แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มิได้ชำระเงินค่างวดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้แม้โจทก์ชำระค่างวดล่วงเลยเวลาที่กำหนดจำเลยก็ยอมรับเงินนั้นตลอดมาไม่ได้มีการทักท้วงหรือให้จ่ายเบี้ยปรับตามสัญญาแต่อย่างใดแสดงว่าคู่สัญญามิได้มีเจตนาถือเอากำหนดเวลาการชำระค่างวดเป็นสาระสำคัญดังนั้นแม้โจทก์จะผิดสัญญาในข้อนี้จำเลยก็จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญายังมิได้แต่จะต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา387เสียก่อนการที่จำเลยได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ตามหนังสือแจ้งริบเงินมัดจำและบอกเลิกสัญญานั้นเป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาแก่โจทก์เมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยเพื่อขอให้ยืนยันว่าจะปฏิบัติตามสัญญาหรือจะเลิกสัญญาแก่โจทก์หากจำเลยไม่ตอบแจ้งมาภายใน10วันจะถือว่าจำเลยประสงค์เลิกสัญญาและจำเลยไม่ตอบไปให้โจทก์ทราบแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาจะเลิกสัญญาอยู่การที่โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยวาเมื่อจำเลยไม่ประสงค์ที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่อไปจำเลยจึงต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยรวมทั้งค่าเสียหายตามหนังสือชดใช้ค่าเสียหายคืนสู่สภาพเดิมเอกสารหมายจ.9นั้นถือได้ว่าโจทก์แสดงเจตนาสนองตอบตกลงเลิกสัญญาแก่จำเลยแล้วสัญญาว่าจ้างงานสถาปัตยกรรมห้องชุดและควบคุมงานและสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดอาคารชุดระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นอันเลิกกันโดยความตกลงของคู่สัญญาผลของการเลิกสัญญาโดยความตกลงของคู่สัญญาเช่นนี้เมื่อไม่ปรากฏว่าคู่สัญญาได้มีการตกลงกันไว้ประการใดก็ต้องให้คู่สัญญาได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา391โดยที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมจำเลยจึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้พร้อมด้วยดอกเบี้ยคิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ15ต่อปีตามสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดอาคารชุดนั้นใช้บังคับสำหรับกรณีที่มีการผิดสัญญาและคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิเลิกสัญญาแต่การเลิกสัญญาโดยความตกลงของคู่สัญญาโดยไม่ได้มีการผิดสัญญาและคู่สัญญามิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยประการใดเงินที่ได้ชำระกันตามสัญญาผู้รับเงินจึงต้องคืนเงินนั้นพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5ต่อปีนับแต่เวลาที่ได้รับไว้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2533 โจทก์ทำสัญญาจะซื้ออาคารชุดชั้นที่ 21 ห้อง 21 ดี เนื้อที่ประมาณ 370.50ตารางเมตร จากจำเลยในราคา 12,100,000บาท หลังจากโจทก์ชำระค่างวดถึงงวดที่ 9 แล้วโจทก์จำเลยต่างผ่อนผันการชำระเงินค่างวดโดยปริยาย ทั้งนี้เนื่องจากในระหว่างก่อสร้างจำเลยดำเนินงานก่อสร้างล่าช้า ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2535โจทก์นัดเจ้าหน้าที่จำเลยเพื่อรับชำระค่างวด ณ ที่ทำการโจทก์ตามปกติที่เคยปฏิบัติแต่ปรากฏว่าแทนที่จำเลยจะส่งเจ้าหน้าที่รับเงินค่างวดจากโจทก์กลับส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาและริบเงินมัดจำโดยมิได้บอกกล่าวกำหนดระยะเวลาก่อน จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญา โจทก์มอบให้ทนายความมีหนังสือขอให้จำเลยนัดชำระค่างวด จำเลยได้รับหนังสือแล้วเพิกเฉย จำเลยคงยืนยันที่จะเลิกสัญญาทั้งที่โจทก์ไม่ได้ผิดนัดหรือผิดสัญญา ถือว่าจำเลยไม่ประสงค์จะปฏิบัติตามสัญญาต่อไป เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายรวมค่าเสียหายของโจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 7,059,428 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 7,059,428 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้น 6,194,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่าการชำระค่างวดโดยผิดนัดสัญญาเป็นความผิดของโจทก์เองทั้งสิ้น โจทก์จะอ้างเอาการก่อสร้างล่าช้ามาเป็นเหตุไม่ชำระเงินตามงวดไม่ได้ ทั้งจำเลยมิได้ก่อสร้างล่าช้าตามที่โจทก์กล่าวอ้างจำเลยจึงไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระเงินมัดจำนับแต่งวดที่ 10 เป็นต้นไปจำนวน 14 งวด ทั้งโจทก์ก็แสดงเจตนาโดยแจ้งชัดว่าไม่ประสงค์ที่จะปฏิบัติตามสัญญา จำเลยจึงมอบให้ทนายความมีหนังสือแจ้งริบเงินมัดจำและบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ โจทก์ไม่เคยนัดให้เจ้าหน้าที่หรือตัวแทนจำเลยหรือจำเลยไปรับเงินมัดจำ การกระทำของโจทก์ไม่สุจริต จำเลยไม่ต้องคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 865,428 บาทและไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 3,700,000 บาท ให้แก่โจทก์แต่ประการใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน2,926,714 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,494,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 20 พฤศจิกายน 2535)จนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ และ จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2533 โจทก์ทำสัญญาจะซื้ออาคารชุดพิพาทซึ่งเป็นอาคารชุดโครงการ เลอ รัฟฟิเน่ 24 ชั้นที่ 21 ห้อง 21 ดีเนื้อที่ประมาณ 370.50 ตารางเมตร จากจำเลยในราคา 12,100,000 บาทในวันจองโจทก์ชำระเงินมัดจำจำนวน 242,000 บาท ในวันทำสัญญาโจทก์ชำระราคาอีกจำนวน 605,000 บาท และโจทก์จำเลยตกลงว่าโจทก์จะชำระราคาระหว่างก่อสร้างอีก 25 งวด งวดละ 183,000 บาทโดยชำระทุกวันที่ 10 ของเดือน ส่วนที่เหลือ 6,678,000 บาทชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ตามสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดอาคารชุดเอกสารหมาย จ.1 ต่อมามีการทำสัญญาแยกประเภทของสัญญาเป็น 2 ฉบับ คือ สัญญาว่าจ้างงานสถาปัตยกรรมห้องชุดและควบคุมงานในราคา 1,815,000 บาท และสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดอาคารชุดในราคา 10,285,000 บาท โดยโจทก์ตกลงจะผ่อนชำระราคาระหว่างก่อสร้างทุกวันที่ 30 ของเดือน ชำระงวดแรกในวันที่ 30 พฤษภาคม 2533 เป็นต้นไป ตามสัญญาว่าจ้างงานสถาปัตยกรรมห้องชุดและควบคุมงาน และสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดอาคารชุดเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 (ตรงกับเอกสารหมาย ล.4 และ ล.3 ตามลำดับ) ปรากฏว่าโจทก์ชำระค่างวดตรงตามกำหนดเวลาบ้างไม่ตรงตามกำหนดเวลาบ้าง โดยชำระให้แก่จำเลยรวมทั้งสิ้น 9 งวด เป็นเงิน 2,494,000 บาท ต่อมาวันที่ 1 เมษายน2535 จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ตามหนังสือแจ้งริบเงินมัดจำและบอกเลิกสัญญาเอกสารหมาย จ.11(ตรงกับเอกสารหมาย ล.7) แล้วโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยเพื่อขอให้จำเลยยืนยันว่าจะปฏิบัติตามสัญญาหรือจะเลิกสัญญาแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ตอบแจ้งมาภายใน 10 วัน จะถือว่าจำเลยประสงค์เลิกสัญญาตามหนังสือขอคำยืนยันเอกสารหมาย จ.7 จำเลยไม่ตอบหนังสือโจทก์โจทก์จึงมีหนังสือถึงจำเลยขอให้คืนเงินพร้อมดอกเบี้ยรวมทั้งค่าเสียหาย ตามหนังสือชดใช้ค่าเสียหาย คืนสู่สภาพเดิมเอกสารหมาย จ.9 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่าสัญญาว่าจ้างงานสถาปัตยกรรมห้องชุดและควบคุมงาน และสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดอาคารชุด ระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันแล้วหรือไม่ และจำเลยจะต้องชดใช้เงินที่ได้รับไว้ให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่าตามสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดอาคารชุดเอกสารหมาย จ.3 (ล.3) ข้อ 3.3 กำหนดว่า หลังจากวันทำสัญญาแล้วผู้จะซื้อสัญญาว่าจะชำระเงินค่าซื้อขายระหว่างการก่อสร้างโครงการอีก 25 งวด งวดละ 183,000 บาท โดยจะผ่อนชำระทุกวันที่ 30ของเดือนติดต่อกันโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2533 เป็นต้นไปได้ความว่าโจทก์มิได้ชำระเงินตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เมื่อตามที่ปฏิบัติต่อกันโจทก์ชำระค่างวดล่วงเลยเวลาที่กำหนด จำเลยก็ยอมรับเงินนั้นตลอดมา ไม่ได้มีการทักท้วงหรือให้จ่ายเบี้ยปรับตามสัญญาข้อ 5.8 แต่อย่างใดแสดงว่าคู่สัญญามิได้มีเจตนาถือเอากำหนดเวลาการชำระค่างวดเป็นสาระสำคัญ แม้โจทก์จะผิดสัญญาในข้อนี้ จำเลยก็จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญายังมิได้ แต่จะต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 เสียก่อนการที่จำเลยได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ตามหนังสือแจ้งริบเงินมัดจำและบอกเลิกสัญญาเอกสารหมาย จ.11 (ล.7) นั้น เป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาแก่โจทก์ เมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยเพื่อขอให้ยืนยันว่าจะปฏิบัติตามสัญญาหรือจะเลิกสัญญาแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ตอบแจ้งมาภายใน 10 วัน จะถือว่าจำเลยประสงค์เลิกสัญญาตามหนังสือขอคำยืนยันเอกสารหมาย จ.7 และจำเลยไม่ตอบไปให้โจทก์ทราบ แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาจะเลิกสัญญาอยู่ การที่โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยว่า เมื่อจำเลยไม่ประสงค์ที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่อไปจำเลยจึงต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยรวมทั้งค่าเสียหายตามหนังสือชดใช้ค่าเสียหาย คืนสู่สภาพเดิมเอกสารหมาย จ.9 นั้นถือได้ว่าโจทก์แสดงเจตนาสนองตอบตกลงเลิกสัญญาแก่จำเลยแล้วสัญญาว่าจ้างงานสถาปัตยกรรมห้องชุดและควบคุมงาน และสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดอาคารชุดระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นอันเลิกกันโดยความตกลงของคู่สัญญา ผลของการเลิกสัญญาโดยความตกลงของคู่สัญญาเช่นนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าคู่สัญญาได้มีการตกลงกันไว้ประการใดก็ต้องให้คู่สัญญาได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยอนุโลม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 การที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยจึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้พร้อมด้วยดอกเบี้ยคิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ สำหรับดอกเบี้ยที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้อัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญานั้น เห็นว่า อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15ต่อปี ตามสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดอาคารชุดเอกสารหมาย จ.3(ล.3) นั้นใช้บังคับสำหรับกรณีที่มีการผิดสัญญาและคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิเลิกสัญญา แต่การเลิกสัญญาโดยความตกลงของคู่สัญญาโดยไม่ได้มีการผิดสัญญา และคู่สัญญามิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยประการใด เงินที่ได้ชำระกันตามสัญญาผู้รับเงินจึงต้องคืนเงินนั้นพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่เวลาที่ได้รับไว้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน