คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5794/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ยอมรับค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่1ชำระไม่ตรงตามกำหนดตลอดมาแสดงว่าโจทก์ไม่ถือเอาข้อกำหนดสัญญาที่ว่าจำเลยที่1ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดสัญญาเป็นอันเลิกกันโดยไม่จำต้องบอกกล่าวเป็นสาระสำคัญเมื่อจะบอกเลิกสัญญาโจทก์ต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่1ชำระค่าเช่าซื้อภายในเวลาที่สมควรก่อนเมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาโดยมิได้กำหนดระยะเวลาดังกล่าวจึงไม่ชอบสัญญายังไม่เลิกกันโจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์คันเช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีคืนโจทก์ หากไม่สามารถคืนได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 141,720 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์หรือชำระราคารถยนต์ให้โจทก์เสร็จสิ้น กับให้ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวน 96,000 บาทให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและค่าเสียหายอีกเดือนละ 6,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์หรือชำระราคารถยนต์ให้โจทก์ครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากไม่สามารถคืนได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์เป็นเงิน 32,000 บาท ให้โจทก์ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จกับค่าขาดประโยชน์ดังกล่าว อีกเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนโจทก์หรือใช้ราคาให้โจทก์ แต่มีกำหนดไม่เกิน 6 เดือน
จำเลย ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2533 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8บ-8818 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ในราคา238,680 บาท กำหนดผ่อนชำระรวม 36 งวด งวดละเดือน เดือนละ 6,630 บาทเริ่มชำระงวดแรกวันที่ 22 มีนาคม 2533 งวดต่อไปชำระทุกวันที่22 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ตามลำดับ ในการชำระค่าเช่าซื้อตามข้อตกลงดังกล่าว จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระตรงตามเวลาที่ระบุไว้ในสัญญามาตั้งแต่ต้น ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.2 (15 ฉบับ)ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับเอาค่าเช่าซื้อดังกล่าวจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เพียง 14 งวด แล้วผิดนัดไม่ชำระตั้งแต่งวดประจำเดือนพฤษภาคมถึงงวดประจำเดือนตุลาคม 2534 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.5 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ชั้นนี้มีว่า สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกันแล้วหรือไม่และโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามหรือไม่ เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่ต้นตลอดมาโดยมิได้ชำระค่าเช่าซื้อตรงตามกำหนดเวลาแต่ละงวด ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับค่าเช่าซื้อที่ชำระไม่ตรงตามกำหนดนั้นตลอดมา ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ถือเอาข้อกำหนดสัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 19 ที่ว่าจำเลยที่ 1ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใด สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันโดยไม่จำต้องบอกกล่าวเป็นสาระสำคัญแต่โจทก์กลับถือว่าสัญญาเช่าซื้อยังมีผลต่อไปจึงยอมรับค่าเช่าซื้อไว้ ดังนี้เมื่อโจทก์ประสงค์จะบอกเลิกสัญญา โจทก์ต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในเวลาที่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387เสียก่อน แต่คงปรากฎจากพยานหลักฐานโจทก์เพียงว่าทนายความผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.5 โดยมิได้กำหนดระยะเวลาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ในเวลาอันสมควรเสียก่อนจะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญายังไม่ได้การบอกเลิกสัญญาจึงไม่ชอบ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ยังไม่เลิกกันโจทก์จึงทั้งสาม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share