คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5616/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา362,365กฎหมายมุ่งประสงค์ลงโทษผู้บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้นไม่ใช่บทบัญญัติที่จะลงโทษผู้บุกรุกที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งมีบัญญัติไว้โดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา9,108ทวิวรรคสองและแม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐเพราะต่างมีสภาพและลักษณะของการกระทำที่แตกต่างกันสามารถแยกเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ การยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับและการกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา29,30เป็นวิธีที่จะกระทำเพื่อเป็นการชดใช้ค่าปรับเป็นการบังคับคดีไม่จำที่ศาลจะต้องกล่าวไว้ในคำพิพากษา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองปลูกสร้างโรงเรือนขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 8 เมตร ในที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันและเป็นที่ดินของรัฐโดยไม่มีสิทธิครอบครอง และมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หลังจากที่จำเลยดำเนินการก่อสร้างอาคารดังกล่าวข้างต้นแล้ว ปลัดเมืองพัทยาซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีหนังสือให้จำเลยระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารที่จำเลยก่อสร้างทั้งหมดออกไปภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง จำเลยทราบคำสั่งแล้ว ต่อมาตั้งแต่วันที่ 20มิถุนายน 2537 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกันตลอดมาจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารดังกล่าว โดยก่อสร้างอาคารจนเสร็จและไม่รื้อถอนอาคาร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 4, 21, 40, 42, 65, 66 ทวิ, 67, 69 ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9, 108, 108 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 362, 365ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินซึ่งเข้าไปยึดถือครอบครอง จำเลย ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 21, 40, 42, 65, 66 ทวิ, 67, 69ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 362, 365 เรียงกระทงลงโทษ ความผิดฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9,108 ทวิ วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 2 ปี และปรับ8,000 บาท ฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21, 65, 69 จำคุก 6 เดือน และปรับ20,000 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง, 67, 42, 66 ทวิและ 69 จำคุก 6 เดือน และปรับ 80,000 บาท รวมจำคุก 2 ปี 12 เดือนและปรับ 108,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 54,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 นอกจากนี้สำหรับความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40, 67,42, 66 ทวิ จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว ให้ปรับอีกวันละ 1,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง และกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติประจำศาลจังหวัดชลบุรีทุก 3 เดือนต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปี ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินซึ่งเข้าไปยึดถือครอบครองสำหรับที่โจทก์ขอให้ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 มาด้วยนั้น เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติเอาผิดเฉพาะแก่ผู้ฝ่าฝืน มาตรา 9แห่งประมวลกฎหมายที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติที่แก้ไขประมวลกฎหมายที่ดินนี้ใช้บังคับ คือก่อนวันที่ 4 มีนาคม2515 แต่ตามฟ้องจำเลยได้กระทำผิดหลังวันดังกล่าว จึงไม่เข้าบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจึงไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตามกฎหมายดังกล่าวด้วย จำเลย อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ปรับ 40,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 20,000 บาทเมื่อรวมโทษปรับในความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วให้ปรับ 34,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาข้อแรกว่า ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 21 เป็นความผิดเกิดจากการกระทำของจำเลยที่เพิ่งเริ่มเข้าไปลงมือทำการก่อสร้างเป็นครั้งแรก เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดแล้วจึงไม่อาจนำความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตมารวมลงโทษจำเลยอีก คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองในส่วนนี้จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า จำเลยบุกรุกเข้าครอบครองที่ดินตามฟ้องโดยรู้ว่าเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ วรรคสองส่วนความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365ที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยมาด้วยนั้น กฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้ที่บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้นไม่ใช่บทบัญญัติที่จะลงโทษผู้ที่บุกรุกที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแต่อย่างใดจึงลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365 ไม่ได้ แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225 นอกจากนี้ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21 ก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันกับความผิดฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 เพราะความผิดแต่ละฐานดังกล่าวต่างมีสภาพและลักษณะของการกระทำที่แตกต่างกัน สามารถแยกเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ ดังนั้นจึงนำความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตมาลงโทษจำเลยได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษปรับสถานเบาสำหรับความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง, 67, 42, 66 ทวิ และ 69 นั้นเห็นว่า จำเลยก่อสร้างอาคารที่ไม่ใหญ่โตและปรากฎว่าจำเลยมีฐานะยากจน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษปรับจำเลยมานั้นสูงเกินไปเห็นสมควรกำหนดโทษปรับเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น ที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วจำเลยไม่ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ปรับเป็นรายวันอีกวันละ 1,000 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าหากจำเลยไม่ชำระค่าปรับดังกล่าวให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2537 ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมิได้ระบุว่าหากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนหรือยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30แต่อย่างใด ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวนั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 การยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับและการกักขังแทนค่าปรับเป็นวิธีที่จะกระทำเพื่อเป็นการชดใช้ค่าปรับเป็นการบังคับคดี ไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องกล่าวไว้ในคำพิพากษาฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น” พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362, 365 ส่วนความผิดฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ วรรคสองให้จำคุก 1 ปี และปรับ 3,000 บาท และฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 40 วรรคหนึ่ง, 67, 42, 66 ทวิ และ 69 ให้จำคุก 6 เดือนและปรับ 20,000 บาท เมื่อรวมกับโทษในความผิดอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้วเป็นจำคุก 2 ปี และปรับ 43,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 1 ปี และปรับ 21,500 บาท สำหรับความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 40, 67, 42, 66 ทวิ จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วให้ปรับวันละ 300 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share