คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4238/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่1ทำสัญญาซื้อขายกุ้งจากโจทก์ขณะที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่1เด็ดขาดสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1ย่อมเป็นนิติกรรมที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา22,24เพราะเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่1แล้วอำนาจในการจัดการทรัพย์สินย่อมตกเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวจำเลยที่1ไม่มีอำนาจกระทำการใดๆเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตนเว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นของศาลเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้จัดการทรัพย์หรือที่ประชุมเจ้าหนี้เท่านั้นสัญญาซื้อขายอาหารกุ้งระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา150ไม่มีผลบังคับสัญญาที่โจทก์กับจำเลยที่1ตกลงขยายระยะเวลาชำระราคาค่าอาหารกุ้งที่ทำขึ้นระหว่างนั้นก็ตกเป็นโมฆะเช่นกันสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่2และที่3ที่ค้ำประกันหนี้ที่ขยายเวลาชำระนั้นจึงไม่อาจมีขึ้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา681โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสามรับผิดชำระค่าอาหารกุ้งไม่ได้ คดีเป็นการฟ้องให้ชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้แม้จำเลยที่1มิได้อุทธรณ์ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยและพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่1ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา245(1)ประกอบด้วยมาตรา247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ซื้ออาหารกุ้งไปจากโจทก์เป็นเงิน705,450 บาท เมื่อถึงกำหนดชำระเงินจำเลยที่ 1 ได้ชำระให้แก่โจทก์เพียง 105,450 บาท ที่เหลืออีก 600,000 บาท ได้ทำหนังสือขอผ่อนผันชำระหนี้พร้อมสั่งจ่ายเช็ค ฉบับละ 300,000 บาท จำนวน 2 ฉบับเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกัน ปรากฏว่าธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับ ขอให้จำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 642,500 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ถูกศาลจังหวัดจันทบุรีมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2535และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลงประกาศคำสั่งในราชกิจจานุเบกษาฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2536 แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจกระทำการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตน หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน600,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่30 ธันวาคม 2535 ศาลจังหวัดจันทบุรีได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาด ตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย ล.2เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ประกาศคำสั่งเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์2536 โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2536เพื่อให้เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ตามสำเนาประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกสารหมาย ล.4 เมื่อวันที่21 ธันวาคม 2536 จำเลยที่ 1 ซื้ออาหารกุ้งไปจากโจทก์เป็นเงิน705,450 บาท ตกลงชำระราคากันในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2537ตามใบส่งสินค้าเอกสารหมาย จ.5 ถึงกำหนดจำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์เพียง 105,450 บาท ที่เหลืออีก 600,000 บาท ขอชำระให้ในเดือนมีนาคม 2537 จำนวน 300,000 บาท และในเดือนเมษายน 2537จำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีจำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน และจำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนตรีรัตน์ ฉบับละ 300,000 บาทจำนวน 2 ฉบับ ให้แก่โจทก์ไว้เพื่อชำระหนี้ดังกล่าว ตามหนังสือขอเลื่อนการชำระหนี้เอกสารหมาย จ.4 และหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 จ.3 ต่อมาเช็คถึงกำหนดโจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้เพราะธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสองฉบับในวันที่ 26 มกราคม 2538ศาลจังหวัดจันทบุรีได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลายคดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยว่า สัญญาซื้อขายอาหารกุ้งระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1ทำสัญญาซื้อขายอาหารกุ้งจากโจทก์ขณะที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้ว สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ย่อมเป็นนิติกรรมที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 22, 24 แห่งพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 เพราะตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 แล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินย่อมตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทำการตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้เท่านั้น ดังนี้ สัญญาซื้อขายอาหารกุ้งระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150ไม่มีผลบังคับจำเลยที่ 1 สัญญาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงขยายระยะเวลาชำระราคาค่าอาหารกุ้งตามหนังสือขอเลื่อนการชำระหนี้เอกสารหมาย จ.4 ที่ทำขึ้นในระหว่างนั้นก็ย่อมตกเป็นโมฆะเช่นกันสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามเอกสารหมายจ.2 จ.3 ที่ค้ำประกันหนี้ที่ขยายเวลาชำระดังกล่าว จึงไม่อาจมีขึ้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสามรับผิดชำระราคาค่าอาหารกุ้งแก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายและสัญญาค้ำประกันไม่ได้ คดีนี้เป็นการฟ้องให้ชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ขึ้นมาศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยและพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบด้วยมาตรา 247 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง

Share