คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5192/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยมานานหลายปีในปีสุดท้ายที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยฝ่ายบริหารซึ่งเป็นตำแหน่งชั้นสูงโจทก์ควรจะมีความรับผิดชอบต่องานในหน้าที่การที่โจทก์ลากิจโดยไม่มีกำหนดเวลาแสดงให้เห็นถึงการขาดความรับผิดชอบต่องานในหน้าที่ของโจทก์ที่ปฏิบัติอยู่และเมื่อโจทก์ยื่นใบลาแล้วโจทก์หยุดงานทันทีโดยไม่รอฟังว่าจำเลยที่1อนุมัติหรือไม่เป็นการขัดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่าด้วยการลาของจำเลยที่1ในที่สุดเมื่อจำเลยที่1ไม่อนุมัติการลาจึงต้องถือว่าโจทก์ขาดงานและโจทก์ก็ยังคงหยุดงานติดต่อกันมาจนจำเลยมีหนังสือเลิกจ้างหากโจทก์มิได้จงใจขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่โจทก์สามารถติดต่อแจ้งให้จำเลยที่1ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครทราบได้โดยสะดวกถึงความจำเป็นของโจทก์เพราะโจทก์ไปเฝ้าบุตรที่ป่วยที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกันแต่โจทก์หาได้ปฏิบัติเช่นนั้นไม่ตั้งแต่วันที่โจทก์หยุดงานจนถึงวันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เคยติดต่อจำเลยพฤติการณ์ที่โจทก์ขาดงานติดต่อกันดังกล่าวเกิน3วันและเป็นเวลานานเกือบหนึ่งเดือนจนจำเลยมีหนังสือเลิกจ้างถือได้ว่าเป็นการละทิ้งการงานไปเสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา583จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าทั้งถือได้ว่าโจทก์จงใจละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา3วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ47(5)และกรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายและค่าชดเชยแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ และจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคล เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2532 จำเลยทั้งสามตกลงว่าจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างโจทก์มีตำแหน่งสุดท้ายเป็นนิติกรอาวุโส ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2536 จำเลยทั้งสามร่วมกันกลั่นแกล้งโจทก์โดยย้ายโจทก์ไปยังที่ทำงานแห่งใหม่ ซึ่งไกลกว่าเดิม 5 กิโลเมตรและไม่เหมาะสมเป็นสำนักงาน โจทก์กับพวกจึงไปร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานคุ้มครองแรงงานเพื่อให้จำเลยปรับปรุงแก้ไขสถานที่ทำงานให้ดีขึ้นเป็นเหตุให้จำเลยไม่พอใจและกลั่นแกล้งโจทก์โดยเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2537 จำเลยทั้งสามลดตำแหน่งโจทก์ต่ำกว่าเดิมให้ไปอยู่ใต้บังคับบัญชาของฝ่ายอื่นที่ไม่เกี่ยวกับงานที่ต้องปฏิบัติ เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่โจทก์ไม่ยินยอมโจทก์ยื่นหนังสือคัดค้านแล้ว จำเลยทั้งสามไม่ยอมฟัง จนวันที่5 สิงหาคม 2537 จำเลยทั้งสามมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์ไม่มีความผิดโจทก์ได้รับเงินเดือนสุดท้ายเดือนละ 25,000 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายเงินจำนวน 1,102,999.97 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่5 สิงหาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า การย้ายโจทก์ไปที่ทำงานแห่งใหม่ตำแหน่งผู้ช่วยบริหารภายใต้การบังคับบัญชาของผู้จัดการฝ่ายการเงินและบริหารทั่วไปก็เพื่อความสะดวกในการทำงานของโจทก์ จำเลยได้จัดเตรียมอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบถ้วนโดยที่โจทก์ยินยอมและไม่เคยโต้แย้ง ตำแหน่งผู้ช่วยบริหารเป็นตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตำแหน่งนิติกรอาวุโส จำเลยมอบหมายงานให้โจทก์สม่ำเสมอเหตุที่จำเลยเลิกจ้างเป็นเพราะโจทก์จงใจละทิ้งการงานคือตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2537 โจทก์ขาดงานบ่อย ยื่นใบลาเป็นบางวัน จนวันที่ 11 กรกฎาคม 2537 โจทก์แจ้งจำเลยว่าโจทก์ขอลาหยุดโดยไม่มีกำหนดเพื่อไปดูแลบุตรที่ป่วยแล้วโจทก์ไม่มาทำงานอีกเลยโดยโจทก์ไม่ได้รับอนุมัติให้ลา ซึ่งตามระเบียบข้อบังคับการทำงานกำหนดให้ลากิจได้ไม่เกิน 10 วัน และต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 วัน จึงหยุดงานได้ ถือได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เกินกว่า 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 9 สิงหาคม 2537 เนื่องจากโจทก์กระทำผิดข้อ 47(5) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าชดเชยจำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 150,000 บาท นับแต่วันที่ 5 สิงหาคม2537 ค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 100,000 บาทกับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 4,999.98 บาทรวม 104,999.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 104,999.98 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2538ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์ และ จำเลย ทั้ง สาม อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์ละทิ้งการงานไปเสียหรือไม่ และเห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามที่ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ตั้งแต่ 3 วัน ทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควรจำเลยทั้งสามจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ไปพร้อมกัน ในปัญหาดังกล่าว เห็นว่า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยมานานหลายปีในปีสุดท้ายที่จำเลยเลิกจ้าง โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยฝ่ายบริหารซึ่งเป็นตำแหน่งชั้นสูง โจทก์ควรจะมีความรับผิดชอบต่องานในหน้าที่การที่โจทก์ลากิจโดยไม่มีกำหนดเวลาแสดงให้เห็นถึงการขาดความรับผิดชอบต่องานในหน้าที่ของโจทก์ที่ปฏิบัติอยู่และเมื่อโจทก์ยื่นใบลาแล้วโจทก์หยุดงานทันทีโดยไม่รอฟังว่าจำเลยที่ 1อนุมัติหรือไม่ เป็นการขัดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่าด้วยการลาของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.1 ในที่สุดเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อนุมัติการลา จึงต้องถือว่าโจทก์ขาดงานและโจทก์ก็ยังคงหยุดงานติดต่อกันมาจนจำเลยมีหนังสือเลิกจ้างหากโจทก์มิได้จงใจขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่โจทก์สามารถติดต่อแจ้งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ทราบได้โดยสะดวกถึงความจำเป็นของโจทก์เพราะโจทก์ไปเฝ้าบุตรที่ป่วยที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกันแต่โจทก์หาได้ปฏิบัติเช่นนั้นไม่ ตั้งแต่วันที่โจทก์หยุดงานจนถึงวันที่จำเลยเลิกจ้าง โจทก์ไม่เคยติดต่อจำเลยแต่อย่างใดพฤติการณ์ที่โจทก์ขาดงานติดต่อกันดังกล่าวเกิน 3 วัน และเป็นเวลานานเกือบหนึ่งเดือนจนจำเลยมีหนังสือเลิกจ้าง ถือได้ว่าเป็นการละทิ้งการงานไปเสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งถือได้ว่าโจทก์จงใจละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วัน ทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 47(5) และกรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายและค่าชดเชยแก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share