คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4321/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะที่จำเลยที่1ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่2เพื่อนำเงินไปไถ่ถอนจำนองจำเลยที่1เป็นหนี้ธนาคารอยู่469,828.63บาทในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่2จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้แก่ธนาคารต่ออีกในวงเงิน470,000บาทราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่1มีราคาท้องตลาดไม่ต่ำกว่า600,000บาทเมื่อจำเลยที่1โอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่2ในราคา470,000บาทโดยจำเลยที่2ไม่ได้ชำระราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่1เพียงแต่จำเลยที่2ชำระค่าดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารและค่าธรรมเนียมต่างๆเท่านั้นหากจำเลยที่1ไม่โอนขายให้แก่จำเลยที่2โจทก์จะสามารถบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่1โดยธนาคารซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำนองจะได้รับชำระหนี้ก่อนตามที่จำเลยที่1เป็นหนี้อยู่469,828.63บาทเงินส่วนที่เหลือหลังจากชำระหนี้จำนองให้ธนาคารแล้วโจทก์ก็สามารถที่จะรับชำระหนี้จากเงินส่วนที่เหลือนี้ได้แม้จะได้ไม่ครบเต็มจำนวนหนี้ก็ตามการกระทำของจำเลยที่1ถือได้ว่าการกระทำโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เสียเปรียบและจำเลยที่2ได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบถือได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อฉลโจทก์โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา237

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันฉ้อฉลโจทก์ โดยจำเลยที่ 1โอนขายที่ดินตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 2217 พร้อมอาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเจตนาที่จะย้ายไปเสียเพื่อซ่อนเร้น เพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนอันเป็นการกระทำโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ เพราะนอกจากทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันโอนขายไปแล้วจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะบังคับคดีได้อีก ขอให้เพิกถอนนิติกรรมโอนขายที่ดินตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 2217ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 โอนขายทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จริง สาเหตุที่ขายเนื่องจากทรัพย์พิพาทติดจำนองธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาปาดังเบซาร์ ก่อนที่จำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์ ต่อมาธนาคารได้เร่งรัดให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้จำนองมิฉะนั้นจะฟ้องบังคับจำนอง จำเลยที่ 1 จึงจำเป็นต้องขายทรัพย์พิพาทเงินที่ขายได้มีจำนวนพอดีที่จะชำระหนี้เท่านั้น และธนาคารในฐานะเจ้าหนี้จำนองผู้มีบุริมสิทธิพิเศษมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนอยู่แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ขายทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการฉ้อฉลโจทก์ อันทำให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ธรรมดาต้องเสียเปรียบอีกทั้งจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอื่นที่โจทก์ยังพอบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ในขณะที่ซื้อทรัพย์พิพาทจำเลยที่ 2ไม่ได้รู้ถึงการเป็นหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2ได้เสียค่าตอบแทนให้แก่จำเลยที่ 1 ตามราคาท้องตลาดโดยสุจริตไม่ได้คบคิดกันฉ้อฉลโจทก์ จึงไม่เป็นเหตุให้โจทก์เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายนี้ได้ อีกทั้งโจทก์ชอบที่จะบังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ได้อีกขอให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยทั้งสองแถลงไม่สืบพยาน โดยขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยคดีตามพยานหลักฐานเท่าที่ปรากฎในคดีอาญาหมายเลขดำที่1264/2536 ของศาลแขวงสงขลา
ศาลชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมโอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2217 ตำบลปาดังเบซาร์อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 25 มกราคม 2536
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่24 ธันวาคม 2535 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์จำนวน 800,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยคดีถึงที่สุด จำเลยที่ 1เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 2217 ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัดสาขาปาดังเบซาร์ ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะเป็นหนี้โจทก์ เมื่อวันที่25 มกราคม 2536 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว แล้วจดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพี่สามีจำเลยที่ 1 และในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในแก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองเจตนาที่จะมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ และจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว นอกจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1 โอนขายแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่พึงยึดมาชำระหนี้ได้ เห็นว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 2 เพื่อไถ่ถอนจำนอง จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ธนาคารอยู่469,828.63 บาท ในวันเดียวกันนั้น จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้แก่ธนาคารต่ออีกในวงเงิน 470,000 บาท เกี่ยวกับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนี้ โจทก์มีนายธีรคนธ์ สุธีรวณิชย์ผู้จัดการธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาปาดังเบซาร์ เบิกความว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1ธนาคารประเมินราคาตามราคาท้องตลาด 600,000 บาท นายธีรคนธ์เป็นพยานคนกลางและเป็นผู้จัดการธนาคารที่รับจำนองจะต้องทราบเกี่ยวกับราคาทรัพย์ที่จะมาจำนองใกล้เคียงกับราคาที่แท้จริงเพื่อที่จะพิจารณาจำนวนเงินที่จะให้กู้โดยธนาคารจะพิจารณาให้กู้ในอัตราร้อยละ 80 ของราคาหลักทรัพย์ ซึ่งปรากฎว่าธนาคารพิจารณาให้จำเลยที่ 1 กู้เงินไปในวงเงิน 480,000 บาท เท่ากับตีราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างราคา 600,000 บาท แสดงว่าราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 มีราคาท้องตลาดไม่ต่ำกว่า 600,000บาท เมื่อจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 2ในราคา 470,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.8 โดยจำเลยที่ 2ไม่ได้ชำระราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 1เพียงแต่จำเลยที่ 2 ชำระค่าดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เท่านั้นหากจำเลยที่ 1 ไม่โอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์จะสามารถบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1โอนธนาคารซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำนองจะได้รับชำระหนี้ก่อนตามที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้อยู่ 469,828.63 บาท ตามเอกสารหมาย จ.17 เงินส่วนจากเงินส่วนที่เหลือนี้ได้แม้จะได้ไม่ครบเต็มจำนวนหนี้ก็ตามการกระทำของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เสียเปรียบที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 1ยังมีทรัพย์สินอื่นพอที่จะให้บังคับคดีได้ แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้นำสืบว่ามีทรัพย์สินอย่างไรบ้าง พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 จึงขาดน้ำหนักไม่น่าเชื่อ มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 2ได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นพี่สามีจำเลยที่ 1 ย่อมจะต้องทราบถึงฐานะการเงินของจำเลยที่ 1 เป็นอย่างดี อีกทั้งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยไม่มีการชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 และหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ก็ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินดังกล่าวพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า จำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 2 เพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดีเท่านั้น หากจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยสุจริตแล้ว จำเลยที่ 2 ก็น่าที่จะแสวงหาผลประโยชน์จากที่ดินและบ้านที่ซื้อมาไม่ใช่ปล่อยให้จำเลยที่ 1 ได้อยู่อาศัยต่อมาโดยไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 2 ได้ผลประโยชน์ตอบแทนคุ้มกับค่าดอกเบี้ยที่เสียไปหรือไม่ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อมากกว่าพยานจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อฉลโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้ บังคับคดี ไป ตาม คำพิพากษา ศาลชั้นต้น

Share