คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1352/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมีข้อกำหนดห้ามโอนสิบปีนับแต่วันที่25สิงหาคม2520สัญญาขายฝากทำกันเมื่อวันที่14มีนาคม2523จึงอยู่ในระยะเวลาห้ามโอนเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา113เดิมซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นการที่จำเลยทำสัญญาและมอบให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโจทก์ก็หาได้สิทธิครอบครองตามกฎหมายไม่เพราะอยู่ในกำหนดห้ามโอนหลังจากนั้นต่อมาเมื่อพ้นกำหนดห้ามโอนแล้วแม้โจทก์จะได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแต่ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองได้สละสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์แต่อย่างใดกลับได้ความว่าโจทก์ได้ให้เงินจำเลยทั้งสองไปชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่ทุกปีและมิได้ขอให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ถือไม่ได้ว่าภายหลังพ้นกำหนดห้ามโอนแล้วจำเลยทั้งสองสละสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โจทก์จึงไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าการที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกประเด็นเรื่องโจทก์เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทเป็นเจตนายึดถือเพื่อตนยังไม่ครบ1ปีขึ้นวินิจฉัยเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นนั้นกรณีของโจทก์นี้จะได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทต่อเมื่อได้แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทมาจากจำเลยทั้งสองโดยการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือแต่เมื่อโจทก์ฎีกาว่าไม่มีประเด็นนี้เสียแล้วโจทก์ก็ไม่อาจได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดังนั้นแม้การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จะเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นก็ตามแต่ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงทำให้โจทก์ชนะคดีแต่ประการใดฎีกาของโจทก์ในข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2523 จำเลยที่ 1โดยความยินยอมของจำเลยที่ 2 ขายฝากที่ดินตาม น.ส.3 ก.เลขที่ 4078 เนื้อที่ 5 ไร่ 20 ตารางวา และตาม น.ส.3 ก.เลขที่ 4079 เนื้อที่ 4 ไร่ 40 ตารางวา ให้ไว้แก่โจทก์ในราคา20,000 บาท มีกำหนดไถ่ถอนภายใน 7 ปี นับแต่วันทำสัญญา จำเลยทั้งสองได้รับเงินไปครบถ้วน และส่งมอบสิทธิครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ นับแต่วันทำสัญญาเป็นต้นมาโจทก์ได้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของโดยทำนาตลอดมาทุกปี จนกระทั่งครบกำหนดตามสัญญาจำเลยทั้งสองก็ไม่ไถ่ถอนที่ดินคืนโจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองขอผัดผ่อน จนกระทั่งวันที่ 6 มิถุนายน 2535 จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกนำรถไถนาเข้าไปไถหว่านเมล็ดพันธุ์พืชและห้ามมิให้โจทก์เข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการจงใจกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดรายได้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวได้ ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 4078 และเลขที่ 4079 ตำบลบ้านไร่อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองและให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายในอัตราปีละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะออกไปจากที่ดินดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินตามฟ้องทั้งสองแปลงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำสัญญาขายฝากและไม่ได้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ไปขายฝากแก่โจทก์สัญญาขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ตกเป็นโมฆะเพราะไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายจึงใช้บังคับจำเลยทั้งสองไม่ได้ ความจริงเมื่อปี 2523 จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์จำนวน 20,000 บาท โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันว่า ให้โจทก์ทำนาในที่ดินดังกล่าวต่างดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 7 ปี จึงจะมีสิทธิชำระหนี้เงินกู้ หากยังไม่ชำระหนี้เงินกู้ก็ให้โจทก์ทำนาต่างดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆ โจทก์ให้จำเลยที่ 1ลงชื่อในช่องผู้ขายฝากในสัญญาขายฝากท้ายคำฟ้องที่ยังไม่ได้กรอกข้อความโดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้อยู่ด้วย ทั้งนี้เพื่ออำพรางการกู้เงินให้โจทก์ทำนาต่างดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองไม่ได้สละสิทธิครอบครองที่ดินตามฟ้องให้แก่โจทก์ โจทก์ทำนาต่างดอกเบี้ยเรื่อยมาทุกปี เมื่อครบกำหนด 7 ปี โจทก์ขอทำนาต่างดอกเบี้ยต่อมาอีก จำเลยที่ 1 บวชเป็นพระภิกษุที่วัดหนองน้ำแดงเมื่อเดือนเจ็ดปี 2534 จนบัดนี้ยังไม่สึก ต่อมาประมาณเดือนพฤษภาคม 2535 จำเลยที่ 1 ใช้ให้จำเลยที่ 2 นำเงินจำนวน 20,000 บาท ไปชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์และขอเข้าทำนา โจทก์ไม่ยอมรับชำระหนี้เงินกู้และจะเอาที่ดินตามสัญญาขายฝาก เมื่อโจทก์เปลี่ยนเจตนาจะเอาที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 2จึงเข้าทำนาในที่ดินของจำเลยที่ 2 โดยชอบ ซึ่งในวันที่ 6 มิถุนายน2535 จำเลยที่ 1 ยังบวชอยู่ที่วัดหนองน้ำแดง จึงไม่ได้ไถนาในที่ดินตามฟ้องร่วมกับจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ และโจทก์ไม่เคยขอร้องให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ ค่าเสียหายไม่เกินปีละ 2,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 4078 และ 4079 ตำบลบ้านไร่อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายในอัตราปีละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะออกจากที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภรรยากัน ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นที่ดินที่ทางราชการออกน.ส.3 ก. ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยมีข้อกำหนดห้ามโอนภายในสิบปีตามมาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม2520 14 มีนาคม 2523 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์เป็นเงิน 20,000 บาท กำหนดไถ่ภายใน 7 ปีเป็นเงิน 45,000 บาท หากไม่ไถ่คืนยอมให้ที่ดินพิพาทหลุดเป็นสิทธิแก่โจทก์ และโจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนับแต่วันดังกล่าวตลอดมาจนกระทั่งวันที่ 6 มิถุนายน 2535จำเลยที่ 2 จึงได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์แล้วหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมีข้อกำหนดห้ามโอนสิบปีนับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2520 สัญญาขายฝากทำกันเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2523 จึงอยู่ในระยะเวลาห้ามโอน เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113 เดิม ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นการที่จำเลยทำสัญญาและมอบให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์ก็หาได้สิทธิครอบครองตามกฎหมายไม่ เพราะอยู่ในกำหนดห้ามโอนหลังจากนั้นต่อมาเมื่อพ้นกำหนดห้ามโอนแล้ว แม้โจทก์จะได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแต่ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองได้สละสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์แต่อย่างใด กลับได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสองว่า โจทก์ได้ให้เงินจำเลยทั้งสองไปชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่ทุกปีและมิได้ขอให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จึงเห็นได้ว่าถ้าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของและได้สิทธิครอบครองแล้ว จำเลยทั้งสองคงไม่ยอมไปเสียภาษีบำรุงท้องที่ที่ดินแทน และโจทก์คงขวนขวายขอให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้เสียนายแล้ว คงไม่ปล่อยทิ้งไว้หลังจากพ้นกำหนดห้ามโอนเกือบ 5 ปีเช่นนี้ ถือไม่ได้ว่าภายหลังพ้นกำหนดห้ามโอนแล้วจำเลยทั้งสองสละสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกประเด็นเรื่องโจทก์เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทเป็นเจตนายึดถือเพื่อตนยังไม่ครบ 1 ปี ขึ้นวินิจฉัยเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นนั้นเห็นว่า กรณีนี้โจทก์จะได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทต่อเมื่อได้แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทมาจากจำเลยทั้งสองโดยการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ เมื่อโจทก์ฎีกาว่าไม่มีประเด็นนี้เสียแล้วโจทก์ก็ไม่อาจได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แม้การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นก็ตามแต่ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงทำให้โจทก์ชนะคดีแต่ประการใด ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share