คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1418/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามฎีกาของโจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดจึงขอศาลฎีกามีคำสั่งกลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไปแต่ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ปรากฏว่าได้วินิจฉัยเกี่ยวกับปัญหาข้อนี้ด้วยเลยคงมีแต่ศาลชั้นต้นเกษียนสั่งอุทธรณ์ของโจทก์ว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์พ้นกำหนดจึงไม่รับอุทธรณ์คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์ดังนี้จึงเป็นฎีกาที่ซ้ำกับที่กล่าวในอุทธรณ์อันเป็นการคัดค้านเฉพาะคำสั่งศาลชั้นต้นไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องประการใดบ้างเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่20เมษายน2536และโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ในอุทธรณ์เพื่อมาทราบคำสั่งในวันที่27เมษายน2536ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้วต่อมาวันที่21เมษายน2536ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ในเบื้องต้นจึงถือได้ว่าวันที่27เมษายน2536เป็นวันนัดที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้ให้โจทก์มาฟังคำสั่งเกี่ยวกับอุทธรณ์ของโจทก์และถ้าโจทก์ไม่มาก็ให้ถือว่าทราบคำสั่งดังกล่าวโดยชอบแล้วด้วยการที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์แล้วได้ติดตามเพื่อทราบคำสั่งตลอดมาแต่โจทก์ไม่สามารถทราบคำสั่งได้เนื่องจากเจ้าพนักงานศาลแจ้งว่าคำสั่งยังไม่ลงและยังหาสำนวนไม่พบจนกระทั่งวันที่18พฤษภาคม2536เจ้าพนักงานศาลหาสำนวนพบและโจทก์ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ในวันดังกล่าวโจทก์จึงไม่สามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ภายในกำหนดได้นั้นพฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวหาใช่เป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา23ไม่แต่เป็นเพียงกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษดังกล่าวเท่านั้นดังนี้หากโจทก์จะไม่ให้ถือว่าโจทก์ทราบคำสั่งดังกล่าวในวันที่27เมษายน2536โจทก์ก็จะต้องขอขยายระยะเวลาที่กำหนดนัดไว้ในวันที่27เมษายน2536ออกไปก่อนสิ้นระยะเวลาดังกล่าวตามมาตรา23แต่โจทก์หาได้ดำเนินการดังกล่าวไม่จึงต้องถือว่าโจทก์ได้ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ในวันที่27เมษายน2536แล้วดังนี้จึงไม่อาจอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์และมีคำสั่งให้รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไปได้

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 176,720 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2536 ว่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 63,500 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2536 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดอุทธรณ์โจทก์ยื่นอุทธรณ์วันที่ 20 เมษายน 2536 และโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ในอุทธรณ์เพื่อมาทราบคำสั่งในวันที่ 27 เมษายน 2536 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว ต่อมาวันที่ 21 เมษายน 2536 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าครบกำหนดขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์วันที่19 เมษายน 2536 โจทก์ยื่นอุทธรณ์พ้นกำหนด จึงไม่รับอุทธรณ์คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์ แล้วต่อมาวันที่21 พฤษภาคม 2536 โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์และยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวมาด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องขอขยายระยะเวลาว่ายังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง และมีคำสั่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์พ้นกำหนดแล้วจึงไม่รับอุทธรณ์คำสั่ง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า ตามฎีกาของโจทก์ในข้อ 2.1กล่าวอ้างว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 20 เมษายน 2536 เป็นการยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด จึงขอศาลฎีกามีคำสั่งกลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไปแต่ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ปรากฏว่าได้วินิจฉัยเกี่ยวกับปัญหาข้อนี้ด้วยเลย คงมีแต่ศาลชั้นต้นเกษียนสั่งอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ยื่นอุทธรณ์พ้นกำหนด จึงไม่รับอุทธรณ์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์ ดังนี้ จึงเป็นฎีกาที่ซ้ำกับที่กล่าวในอุทธรณ์อันเป็นการคัดค้านเฉพาะคำสั่งศาลชั้นต้นไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องประการใดบ้าง เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับฎีกาของโจทก์ในข้อ 3 นั้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์และยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวมาด้วยนั้น ศาลจะอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งและมีคำสั่งให้รับคำร้องทุกข์คำสั่งไว้พิจารณาต่อไป ดังฎีกาของโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2536และโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ในอุทธรณ์เพื่อมาทราบคำสั่งในวันที่27 เมษายน 2536 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว ต่อมาวันที่21 เมษายน 2536 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ ดังนี้ในเบื้องต้นถือได้ว่าวันที่ 27 เมษายน 2536 เป็นวันนัดที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้ให้โจทก์มาฟังคำสั่งเกี่ยวกับอุทธรณ์ของโจทก์ และถ้าโจทก์ไม่มาก็ให้ถือว่าทราบคำสั่งดังกล่าวโดยชอบแล้วด้วย ที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาว่า เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์แล้วก็ได้ติดตามเพื่อทราบคำสั่งตลอดมา แต่โจทก์ไม่สามารถทราบคำสั่งได้ เนื่องจากเจ้าพนักงานศาลแจ้งว่าคำสั่งยังไม่ลงมาและยังหาสำนวนไม่พบ จนกระทั่งวันที่ 18 พฤษภาคม 2536 เจ้าพนักงานศาลหาสำนวนพบและโจทก์ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ในวันดังกล่าว โจทก์จึงไม่สามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ภายในกำหนดได้ กรณีจึงมีเหตุสุดวิสัยที่โจทก์มิอาจจะก้าวล่วงเข้าไปดำเนินการเองได้ทั้งนั้น เห็นว่าพฤติการณ์ตามฎีกาของโจทก์ดังกล่าวหาใช่เป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ไม่ แต่เป็นเพียงกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษดังกล่าวเท่านั้น ดังนี้ หากโจทก์จะไม่ให้ถือว่าโจทก์ทราบคำสั่งดังกล่าวในวันที่ 27 เมษายน 2536โจทก์ก็จะต้องขอขยายระยะเวลาที่กำหนดนัดไว้ในวันที่ 27 เมษายน2536 ออกไปก่อนสิ้นระยะเวลาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 แต่โจทก์หาได้ดำเนินการดังกล่าวไม่ จึงต้องถือว่าโจทก์ได้ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ในวันที่ 27 เมษายน 2536 แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่าเพิ่งทราบคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2536 จึงไม่อาจรับฟังได้ ศาลจึงไม่อาจอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์และมีคำสั่งให้รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไปดังฎีกาของโจทก์ได้
พิพากษายืน

Share