คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 468/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การจำเลยมีสิทธิที่จะแจ้งต่อศาลถึงเหตุที่มิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา199ถ้าศาลเห็นว่าการขาดนัดของจำเลยมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควรประการอื่นให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การได้และในการวินิจฉัยว่าจะอนุญาตหรือไม่เมื่อศาลเห็นว่ามีเหตุอันสมควรแล้วก็อนุญาตให้ยื่นคำให้การได้โดยไม่จำต้องพิจารณาต่อไปว่าจำเลยจงใจขาดนัดหรือไม่เพราะมาตรานี้กำหนดว่าขาดนัดโดยมิได้จงใจหรือมีเหตุอันสมควรประการอื่นเมื่อเข้าหลักเกณฑ์ประการใดเพียงอย่างเดียวศาลก็มีอำนาจสั่งอนุญาตให้ยื่นคำให้การได้ กรณีส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่6ตุลาคม2535จำเลยต้องยื่นคำให้การในวันที่5พฤศจิกายน2535ระหว่างนั้นจำเลยได้ติดต่อทนายความแต่ยังมิได้แต่งตั้งให้ดำเนินคดีโดยทนายความสั่งให้จำเลยหาหลักฐานมาก่อนในวันที่29ตุลาคม2535จำเลยป่วยได้ผ่าตัดเนื้องอกที่รังไข่ซ้ายที่โรงพยาบาลวันที่5พฤศจิกายน2535จึงได้ออกจากโรงพยาบาลและแพทย์ลงความเห็นว่าควรพักผ่อนอีก30วันและคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์สินจากจำเลยเป็นเงิน89ล้านบาทเศษกรณีเช่นนี้นับว่ามีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทุกแปลงตามโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามบัญชีท้ายฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ให้เพิกถอนชื่อจำเลยทั้งสามออกจากโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทุกแปลง แต่เนื่องจากโจทก์เป็นคนต่างด้าวไม่สามารถถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเพื่อนำเงินคืนโจทก์ หากมีเหตุขัดข้องไม่อาจทำได้ตามข้างต้น ให้จำเลยทั้งสามคืนเงินจำนวน 89,628,318 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งให้จำเลยที่ 1 คืนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส. 3 ก.) เลขที่ 725 แก่โจทก์และให้ศาลมีคำสั่งขายทอดตลาดต่อไป หากจำเลยที่ 1 ไม่อาจคืนได้ให้ใช้ราคา 30 ล้านบาท แก่โจทก์และให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากโฉนดและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินทุกแปลงที่พิพาท
โจทก์ยื่นคำร้องฉุกเฉินขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งห้ามจำเลยที่ 1 และที่ 3 โอนขายหรือจำหน่ายที่ดินพิพาทตามฟ้อง
โจทก์ ขอ ถอนฟ้อง จำเลย ที่ 2 ศาลชั้นต้น อนุญาต
จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การเมื่อพ้นกำหนด ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับคำให้การ ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3ขาดนัดยื่นคำให้การและนัดสืบพยานโจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องว่า มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ขอให้ศาลอนุญาตให้ยื่นคำให้การ
โจทก์ แถลง คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 3
ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาแล้วพิพากษาว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในเอกสารสิทธิที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนโจทก์ แต่โจทก์เป็นคนสัญชาติเดนมาร์ก เป็นคนต่างด้าวจะมีกรรมสิทธิ์หรือถือสิทธิเอาที่ดินเป็นของตนมิได้จึงให้นำที่ดินทั้งหมดดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระให้โจทก์ทั้งสิ้น ทั้งนี้จำนวนเงินที่โจทก์พึงได้รับชำระคืนไม่เกิน 89,628,318 บาท (แปดสิบเก้าล้านหกแสนสองหมื่นแปดพันสามร้อยสิบแปดบาทถ้วน) และให้คิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินนี้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หรือมิฉะนั้นหากมีเหตุขัดข้องมิอาจปฏิบัติได้ก็ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินคืนตามจำนวนพร้อมอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวแก่โจทก์คำขอนอกจากนี้ให้ยก
หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาโจทก์ยื่นคำร้องว่า เนื่องจากคดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์และคดีจะถึงที่สุดเป็นเวลานาน โจทก์เกรงว่าโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3077 ไม่มีคนดูแลจะชำรุดเสียหาย หากจะให้จำเลยดูแล การที่จำเลยแพ้คดีอาจจะไม่สนใจดูแลเท่าที่ควร ขอให้ศาลอนุญาตให้โจทก์เป็นผู้ดูแลที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเพื่อให้อยู่ในสภาพดี หากมีการขายทอดตลาดจะทำให้ราคาสูงขึ้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เพื่อประโยชน์ของคู่ความ ยังให้ทรัพย์สินที่อายัดนี้ได้มีการระวังรักษาทรัพย์ระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดสมควรอนุญาตและแต่งตั้งให้โจทก์เป็นผู้ระวังรักษาทรัพย์ดังกล่าวได้ นับแต่วันนี้จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น แจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้ศาลชั้นต้นรับคำให้การจำเลยที่ 1 หรือยกฟ้องโจทก์และให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์เข้าเป็นผู้รักษาทรัพย์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า คดีมีทุนทรัพย์สูง การที่จำเลยที่ 1 ใช้เวลาดำเนินการเพื่อยื่นคำให้การเพียง 22 วันแต่เกิดป่วยต้องรับการผ่าตัดและนอนพักในโรงพยาบาล 8 วันเป็นเหตุให้ยื่นคำให้การล่วงเลยกำหนดเพียง 1 วัน ถือได้ว่ามีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การได้ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 จงใจขาดนัดหรือไม่ พิพากษายกคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นรับคำให้การของจำเลยที่ 1 และให้ดำเนินการพิจารณาคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จำเลยที่ 1 จะยื่นคำให้การและศาลมีคำสั่งไม่รับคำให้การจำเลยที่ 1 เนื่องจากล่วงเลยเวลาจะยื่นคำให้การ เมื่อศาลไม่รับคำให้การและมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1ขาดนัดยื่นคำให้การจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะแจ้งต่อศาลถึงเหตุที่มิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 ถ้าศาลเห็นว่าการขาดนัดของจำเลยที่ 1 มิได้เป็นไปโดยจงใจ หรือมีเหตุอันสมควรประการอื่น ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การได้ และในการวินิจฉัยว่าจะอนุญาตหรือไม่ เมื่อศาลเห็นว่ามีเหตุอันสมควรแล้วก็อนุญาตให้ยื่นคำให้การได้โดยไม่จำต้องพิจารณาต่อไปว่าจำเลยที่ 1 จงใจขาดนัดหรือไม่เพราะมาตรานี้กำหนดว่าขาดนัดโดยมิได้จงใจหรือมีเหตุอันสมควรประการอื่น เมื่อเข้าหลักเกณฑ์ประการใดเพียงอย่างเดียวศาลก็มีอำนาจที่จะสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การ และกรณีที่ได้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยที่ 1 โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2535 จำเลยที่ 1 จะต้องยื่นคำให้การวันที่5 พฤศจิกายน 2535 และระหว่างนั้น จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อทนายความแต่ยังมิได้แต่งตั้งทนายความให้ดำเนินคดี ทนายความสั่งให้จำเลยที่ 1 หาหลักฐานมาก่อน ในวันที่ 29 ตุลาคม 2535 จำเลยที่ 1ป่วยเข้าผ่าตัดเนื้องอกที่รังไข่ซ้ายที่โรงพยาบาล วันที่ 5พฤศจิกายน 2535 จึงได้ออกจากโรงพยาบาลและแพทย์ลงความเห็นว่าควรพักผ่อนอีก 30 วัน และคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์สินจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 89 ล้านบาทเศษ กรณีเช่นนี้นับว่ามีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การได้
พิพากษายืน

Share