คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 807/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฯมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่15กรกฎาคม2521ซึ่งตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่295ลงวันที่28พฤศจิกายน2515ข้อ78และข้อ79บัญญัติว่าให้ใช้ได้มีกำหนด10ปีแม้ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่295ฉบับที่2พ.ศ.2530ใช้บังคับซึ่งมาตรา7ให้ยกเลิกความในส่วนที่3ข้อ63ถึง80แล้วก็ตามแต่ในมาตรา9วรรคหนึ่งบัญญัติว่าพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างและประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วนซึ่งออกโดยอาศัยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่295ลงวันที่28พฤศจิกายนพ.ศ.2515ให้คงใช้บังคับได้ตามอายุของพระราชกฤษฎีกานั้นและวรรคสองของมาตรานี้บัญญัติทำนองเดียวกับมาตรา36วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530ว่าด้วยการเวนคืนและการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงที่ได้ปฏิบัติไปแล้วก่อนวันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นอันใช้ได้แต่การดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530ดังนั้นพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับจนถึงวันที่14กรกฎาคม2531เมื่อปรากฏว่าภายในระยะเวลาดังกล่าวจำเลยได้มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าจะเข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงและได้วางเงินค่าทดแทนที่ดินต่อสำนักงานวางทรัพย์ฯเพื่อให้โจทก์รับเงินไปอันเป็นการดำเนินการภายในอายุพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจำเลยจึงมีอำนาจเข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา13วรรคสองและวรรคสาม โจทก์ปลูกสร้างอาคารพิพาทในเขตตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฯโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่295ลงวันที่28พฤศจิกายน2515ข้อ74(2)หรือพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา24(1)โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนค่าขนย้ายหรือค่าเสียหายที่ไม่สามารถประกอบอาชีพจากจำเลยได้ โจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนบางส่วนคือ0-1-26ไร่ที่ดินทางด้านทิศเหนือมีส่วนของที่ดินเหลืออยู่(ยาว)เพียง1.5วาอีกทั้งที่ดินส่วนที่เหลืออยู่นั้นก็มิได้ติดต่อเป็นผืนเดียวกันกับที่ดินแปลงอื่นของโจทก์ทำให้ไม่เหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์ในที่ดินส่วนที่เหลืออีกต่อไปจำเลยจึงต้องเวนคืนที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ด้วยซึ่งราคาที่ดินตามที่ซื้อขายกันไร่ละ400,000บาทจำเลยจึงต้องจ่ายค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตามเนื้อที่ดินทั้งแปลงจำนวน240,000บาทจำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินส่วนที่เหลือสามารถใช้ทำประโยชน์ได้จำเลยไม่จำเป็นต้องเวนคืนในส่วนที่เหลือศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ4ว่าจำเลยจะต้องใช้ค่าทดแทนค่ารื้อถอนค่าขนย้ายและค่าเสียหายที่ไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติแก่โจทก์หรือไม่เพียงใดเห็นได้ว่าศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทรวมไว้แล้วว่าจำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าเป็นที่ดินส่วนที่เหลืออยู่ยาวเพียง1.5วาไม่เหมาะสมที่โจทก์จะใช้ประโยชน์และจำเลยต้องเวนคืนและจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์หรือไม่ด้วย พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา20วรรคหนึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่เวนคืนทำการเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากเจ้าของเพราะที่ดินส่วนที่เหลือนั้นเหลืออยู่น้อยหรือมีสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้ทำประโยชน์ต่อไปโดยกำหนดให้เจ้าของที่ดินขอต่อเจ้าหน้าที่เวนคืนเสียก่อนเพื่อเจ้าหน้าที่เวนคืนจะได้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวคดีนี้เมื่อเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้แนะนำให้โจทก์ไปร้องขอต่อเจ้าหน้าที่เวนคืนโจทก์หาได้ดำเนินการตามคำแนะนำไม่อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนในส่วนนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่14467 ตำบลหนองอิรุณ อำเภอบ้านบึง (พนัสนิคม) จังหวัดชลบุรีเนื้อที่ 2 งาน 56 ตารางวา ซึ่งมีอาคารตึกแถว 2 ชั้น และอาคารโรงเก็บรถยนต์ปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2531จำเลยมอบให้นายช่างเขตการทางฉะเชิงเทรามีหนังสือแจ้งมายังโจทก์เพื่อจะเข้าครอบครองและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในเขตเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงจังหวัด สายชลบุรี – บ้านบึง – หนองซาก – ป่ายุบ – ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 331 – อำเภอแกลง ดอนบ้านบึง – หนองซาก – ป่ายุบ -ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 331 – อำเภอแกลง พ.ศ. 2521 ต่อมาวันที่ 21 กรกฎาคม 2531 นายช่างแขวงการทางชลบุรีได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนจากสำนักงานวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 2 เป็นเงิน 6,300 บาท โจทก์ไม่ตกลงด้วยจึงยังไม่รับเงิน ทั้งการเวนคืนจำเลยมิได้กระทำภายในระยะเวลาที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฯ ใช้บังคับ จึงไม่อาจอ้างอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาใช้บังคับเงินคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ได้ การกำหนดค่าทดแทนยังไม่ถูกต้อง ขอให้พิพากษาเพิกถอนการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์หากเพิกถอนไม่ได้ให้จำเลยชดใช้ค่าทดแทนที่ดินเป็นเงิน 250,000 บาทค่าทดแทนการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างค่าขนย้ายและค่าเสียหายเป็นเงิน1,900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปีของต้นเงินค่าทดแทนที่ดินที่โจทก์จะได้รับเพิ่มขึ้นจากเงินที่จำเลยนำไปวางไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์นับแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2531จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2521 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงจังหวัดสายชลบุรี – บ้านบึง – หนองซาก – ป่ายุบ – ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข331 – อำเภอแกลง ตินบ้านบึง – หนองซาก – ป่ายุบ – ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 331 – อำเภอแกลง พ.ศ. 2521 ประกาศใช้ และต่อมาอธิบดีกรมทางหลวงได้กำหนดเขตทางหลวงที่จะเวนคืน ปรากฏว่าที่ดินของโจทก์อยู่ในแนวเขตทางหลวงที่ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เนื้อที่ 1 งาน 26 ตารางวา อธิบดีกรมทางหลวงได้ให้เจ้าหน้าที่ออกสำรวจกำหนดแนวเขต กำหนดราคาสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนแจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว และได้ชดใช้เงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้าง พืชผลในที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเรียบร้อยแล้วแต่โจทก์ไม่พอใจค่าทดแทนที่ดินจึงไม่ยื่นคำร้องขอรังวัดและรับเงินจำนวนดังกล่าว จำเลยกระทำการตามหน้าที่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนการเวนคืนดังกล่าวได้ โจทก์และสามีก่อสร้างอาคารตึกแถว2 ชั้นในแนวเขตทางหลวงดังกล่าว โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นเขตทางหลวงที่ได้เวนคืนตามกฎหมายและมิได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงทราบเพื่อตรวจสอบแนวเขตก่อนทำการก่อสร้างไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำเลยจึงไม่ต้องชดใช้เงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างอาคารค่าขนย้ายสิ่งของ และค่าเสียหายที่ไม่สามารถประกอบอาชีพแก่โจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ เนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฯ ออกใช้บังคับ ค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน 1 งาน26 ตารางวา จำนวน 6,300 บาท ชอบแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ราคาค่าทดแทนเพิ่มอีก เนื่องจากที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 1 งาน 30 ตารางวา จำเลยจึงไม่ต้องเวนคืนที่ดินส่วนนั้นค่าก่อสร้างอาคารของโจทก์จำนวน 1,700,000 บาท ไม่ถูกต้องและเกินความจริง ค่าก่อสร้างอย่างมากไม่เกิน 50,000 บาททั้งได้ก่อสร้างมานานประมาณ 10 ปีแล้ว เมื่อหักค่าเสื่อมจะมีราคาไม่เกิน 20,000 บาท หากโจทก์ประกอบอาชีพก็คำนวณค่าเสียหายได้ไม่เกินวันละ 72 บาท เท่าอัตราแรงงานตามที่กฎหมายกำหนด ดอกเบี้ยตามกฎหมายในขณะเวนคืนให้คิดได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าทดแทนที่ดินแก่โจทก์เป็นเงิน 94,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 88,200 บาท ที่โจทก์จะได้รับเพิ่มขึ้นจากค่าทดแทนที่จำเลยนำไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 2 นับแต่วันที่21 กรกฎาคม 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ และ จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี ของต้นเงิน 88,200 บาท นับแต่วันที่13 กรกฎาคม 2531 เป็นต้นไปนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า จำเลยไม่ได้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ภายในระยะเวลาที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฯ ใช้บังคับ จำเลยแจ้งการเวนคืนตามเอกสารหมาย จ.4 อันเป็นเวลาหลังจากที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ประกาศใช้บังคับแล้วจึงเกิน 4 ปี ตามมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยจึงไม่อาจอ้างเอาอำนาจตามพระราชกฤษฎีกามาเวนคืนที่โจทก์ได้ เห็นว่าพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฯ ซึ่งประกาศใช้ในวันที่14 กรกฎาคม 2521 มีผลใช้บังคับในวันที่ 15 กรกฎาคม 2521 ตามเอกสารหมาย ล.2 และพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 78 และตามข้อ 79 ของประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว บัญญัติเรื่อง พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงไว้ว่าให้ใช้ได้มีกำหนด 10 ปี แม้ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายนพ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 ใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 7 ให้ยกเลิกความในส่วนที่ 3 การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงข้อ 63 ถึงข้อ 80 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 แล้วก็ตาม แต่มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างและประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วน ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ให้คงใช้บังคับได้ตามอายุของพระราชกฤษฎีกานั้น และวรรคสองของมาตรานี้บัญญัติทำนองเดียวกันกับมาตรา 36 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ว่า การเวนคืนและการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงที่ได้ปฏิบัติไปแล้วก่อนวันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นอันใช้ได้ แต่การดำเนินการต่อไป ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ดังนั้น พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2531 ทั้งปรากฏว่าวันที่ 10 พฤษภาคม 2531จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบแล้วว่าจะเข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขนย้ายทรัพย์สิน หรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับกิจการที่จะต้องมีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงที่อยู่ในเขตตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฯ ตามเอกสารหมาย จ.4 และต่อมาวันที่13 กรกฎาคม 2531 จำเลยได้วางเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่14467 ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภูมิภาคที่ 2 เพื่อให้โจทก์รับเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวไปตามเอกสารหมาย จ.6 แผ่นที่ 2 เป็นการดำเนินการภายในอายุพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฯ จำเลยจึงมีอำนาจเข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์คือที่ดินโฉนดเลขที่ 14467 และสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวในส่วนที่อยู่ในเขตตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 13 วรรคสองและวรรคสาม
โจทก์ฎีกาต่อไปว่า ก่อนจะทำการปลูกสร้างอาคารพิพาทโจทก์ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่เวนคืนคือนายเทิดศักดิ์ เศรษฐิเวียงภูบาล ทราบแล้วจึงถือได้ว่าเป็นการอนุญาตให้ปลูกสร้างได้ ข้อนี้โจทก์นำสืบโดยมีแต่คำเบิกความลอย ๆของโจทก์และนายโชติสามีโจทก์ว่า โจทก์ปลูกอาคารพิพาทโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของจำเลย ไม่มีพยานเอกสารสนับสนุนพยานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ปลูกสร้างอาคารพิพาทในเขตตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฯโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515ข้อ 74(2) หรือพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 24(1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนค่าขนย้าย หรือค่าเสียหายที่ไม่สามารถประกอบอาชีพจากจำเลยได้
โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่าที่ดินด้านทิศเหนือมีส่วนของที่ดินที่เหลือความยาวเพียง 1.5 วา มิได้ติดต่อเป็นผืนเดียวกับที่ดินแปลงอื่นของโจทก์ ทำให้รูปร่างของที่ดินไม่เหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์จำเลยจึงต้องเวนคืนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ด้วย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 20ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้โจทก์ไม่ถูกต้อง ข้อนี้โจทก์อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้โดยอ้างว่า ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้และโจทก์มิได้คัดค้าน ทั้งขณะพิพากษาคดีศาลชั้นต้นไม่ได้วินิจฉัยไว้ ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นเป็นอุทธรณ์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนบางส่วนคือ0-1-26 ไร่ ที่ดินทางด้านทิศเหนือมีส่วนของที่ดินเหลืออยู่(ยาว) เพียง 1.5 วา อีกทั้งที่ดินส่วนที่เหลืออยู่นั้นก็มิได้ติดต่อเป็นผืนเดียวกันกับที่ดินแปลงอื่นของโจทก์ทำให้ไม่เหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์ในที่ดินส่วนที่เหลืออีกต่อไป จำเลยจึงต้องเวนคืนที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ด้วยซึ่งราคาที่ดินตามที่ซื้อขายกันไร่ละ 400,000 บาท จำเลยจึงต้องจ่ายค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตามเนื้อที่ดินทั้งแปลงจำนวน 250,000 บาท จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินส่วนที่เหลือสามารถใช้ทำประโยชน์ได้ จำเลยไม่จำเป็นต้องเวนคืนในส่วนที่เหลือ ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาท ข้อ 4 ว่า จำเลยจะต้องใช้ค่าทดแทน ค่ารื้อถอน ค่าขนย้ายและค่าเสียหายที่ไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นได้ว่า ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทรวมไว้แล้วว่าจำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่โจทก์ฟ้องอ้างว่า เป็นที่ดินส่วนที่เหลืออยู่ยาวเพียง 1.5 วาไม่เหมาะสมที่โจทก์จะใช้ประโยชน์ และจำเลยต้องเวนคืนและจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์หรือไม่ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบ ฎีกาโจทก์ส่วนนี้ฟังขึ้น และศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ส่งสำนวนคืนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1)พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่ต้องเวนคืนที่ดินแปลงใดแต่เพียงบางส่วนถ้าเนื้อที่ดินส่วนที่เหลืออยู่นั้นน้อยกว่ายี่สิบห้าตารางวา หรือด้านหนึ่งด้านใดน้อยกว่าห้าวา และส่วนที่เหลืออยู่นั้นมิได้ติดต่อเป็นผืนเดียวกันกับที่ดินแปลงอื่นของเจ้าของเดียวกัน หากเจ้าของร้องขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือด้วยเห็นว่า กฎหมายมาตราดังกล่าวบัญญัติขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่เวนคืนทำการเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากเจ้าของเพราะที่ดินส่วนที่เหลือนั้นเหลืออยู่น้อยหรือมีสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้ทำประโยชน์ต่อไป โดยกำหนดให้เจ้าของที่ดินร้องขอต่อเจ้าหน้าที่เวนคืนเสียก่อนเพื่อเจ้าหน้าที่เวนคืนจะได้พิจารณาว่า กรณีต้องตามกฎหมายมาตราดังกล่าวหรือไม่ซึ่งตามทางนำสืบของโจทก์ก็ปรากฏว่าเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้แนะนำให้โจทก์ไปร้องขอต่อเจ้าหน้าที่เวนคืนต่อไปปรากฏตามเอกสารหมาย จ.10 แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ดำเนินการตามคำแนะนำดังกล่าว เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนในส่วนนี้ อนึ่ง การยกฟ้องโจทก์ในส่วนนี้เป็นการยกฟ้องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทจึงเห็นสมควร ไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องใหม่
พิพากษายืน และไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการร้องขอให้เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือมายื่นใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530

Share