คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1965/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กรรมการผู้จัดการหรือกรรมการนิติบุคคลเป็นผู้แสดงออกซึ่งการกระทำของนิติบุคคล หากร่วมกับนิติบุคคลออกเช็คหรือสลักหลังเช็คโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คต้องถือว่าเป็นตัวการกระทำผิดร่วมกับนิติบุคคลนั้นด้วย ทั้งนี้ไม่ว่ากรรมการจะอยู่ในตำแหน่งในวันที่เช็คนั้นถึงกำหนดหรือไม่ก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามฟ้องศาลอุทธรณ์แก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามฟ้องด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกาเป็นประการแรกว่าวันออกเช็คตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 คือวันที่ลงในเช็ค จำเลยที่ 2 ที่ 3 ถูกปลดออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ก่อนวันที่ลงในเช็คพิพาท จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 กระทำผิดร่วมกับบริษัทจำเลยที่ 1 เพราะขณะเกิดการกระทำผิดจำเลยที่ 2 ที่ 3 มิได้เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า กรรมการผู้จัดการหรือกรรมการของนิติบุคคลเป็นผู้แสดงออกซึ่งการกระทำของนิติบุคคล หากรวมกับนิติบุคคลออกเช็คหรือสลักหลังเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น หรือในขณะที่ออกเช็คไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ กรรมการผู้จัดการหรือกรรมการของนิติบุคคลผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายหรือสลักหลังเช็คต้องถือว่าเป็นตัวการกระทำผิดร่วมกับนิติบุคคลนั้นด้วยเพราะการที่เช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงินนั้นเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของกรรมการผู้แทนนิติบุคคล ทั้งนี้ไม่ว่ากรรมการของนิติบุคคลนั้นจะอยู่ในตำแหน่งในวันที่เช็คนั้นถึงกำหนดชำระเงินหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นเมื่อเช็คพิพาทถูกปฏิเสธการจ่ายเงินจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า บริษัทโจทก์ผู้ทรงเช็คพิพาท มีนายเด่นศักดิ์ ประติธนายุทธ์ เป็นกรรมการผู้จัดการ กรรมการชุดใหม่ของบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นญาติและอยู่ภายใต้การควบคุมของนายเด่นศักดิ์ ขณะเช็คพิพาทถึงกำหนดชำระเงิน บริษัทจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินพอชำระเงินตามเช็คพิพาทได้ กรรมการชุดใหม่ของจำเลยที่ 1 ไม่นำเงินไปเข้าบัญชีเพื่อให้ใช้เงินตามเช็คพิพาท แต่นำเงินของบริษัทจำเลยที่ 1 ไปเข้าบัญชีซึ่งเปิดใหม่ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาเอกมัย ตามสำเนาบัญชีกระแสรายวัน เอกสารหมาย ล.3 เพื่อให้เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยประสงค์จะดำเนินคดีให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้รับโทษถึงจำคุก ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 2ที่ 3 เป็นกรรมการบริหารของบริษัทจำเลยที่ 1 ในขณะออกเช็คพิพาทจึงเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีอำนาจเต็มที่ในการบริหารงานของบริษัทจำเลยที่ 1 และปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่าขณะจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1บริษัทจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่หลายล้านบาทและจากคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ว่า ก่อนที่จำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 บริษัทจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์และบุคคลภายนอกรวมกันเกือบสิบล้านบาท ดังนั้นฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ว่าขณะเช็คพิพาทถึงกำหนดชำระเงินบริษัทจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ตามเช็คพิพาทจึงฟังไม่ขึ้น แม้ว่ากรรมการชุดใหม่ของบริษัทจำเลยที่ 1 จะไปเปิดบัญชีกระแสรายวันในนามของบริษัทจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.3 แต่ยอดเงินคงเหลือในวันที่เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับถึงกำหนดมีจำนวนน้อยกว่าจำนวนเงินในเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับรวมกัน อีกทั้งเป็นคนละบัญชีกันไม่เกี่ยวกับบัญชีกระแสรายวันเดิมที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 เปิดในนามของบริษัทจำเลยที่ 1เมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากมีคำสั่งห้ามธนาคารจ่ายเงิน และไม่มีเงินฝากในบัญชีของบริษัทจำเลยที่ 1ที่จะจ่ายตามเช็คพิพาทเนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินเกินบัญชีเกินวงเงินที่มีสิทธิเบิกได้อยู่แล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 ย่อมมีความผิดตามฟ้องด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share