรงของคดี แต่เป็นการอุทธรณ์ในชั้นบังคับคดีว่าจำเลยได้กระทำผิดข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความเรื่องการไม่ชำระค่าภาษีโรงเรือนให้แก่โจทก์หรือไม่ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์ไว้ คู่ความย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ได้โดยไม่ต้องถือตามทุนทรัพย์ของคดีเดิม ซึ่งไม่เหมือนกับคดีเกี่ยวกับการบังคับวงศ์ญาติและบริวารของผู้ถูกฟ้องขับไล่ อันจักต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสาม นั้นเห็นว่าแม้ว่าคดีจะมิใช่คดีเกี่ยวกับการบังคับวงศ์ญาติและบริวารของผู้ถูกฟ้องขับไล่ อันจักต้องพิจารณาข้อห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสาม ก็ตามแต่คดีเดิมของเรื่องนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึกแถวพิพาทซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละสี่พันบาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ชั้นบังคับคดีอันเป็นสาขาก็ย่อมต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยให้นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป”
พิพากษายืน