คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2763/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ส. เจ้าของเรือของกลางทำสัญญาประกันเรือต่อโจทก์ขอรับเรือของกลางไปเก็บรักษาไว้ในระหว่างคดีโดยมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันส. ต่อโจทก์สัญญาประกันเรือทำขึ้นที่กรุงเทพมหานครและส.รับเรือของกลางไปจากท่าเทียบเรือกรมศุลกากรที่กรุงเทพมหานครเมื่อโจทก์เรียกให้ส่งมอบเรือของกลางส. และจำเลยจะต้องนำเรือของกลางไปส่งมอบยังที่ที่เรือของกลางจอดอยู่ในขณะทำสัญญาประกันเรือคือท่าเทียบเรือกรมศุลกากรจำเลยขอส่งมอบของกลางแก่โจทก์ที่จังหวัดภูเก็ตโดยโจทก์ไม่ยอมรับไม่ได้ สัญญาประกันเรือมีข้อตกลงว่าระหว่างที่ผู้ประกันนำเรือของกลางไปเก็บรักษาถ้าเกิดการชำรุดเสียหายหรือสูญหายไม่สามารถส่งมอบให้โจทก์ในสภาพเดิมผู้ประกันยินยอมชดใช้เงินจนเต็มราคาที่ประกันไว้คือ1,000,000บาทซึ่งเงินจำนวน1,000,000บาทดังกล่าวเป็นจำนวนเงินที่ประกันไว้มิใช่ราคาเรือของกลางเมื่อส. ผิดสัญญาประกันเรือจึงต้องใช้เงินตามที่ประกันไว้แก่โจทก์จำนวน1,000,000บาทมิใช่ใช้ตามราคาเรือของกลางจำเลยซึ่งเป็นผู้คำประกันส. โดยยอมรับผิดเช่นเดียวกับส. ผู้ประกันจึงต้องรับผิดต่อโจทก์1,000,000บาทด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายสมชัย รุ่งฤทธิเดช ซึ่งเป็นเจ้าของเรือของกลางที่โจทก์ยึดไว้ในคดีอาญาได้ทำสัญญาประกันเรือต่อโจทก์เพื่อขอรับเรือของกลางไปเก็บรักษาไว้ในระหว่างคดี โดยมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมานายสมชัยผิดสัญญาประกันเรือและจำเลยผิดสัญญาค้ำประกันไม่นำเรือมาส่งมอบคืนแก่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ยอมรับมอบเรือของกลางที่จังหวัดภูเก็ตตามที่จำเลยขอส่งมอบแล้ว จำเลยจึงไม่ผิดสัญญา เรือของกลางมีราคาประเมินไม่เกิน 400,000 บาท โจทก์จึงเรียกให้จำเลยชดใช้เงิน 4,000,000 บาท ไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2528จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ โดยคิดดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง(22 มีนาคม 2533) ไม่เกินจำนวน 323,333.26 บาท
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 600,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน2528 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ และ จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2524 เจ้าหน้าที่ศุลกากรฝ่ายปราบปรามจับนายสุชาติหรือชูชาติ เจ๊ะดูหมัน กับพวก ในข้อหาลักลอบนำไม้สักแปรรูปหลบหนีศุลกากรออกนอกราชอาณาจักร พร้อมกับยึดไม้สักแปรรูปและเรือยนต์หมายเลขทะเบียน สส.1119 ชื่อเรือรุ่งมณี 4 เป็นของกลางส่งให้โจทก์ทำการสอบสวนดำเนินคดีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2524 นายสมชัย รุ่งฤทธิเดช เจ้าของเรือของกลางได้ยื่นหนังสือขอประกันเรือของกลางต่อโจทก์เพื่อนำไปเก็บรักษาไว้ในระหว่างคดี โจทก์ยินยอมให้ประกันโดยจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันนายสมชัยต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.4 นายสมชัยจึงรับเรือของกลางไปจากกรมศุลกากร ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกนายสุชาติโดยให้ริบของกลาง และคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงมีหนังสือถึงจำเลยให้ติดตามผู้ประกันนำเรือของกลางมาส่งมอบแก่โจทก์ และถึงนายสมชัยให้ส่งมอบเรือของกลางแก่โจทก์ แต่นายสมชัยมิได้นำเรือของกลางไปส่งมอบให้แก่โจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประกาศแรกว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาค้ำประกันโดยยังมิได้ส่งมอบเรือของกลางให้แก่โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์แสดงเจตนาส่งมอบเรือของกลางเพื่อให้โจทก์รับมอบที่จังหวัดภูเก็ต ตามเอกสารหมาย ล.1 และโจทก์ยอมรับมอบเรือของกลางที่จังหวัดภูเก็ตแล้วต่อมาโจทก์จึงมีหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากรให้มอบหมายตัวแทนไปรับมอบเรือของกลางที่ด่านศุลกากรจังหวัดภูเก็ต ตามเอกสารหมาย ล.2หรือ จ.10 แต่กรมศุลกากรไม่ยอมให้ความร่วมมือกับโจทก์ โจทก์จึงปฏิเสธไม่ยอมรับมอบเรือของกลางที่จังหวัดภูเก็ต โดยให้จำเลยส่งมอบที่กรุงเทพมหานคร การกระทำของโจทก์เป็นการผิดสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 กับจำเลยเพราะตามสัญญาค้ำประกันไม่มีข้อความระบุไว้ว่าให้จำเลยส่งมอบเรือของกลางให้แก่โจทก์ที่ท่าจอดเรือกรมศุลกากร กรุงเทพมหานคร การรับมอบเรือของกลางจึงทำได้ที่กรุงเทพมหานครหรือที่จังหวัดภูเก็ต เห็นว่า เมื่อสัญญาประกันเรือเอกสารหมาย จ.4 ทำขึ้นที่กองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากรซึ่งตั้งอยู่กรุงเทพมหานครและขณะทำสัญญาเรือของกลางจอดอยู่ที่ท่าเทียบเรือกรมศุลกากร ดังนี้ เมื่อโจทก์เรียกให้นายสมชัยผู้ประกันเรือส่งมอบเรือ นายสมชัยจะต้องนำเรือไปส่งมอบยังสถานที่ที่เรือของกลางจอดอยู่ในขณะทำสัญญา คือท่าเทียบเรือศุลกากรแต่ตามเอกสารหมาย ล.1 เป็นการขอส่งมอบเรือที่จังหวัดภูเก็ต โดยอ้างเหตุผลที่ไม่สามารถนำเรือเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครได้ และขอให้โจทก์ประสานกับกรมศุลกากรเพื่อขอให้รับเรือของกลางที่ด่านศุลกากรจังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้โจทก์ยังส่งอ้างเอกสารหมายจ.9 ซึ่งเป็นบันทึกข้อความของจำเลยที่มีถึงโจทก์ซึ่งมีข้อความทำนองเดียวกันกับเอกสารหมาย ล.1 ว่าขอส่งมอบเรือที่ด่านศุลกากรจังหวัดภูเก็ต ตามเอกสารหมาย ล.1 และจ.9 นี้ แสดงว่าจำเลยเองก็รู้อยู่แก่ใจว่าการส่งมอบเรือของกลางให้โจทก์นั้น จะต้องนำไปส่งมอบที่ท่าเทียบเรือกรมศุลกากรซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานครตามเอกสารหมาย ล.2 หรือ จ.10 ที่จำเลยว่าโจทก์ยอมรับมอบเรือของกลางจากจำเลยแล้วนั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้อความที่แสดงว่าโจทก์ยอมให้จำเลยส่งมอบเรือของกลางที่จังหวัดภูเก็ตและยอมรับมอบเรือไว้แล้วดังที่จำเลยกล่าวอ้าง แต่หนังสือตามเอกสารหมาย ล.2 หรือล.10 ดังกล่าว เป็นข้อความที่โจทก์แจ้งให้อธิบดีกรมศุลกากรทราบว่าจำเลยได้อายัดเรือของกลางไว้ที่จังหวัดภูเก็ต พร้อมที่จะส่งมอบให้โจทก์ ณ ที่ทำการโจทก์ ณ ที่ทำการที่อายัดไว้เพื่อความสะดวกถ้ารับมอบเรือของกลาง ณ สถานที่อายัด จะเป็นการดีกว่าที่จะนำมาส่งมอบให้ ณ ที่ทำการของกรมศุลกากร กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหนังสือที่โจทก์แสดงความคิดเห็นและขอความอนุเคราะห์ให้กรมศุลกากรไปรับมอบเรือของกลาง ตามที่จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ขอส่งมอบเรือของกลางที่จังหวัดภูเก็ต และขอให้โจทก์ประสานกับกรมศุลกากรเพื่อกรุณารับมอบเรือของกลางที่จังหวัดภูเก็ตตามเอกสารหมาย ล.1เท่านั้น นอกจากเอกสารดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังส่งอ้างเอกสารโต้ตอบระหว่างโจทก์จำเลยอีกหลายฉบับจำเลยอีกหลายฉบับเกี่ยวกับการขนส่งมอบเรือของกลางที่จังหวัดภูเก็ตและขอให้โจทก์แจ้งกรมศุลกากรพิจารณาขายทอดตลาดเรือของกลางที่จังหวัดภูเก็ตตามเอกสารดังกล่าวล้วนแสดงให้เห็นว่านายสมชัยหรือจำเลยยังมิได้ทำการส่งมอบเรือให้โจทก์ตามสัญญา ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาค้ำประกัน จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญา ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปตามฎีกาโจทก์จำเลยมีว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด จำเลยฎีกาในข้อนี้ว่า แม้หากจะฟังว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่ขณะทำสัญญาค้ำประกันกรมศุลกากรตีราคาเรือของกลางไว้เป็นเงิน 400,000 บาท เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดราคาเรือของกลางเป็นเงิน 600,000 บาท เป็นการขัดกับราคาเรือที่ตีราคาไว้ดังกล่าว ดังนั้นหากจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ก็ต้องไม่เกิน 400,000 บาท ส่วนโจทก์ฎีกาในข้อนี้ว่าตามสัญญาประกันเรือเอกสารหมาย จ.4 ระบุไว้ชัดแจ้งว่าหากไม่สามารถนำเรือของกลางส่งมอบให้โจทก์ได้ ผู้ประกันยินยอมชดใช้เงินจนเต็มราคาที่ประกันไว้คือ 1,000,000 บาท จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันนายสมชัยจะต้องรับผิดเช่นเดียวกันกับผู้ประกันทุกประการคือต้องรับผิดชดใช้เงินจนเต็มราคาที่ประกันไว้คือ1,000,000 บาท เห็นว่า ตามสัญญาประกันเรือ ข้อ 1 ระบุไว้ชัดแจ้งว่า “ระหว่างที่ผู้ประกันนำเรือของกลางไปเก็บรักษา ถ้าเกิดการชำรุดเสียหายหรือสูญหาย หากไม่สามารถนำส่งมอบให้โจทก์ในสภาพเดิม ผู้ประกันยินยอมชดใช้เงินจนเต็มราคาที่ประกันไว้คือ1,000,000 บาท” ดังนั้นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท จึงเป็นจำนวนเงินที่ประกันไว้ มิใช่ราคาเรือของกลาง อย่างไรก็ตามในชั้นพิจารณาจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าเรือของกลางขณะจำเลยทำการอายัดไว้นั้นมีราคาประมาณ 3,000,000 บาท แสดงให้เห็นว่าเรือของกลางมีราคาสูงกว่าจำนวนเงินที่ประกันไว้ถึง 2,000,000 บาท เมื่อนายสมชัยต้องรับผิดชดใช้เงินที่ประกันไว้จำนวน 1,000,000 บาทจำเลยซึ่งค้ำประกันนายสมชัยโดยยอมรับผิดเช่นเดียวกับผู้รับประกันทุกประการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 1,000,000 บาท ตามสัญญา ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยได้พยายามติดตามค้นหาเรือของกลางมาส่งมอบโจทก์โดยมิได้บิดพริ้วและลดค่าเสียหายให้จำเลย400,000 บาท นั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย เพราะจำเลยยังไม่ได้นำเรือของกลางส่งมอบให้แก่โจทก์ จึงไม่มีเหตุที่จะลดจำนวนเงินที่ประกันให้แก่จำเลยฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกันส่วนฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share