คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1777/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาโดยฟังข้อเท็จจริงว่าสัญญาขายฝากเอกสารหมายจ.1ไม่เป็นนิติกรรมอำพรางเมื่อโจทก์อุทธรณ์จำเลยมิได้แก้อุทธรณ์ในเรื่องนี้ไว้ข้อเท็จจริงจึงต้องถือเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว สัญญาขายฝากอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดงระบุกำหนดเวลาไถ่1ปีการที่จำเลยให้การต่อสู้และนำสืบพยานว่าได้มีข้อตกลงให้จำเลยไถ่2ปีจึงเป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94(ข) แม้สัญญาขายฝากระบุว่าขายฝากที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลังวันขายฝากโดยมิได้ระบุว่าตกลงขายฝากบ้านพิพาทไว้ในสัญญาด้วยก็ตามแต่บ้านพิพาทเป็นส่วนควบของที่ดินบ้านพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทันทีที่ได้ทำสัญญาขายฝากตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้โดยผลของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา144วรรคสองจึงถือได้ว่าสัญญาขายฝากดังกล่าวเป็นการขายฝากบ้านพิพาทด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขายฝากที่ดินพร้อมด้วยบ้านเลขที่5/20 ซึ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ และจำเลยอาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าวจำเลยมิได้ไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดในสัญญา ที่ดินและบ้านพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ขอให้บังคับขับไล่จำเลยพร้อมบริวารไปจากที่ดินและบ้านพิพาทและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ทำนิติกรรมขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทจริงตามฟ้อง โดยขณะทำสัญญาโจทก์ตกลงให้จำเลยไถ่ทรัพย์สินนั้นภาย 2 ปี แต่ในสัญญากำหนดเวลาไถ่ 1 ปี ไม่ตรงตามเจตนาที่โจทก์จำเลยได้ตกลงกัน สัญญาขายฝากจึงเป็นนิติกรรมอำพราง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและบ้านพิพาท กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาให้ปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยมีสิทธินำสืบพยานได้ว่าสัญญาขายฝากตามเอกสารหมาย จ.1 มีกำหนดระยะเวลาไถ่ 2 ปี ไม่ใช่ 1 ปีเพราะสัญญาขายฝากดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางนั้น เห็นว่าในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้น (คดีต้องห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริง)ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247 ซึ่งศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงมาว่า สัญญาขายฝากดังกล่าวมิใช่นิติกรรมอำพราง คดีนี้เป็นการขายฝากอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดงเอกสารหลักฐานการขายฝากดังกล่าวระบุกำหนดเวลาไถ่ 1 ปี การที่จำเลยให้การต่อสู้พยานว่าได้มีข้อตกลงให้จำเลยไถ่ 2 ปี จึงเป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารดังกล่าวต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข)
ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายอีกข้อหนึ่งว่า สัญญาขายฝากดังกล่าวเป็นการขายฝากที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลังวันขายฝากไม่ได้ขายฝากบ้านพิพาทด้วยนั้น ปัญหาข้อกฎหมายนี้จำเลยตั้งประเด็นมาในคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยไว้แล้ว แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหานี้ก่อนสัญญาขายฝากดังกล่าวระบุว่า คู่สัญญาตกลงขายฝากที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลังวันขายฝาก โดยมิได้ระบุว่าตกลงขายฝากบ้านพิพาทไว้ในสัญญาด้วยก็ตาม แต่ก็ได้ความว่า คู่กรณีตกลงกันขายฝากที่ดินและบ้านพิพาท และขณะนั้นบนที่ดินพิพาทมีบ้านพิพาทปลูกอยู่ บ้านพิพาทจึงเป็นส่วนควบของที่ดินนั้น แม้คู่สัญญาจะไม่ได้ระบุบ้านพิพาทไว้ในสัญญาก็ตาม บ้านพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทันทีที่ได้ทำสัญญาขายฝากตามแบบที่กฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144 วรรคสอง จึงถือได้ว่าสัญญาขายฝากดังกล่าวเป็นการขายฝากบ้านพิพาทด้วย
ที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาขายฝากตามเอกสาร จ.1 เป็นนิติกรรมอำพรางนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีโดยฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์จำเลยมีเจตนาที่จะทำสัญญาขายฝากกันจริง สัญญาขายฝากเอกสารหมาย จ.1 ไม่เป็นนิติกรรมอำพราง และเมื่อโจทก์อุทธรณ์จำเลยมิได้แก้อุทธรณ์ในเรื่องนี้ไว้ข้อเท็จจริงจึงต้องถือเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า สัญญาขายฝากเอกสารหมาย จ.1 ไม่เป็นนิติกรรมอำพราง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้
พิพากษายืน

Share