แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การขอขยายหรือย่นระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา23ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา15จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลได้มีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้นเว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่9กันยายน2537วันที่ครบกำหนด1เดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้โจทก์ฟ้องคือวันที่9ตุลาคม2537เป็นวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดทำการดังนั้นวันสุดท้ายที่โจทก์มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คือวันที่10ตุลาคม2537โจทก์มีเวลาเพียงพอที่จะเสนอความเห็นให้อัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ได้ทันกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแต่โจทก์เพิ่งยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนครบกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์เพียง3วันอ้างว่าต้องเสนออัยการสูงสุดรับรองอุทธรณ์ทั้งที่ปรากฏว่าเป็นคดีที่ไม่มีข้อเท็จจริงยุ่งยากซับซ้อนจำเลยก็ให้การรับสารภาพข้ออ้างของโจทก์ถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 4, 6, 8, 61, 73 จำเลยให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวงพ.ศ. 2535 มาตรา 61, 73 จำคุก 4 เดือน และปรับ 6,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 2 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี โดยได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2537วันที่ 7 ตุลาคม 2537 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 15 วัน นับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2537 อ้างว่าโจทก์ไม่อาจยื่นอุทธรณ์ได้ทันเพราะต้องเสนออัยการสูงสุดให้รับรองอุทธรณ์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีพฤติการณ์พิเศษอันควรอนุญาตให้ยกคำร้อง
โจทก์ อุทธรณ์ คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การขอขยายหรือย่นระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลได้มีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2537 วันที่ครบกำหนด 1 เดือนนับแต่วันศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้โจทก์ฟัง คือวันที่ 9 ตุลาคม2537 เป็นวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดทำการ ดังนั้น วันสุดท้ายที่โจทก์มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ คือวันที่ 10 ตุลาคม 2537 โจทก์มีเวลาเพียงพอที่จะเสนอความเห็นอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ได้ทันกำหนดระยะเวลาดังกล่าว แต่โจทก์เพิ่งยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนครบกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์เพียง 3 วัน อ้างว่าต้องเสนออัยการสูงสุดรับรองอุทธรณ์ ทั้งที่ปรากฏว่าเป็นคดีที่ไม่มีข้อเท็จจริงยุ่งยากซับซ้อน จำเลยก็ให้การรับสารภาพ ข้ออ้างของโจทก์ถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้
พิพากษายืน