แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทางพิพาทกว้าง3เมตรเกิดขึ้นจากการที่ส. และจำเลยได้ตกลงกันเว้นที่ดินบริเวณที่มีแนวเขตติดกันในที่ดินของแต่ละฝ่ายกว้าง1.50เมตรยาวตลอดแนวเขตที่ดินที่ติดกันเพื่อใช้เป็นทางเข้าออกซอยจรัญสนิทวงศ์46 และทางพิพาทดังกล่าวมีมาตั้งแต่ปี2508บุคคลที่ซื้อที่ดินจากส. ซึ่งรวมทั้งโจทก์ต่างก็ตกลงยอมให้ที่ดินของตนส่วนที่ส. ให้เว้นไว้เป็นทางใช้เป็นทางได้เมื่อโจทก์เข้ามาอยู่ในที่ดินที่ซื้อจากส. และปลูกบ้านอยู่อาศัยมาเป็นเวลา10ปีเศษก็ได้ใช้ทางพิพาทเข้าออกซอยดังกล่าวตลอดมาส่วนจำเลยและบุคคลที่อาศัยอยู่ในที่ดินของจำเลยก็ได้ใช้ทางพิพาทเข้าออกซอยนั้นเช่นเดียวกันข้อตกลงระหว่างส.กับจำเลยเช่นนี้เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ให้อีกฝ่ายหนึ่งใช้ที่ดินของตนเป็นทางได้จึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมายต่อมาเมื่อโจทก์ซื้อที่ดินจากส. ก็ได้ยอมรับข้อตกลงดังกล่าวและหลังจากที่โจทก์เข้ามาปลูกบ้านอยู่ในที่ดินที่ซื้อจากส. โจทก์ก็ได้ใช้ทางพิพาทมาเป็นเวลา10ปีเศษโดยจำเลยไม่เคยโต้แย้งห้ามปรามและจำเลยก็ยังใช้ทางพิพาทซึ่งต้องผ่านที่ดินของโจทก์เหมือนเดิมจึงต้องถือว่าจำเลยได้ตกลงกับโจทก์โดยปริยายให้โจทก์ใช้ทางพิพาทในที่ดินส่วนที่เป็นของจำเลยและให้จำเลยใช้ทางพิพาทในที่ดินส่วนที่เป็นของโจทก์ซึ่งก็เป็นสัญญาต่างตอบแทนเช่นเดียวกับที่จำเลยตกลงกับส. ดังนั้นแม้จะฟังไม่ได้ว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นจำเลยก็จะปิดกั้นทางพิพาทในส่วนที่เป็นที่ดินของจำเลยไม่ให้โจทก์ใช้อันถือว่าเป็นการเลิกสัญญาต่างตอบแทนโดยโจทก์ไม่ยินยอมและไม่ได้กระทำการใดๆที่จะถือว่าโจทก์ผิดสัญญาหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 16757, 16758 และ 16756 ตามลำดับ จำเลยที่ 1ถึงที่ 3 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 8016 จำเลยที่ 4 และที่ 5เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 16760 และ 16759 ตามลำดับ ที่ดินของโจทก์และจำเลยบางคนเดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกันในโฉนดเลขที่2918 ของจำเลยที่ 1 แล้วมีการแบ่งแยกเป็นโฉนดเลขที่ 8016 กับแบ่งแยกออกเป็นแปลงย่อย ๆ ตามเลขโฉนดดังกล่าวข้างต้น ซึ่งในการแบ่งแยกดังกล่าวได้มีการตกลงให้กันที่ดินของโจทก์และจำเลยกว้างคนละ 1.50 เมตร สำหรับใช้เป็นทางเข้าออกเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันทำให้ได้ทางเป็นถนนกว้าง 3 เมตร ยาวตลอดแนวเขตที่ดินของโจทก์และจำเลยเป็นทางเข้าออกสู่ถนนซอยจรัญสนิทวงศ์ 46ซึ่งเป็นทางสาธารณะ โจทก์ทั้งสามได้ใช้ทางดังกล่าวมานานกว่า 10 ปีโดยมีการนำรถยนต์แล่นเข้าออกต่อมาเมื่อเดือนมกราคม 2534 จำเลยที่ 1ถึงที่ 5 ได้ก่อสร้างประตูรั้วเหล็กปิดกั้นทางดังกล่าว ทำให้โจทก์ทั้งสามไม่สามารถใช้ทางดังกล่าวเป็นทางเข้าออกได้และโจทก์ทั้งสามไม่มีทางออกอื่น ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าให้ร่วมกันรื้อถอนประตูรั้วเหล็กที่กีดขวางทางพิพาท ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3เปิดทางในที่ดินโฉนดเลขที่ 8016 ตำบลบางยี่ขัน (บ้านปูน)อำเภอบางกอกน้อย ธนบุรี ให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เปิดทางในที่ดินโฉนดเลขที่ 16760 และ 16759 ตามลำดับตำบลบางพลัด (บ้านปูน) อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครเป็นทางกว้าง 3 เมตร ยาวตลอดแนวจากถนนสาธารณประโยชน์ถึงที่ดินของโจทก์ทั้งสามในฐานะเป็นทางจำเป็น หากจำเลยทั้งห้าไม่ปฏิบัติก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 3ไม่ใช่เจ้าของที่ดินโฉนดตามฟ้อง ที่ดินโฉนดเลขที่ 16756,16757 และ 16758 ไม่ได้แบ่งแยกออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2918แต่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 10268 ของนางสาวสุรภี จันทรสถิตย์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่ดินโฉนดเลขที่8016 ของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ที่ดินของโจทก์ทั้งสามโฉนดตามฟ้องแบะที่ดินของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้เว้นที่ดินไวได้กว้างประมาณ 1.50เมตร สำหรับเป็นทางเดินเข้าออกร่วมกัน จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงให้ใช้ที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นทางเข้าออกและสภาพทางพิพาทเป็นเพียงทางคนเดิน รถยนต์ไม่สามารถเข้าออกได้จำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 8016 ร่วมกับจำเลยที่ 1ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 ยินยอมเว้นที่ดินของจำเลยที่ 4 ให้เป็นทางเข้าออกตามข้อตกลงที่เคยทำไว้กับนางสาวสุรภี จันทรสถิตย์ จำเลยที่ 4 ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องในการปิดทางพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของที่ดินตามฟ้อง จำเลยที่ 5 ได้เว้นที่ดินของจำเลยที่ 5 กว้างประมาณ1.50 เมตรเพื่อใช้เป็นทางเข้าออกสู่ซอยพระยาวรพงษ์ร่วมกับโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 4 แต่จำเลยที่ 5 ไม่เคยตกลงให้ใช้ทางเข้าออกเป็นทางรถยนต์ จำเลยที่ 5 ไม่เคยขัดขวางโจทก์ทั้งสามในการใช้ทางผ่านที่ดินของจำเลยที่ 5 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ศาลชั้นต้นอนุญาต และจำเลยที่ 1 และที่ 5 รับว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิใช้ทางจำเป็นในที่ดินโฉนดเลขที่ 8016 ตำบลบางยี่ขัน (บ้านปูน)เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร (ธนบุรี) ของจำเลยที่ 1ด้านติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 16756 ถึง 16760 กว้าง 1.50 เมตรยาวตลอดแนวจนจดซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 (ซอยพระยาวรพงษ์) และมีสิทธิใช้ทางจำเป็นในที่ดินโฉนดเลขที่ 16759 ของจำเลยที่ 5ด้านติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 8016 ของจำเลยที่ 1 กว้าง 1.50 เมตรยาวตลอดแนวเขตที่ดิน ให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนสิ่งกีดขวางในทางจำเป็น
จำเลยที่ 1 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ ทั้ง สาม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ทางพิพาทซึ่งกว้าง3 เมตรเกิดขึ้นจากการที่นางสาวสุรภีและจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันเว้นที่ดินบริเวณที่มีแนวเขตติดกันในที่ดินของแต่ละฝ่ายกว้าง 1.50 เมตรยาวตลอดแนวเขตที่ดินที่ติดกันเพื่อใช้เป็นทางเข้าออกซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 และทางพิพาทดังกล่าวมีมาตั้งแต่ปี 2508บุคคลที่ซื้อที่ดินจากนางสุรภีซึ่งรวมทั้งโจทก์ทั้งสามต่างก็ตกลงยอมให้ที่ดินของตนส่วนที่นางสาวสุรภีให้เว้นไว้เป็นทางใช้เป็นทางได้ เมื่อโจทก์ทั้งสามเข้ามาอยู่ในที่ดินที่ซื้อจากนางสาวสุรภีและปลูกบ้านอยู่อาศัยมาเป็นเวลา 10 ปีเศษก็ได้ใช้ทางพิพาทเข้าออกซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 ตลอดมาส่วนจำเลยที่ 1 และบุคคลที่อาศัยอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 ก็ได้ใช้ทางพิพาทเข้าออกซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 เช่นเดียวกัน เช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่า ข้อตกลงระหว่างนางสาวสุรภีกับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ให้อีกฝ่ายหนึ่งใช้ที่ดินของตนเป็นทางได้จึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาเมื่อโจทก์ทั้งสามซื้อที่ดินจากนางสาวสุรภีก็ได้ยอมรับข้อตกลงดังกล่าวและหลังจากที่โจทก์เข้ามาปลูกบ้านอยู่ในที่ดินที่ซื้อจากนางสาวสุรภี โจทก์ก็ได้ใช้ทางพิพาทมาเป็นเวลา 10 ปีเศษ โดยจำเลยที่ 1 ไม่เคยโต้แย้งห้ามปราม แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังใช้ทางพิพาทซึ่งต้องผ่านที่ดินของโจทก์ทั้งสามเหมือนเดิม ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1ได้ตกลงกับโจทก์ทั้งสามโดยปริยายให้โจทก์ทั้งสามใช้ทางพิพาทในที่ดินส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ใช้ทางพิพาทในที่ดินส่วนที่เป็นของโจทก์ทั้งสามซึ่งก็เป็นสัญญาต่างตอบแทนเช่นเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับนางสาวสุรภี แม้จะฟังไม่ได้ว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็น จำเลยที่ 1 ก็จะปิดกั้นทางพิพาทในส่วนที่เป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 ไม่ให้โจทก์ทั้งสามใช้อันถือว่าเป็นการเลิกสัญญาต่างตอบแทน โดยโจทก์ทั้งสามไม่ยินยอมและไม่ได้กระทำการใด ๆ ที่จะถือว่าโจทก์ทั้งสามผิดสัญญาหาได้ไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิใช้ทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 8016 ตำบลบางยี้ขัน (บ้านปูน) เขตบางกอกน้อยกรุงเทพมหานคร (ธนบุรี) ของจำเลยที่ 1 ด้านติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 16756 ถึง 16760 กว้าง 1.50 เมตร ยาวตลอดแนวจนจดซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 (ซอยพระยาวรพงษ์) ให้จำเลยที่ 1รื้อถอนสิ่งกีดขวางในทางพิพาทดังกล่าว นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์