คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 522/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.รัษฎากร มาตรา 70 (2) มีเจตนารมณ์มุ่งเก็บภาษีเงินได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ทั้งนี้เพราะเป็นเงินที่ได้จากการประกอบกิจการในประเทศไทยในกรณีของโจทก์คดีนี้ บริษัทโจทก์ในประเทศญี่ปุ่นได้กู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศญี่ปุ่นเพื่อส่งมาใช้จ่ายในกิจการของบริษัทโจทก์สาขาในประเทศไทยโดยเฉพาะ และเมื่อโจทก์สาขาในประเทศไทยประกอบกิจการมีรายได้แล้วก็จัดส่งไปให้บริษัทโจทก์ที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อใช้คืนเงินต้นและดอกเบี้ยแก่สถาบันการเงินที่ให้กู้ยืมนั้น จึงเห็นได้ว่าเงินที่สถาบันการเงินในประเทศญี่ปุ่นให้กู้ยืมมานั้นก็เพื่อนำมาใช้จ่ายในการประกอบกิจการเพื่อหารายได้ในประเทศไทย เมื่อได้รับดอกเบี้ยจากเงินที่ได้จากการประกอบกิจการในประเทศไทยจึงต้องเสียภาษีเงินได้จากเงินดอกเบี้ยดังกล่าวตามเจตนารมณ์ของ ป.รัษฎากร มาตรา 70 (2)โดยไม่ต้องคำนึงว่าเงินดอกเบี้ยนี้บริษัทโจทก์สาขาในประเทศไทยเป็นผู้ส่งไปชำระให้แก่สถาบันการเงินที่ให้กู้ยืมนั้นโดยตรง หรือบริษัทโจทก์ในประเทศญี่ปุ่นชำระไปก่อนแล้วบริษัทโจทก์สาขาในประเทศไทยจึงส่งคืนไปให้บริษัทโจทก์ในประเทศญี่ปุ่นเพราะไม่ว่าจะชำระโดยวิธีใดก็เป็นการเอาเงินที่ได้จากการประกอบกิจการในประเทศไทยที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) ไปชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ยืมนั่นเอง
เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมพ.ศ.2514 มีว่า เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะเก็บภาษีเงินได้จากผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมตามอัตราและวิธีการพิเศษต่างหากจากภาษีเงินได้ที่เก็บตามป.รัษฎากร ทำให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายว่า เหตุที่มาตรา 13 บัญญัติให้บริษัทจำกัดหรือนิติบุคคลที่มีสภาพเช่นเดียวกับบริษัทจำกัด ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศได้รับยกเว้นภาษีอากรตาม ป.รัษฎากรและภาษีอากรตามกฎหมายอื่นก็เพราะบริษัทหรือนิติบุคคลดังกล่าวต้องเสียภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 อยู่แล้ว และบริษัทหรือนิติบุคคลที่จะต้องเสียภาษีตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวจะต้องเป็นบริษัทหรือนิติบุคคลที่ประกอบกิจการปิโตรเลียมดังที่ปรากฏในเหตุผลแห่งการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ ดังนี้ บริษัทหรือนิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นภาษีอากรตาม ป.รัษฎากรหรือภาษีอากรตามกฎหมายอื่นดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 จะต้องเป็น “บริษัท” ตามคำจำกัดความในมาตรา 4 คือ ต้องเป็นบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม กล่าวคือ (1) ได้รับสัมปทานหรือมีส่วนได้เสียร่วมกันในสัมปทาน หรือ (2) ซื้อน้ำมันดิบที่บริษัทตาม (1) เป็นผู้ผลิตเพื่อส่งน้ำมันดิบนั้นทั้งหมดออกนอกราชอาณาจักร แต่คดีนี้ได้ความว่า สถาบันการเงินในประเทศญี่ปุ่นที่ให้บริษัทโจทก์กู้ยืมเงินนั้น มิใช่เป็น “บริษัท” ตามคำจำกัดความในมาตรา 4 แต่อย่างใด สถาบันการเงินดังกล่าวจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีอากรตาม ป.รัษฎากร เพราะมิฉะนั้นแล้วบริษัทหรือนิติบุคคลธรรมดาทั่ว ๆ ไป ที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรตาม พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 เมื่อมีเงินได้จากบริษัทตามกฎหมายปิโตรเลียมแล้วก็จะไม่ต้องเสียภาษีอากรตามป.รัษฎากรหรือภาษีอากรตามกฎหมายอื่น เท่ากับไม่ต้องเสียภาษีใด ๆ เลยซึ่งกฎหมายย่อมไม่มีเจตนารมณ์เป็นเช่นนั้น ดังนั้นสถาบันการเงินในประเทศญี่ปุ่นที่ให้บริษัทโจทก์กู้ยืมเงินจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 70 (2)

Share