คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 431/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลฎีกาจะยกขึ้นวินิจฉัยได้ต้องเกิดจากข้อเท็จจริงในกระบวนพิจารณาโดยชอบเมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การจึงเท่ากับจำเลยมิได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การในข้อที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติเป็นเจ้าอาวาสของพระปลัดส.คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในข้อนี้แม้จำเลยได้นำสืบต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้นและยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ด้วยก็ตามก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย หนังสือมอบอำนาจที่โจทก์โดยพระปลัดส.ในฐานะเจ้าอาวาสได้มอบอำนาจให้ล. และว.ในฐานะผู้รับมอบอำนาจร่วมกระทำการด้วยกันโดยเป็นโจทก์ฟ้องคดีแก่จำเลยเกี่ยวกับสมุดบัญชีเงินฝากในธนาคารมิได้ให้แต่ละคนที่รับมอบอำนาจไปแยกกระทำการต่างหากจากกันดังจะเห็นได้จากใบแต่งทนายความที่ผู้รับมอบอำนาจทั้งสองก็ได้ลงลายมือชื่อร่วมกันเพื่อแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลหลายคนร่วมกันกระทำการมากกว่าครั้งเดียวซึ่งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรข้อ7(ข)กำหนดค่าอากรแสตมป์ไว้30บาท ตามสำเนาบัญชีเงินฝากและสำเนาแบบขอฝากเงินของนิติบุคคลระบุว่าการเปิดบัญชีเงินฝากรายพิพาทนี้ทำในนามวัดโจทก์จำเลยเป็นเพียงผู้มีสิทธิลงลายมือชื่อเบิกจ่ายเงินตามบัญชีดังกล่าวแทนโจทก์ได้เท่านั้นดังนี้หากโจทก์ประสงค์จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขลายมือชื่อผู้มีสิทธิเบิกจ่ายเงินตามบัญชีดังกล่าวอย่างไรโจทก์ก็ย่อมทำได้อยู่แล้วกรณีไม่มีนิติกรรมอย่างใดให้จำเลยต้องไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเกี่ยวกับตัวบุคคลที่จะลงลายมือชื่อเบิกจ่ายเงินให้แก่โจทก์จึงบังคับให้จำเลยดำเนินการดังกล่าวไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีพระปลัดสำอางค์ คุณธัมโมเป็นเจ้าอาวาส โจทก์มอบอำนาจให้นายลิ้มนิ่มน้อย และนายวิชาญ สืบสมุทร ฟ้องคดีแทน ขณะที่พระครูเวชคามคณารักษ์เป็นเจ้าอาวาสได้มอบสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารออมสิน สาขาท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บัญชีเลขที่25737 ให้จำเลยเก็บรักษา กับให้มีอำนาจลงลายมือชื่อเบิกจ่ายเงินในบัญชีได้ เมื่อพระครูเวชคามคณารักษ์ถึงแก่มรณภาพไป โจทก์ให้จำเลยส่งสมุดบัญชีเงินฝากแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารออมสิน สาขาท่าเรือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บัญชีเลขที่ 25737 พร้อมทั้งให้ยื่นหนังสือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินต่อธนาคารให้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นผู้เบิกจ่ายเงินในบัญชีดังกล่าวได้ให้แก่โจทก์หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา
จำเลย ขาดนัด ยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารออมสิน สาขาท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บัญชีเลขที่ 25737 แก่โจทก์กับให้จำเลยทำหนังสือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกจ่ายยื่นต่อธนาคารโดยให้นายลิ้ม นิ่มน้อย และนายวิชาญสืบสมุทร เป็นผู้มีอำนาจเบิกจ่ายเงินแทนโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เดิมขณะที่พระครูเวชคามคณารักษ์หรือหลวงพ่อตาบเป็นเจ้าอาวาสโจทก์เป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากที่ธนาคารออมสิน สาขาท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บัญชีเลขที่ 25737 ตามสำเนาแบบขอฝากเงินของนิติบุคคล เอกสารหมายจ.4 โดยพระครูเวชคามคณารักษ์มอบให้จำเลยเป็นผู้เก็บรักษาสมุดบัญชีเงินฝากดังกล่าวและเป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อถอนเงินจากบัญชีแต่ผู้เดียว ต่อมาเมื่อปี 2532 พระครูเวชคามคณารักษ์ได้มรณภาพ พระปลัดสำอางค์ คุฒธัมโมได้เป็นเจ้าอาวาส ตามภาพถ่ายตราตั้งเจ้าอาวาสเอกสารหมาย จ.2 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์โดยพระปลัดสำอางค์มีสิทธิเรียกให้จำเลยส่งมอบสมุดบัญชีเงินฝากดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาในประการแรกว่า พระปลัดสำอางค์เคยถูกถอดถอนจากตำแหน่งผู้รักษาการเจ้าคณะตำบลดอนพุดและตำแหน่งเลขานุการเจ้าคณะอำเภอบ้านหมอ ถือได้ว่าขาดคุณสมบัติที่จะเป็นเจ้าอาวาสโจทก์ อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในคดีนี้นั้น เห็นว่า ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลฎีกาจะยกขึ้นวินิจฉัยได้ต้องเกิดจากข้อเท็จจริงในกระบวนพิจารณาโดยชอบ เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การจึงเท่ากับจำเลยมิได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การในข้อที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติเป็นเจ้าอาวาสของพระปลัดสำอางค์ คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในข้อนี้ แม้จำเลยได้นำสืบต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้นและยกขึ้นกล่าวอ้างในขั้นอุทธรณ์ด้วยก็ตามก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ปัญหาประการสุดท้ายที่จำเลยฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.3 ปิดอากรแสตมป์เพียง 30 บาท เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจดังกล่าว โจทก์โดยพระปลัดสำอางค์ในฐานะเจ้าอาวาสได้มอบอำนาจให้นายลิ้ม นิ่มน้อยและนายวิชาญ สืบสมุทร ในฐานะผู้รับมอบอำนาจร่วมกระทำการด้วยกันโดยเป็นโจทก์ฟ้องคดีแก่จำเลยเกี่ยวกับสมุดบัญชีเงินฝากในธนาคารมิได้ให้แต่ละคนที่รับมอบอำนาจไปแยกกระทำการต่างหากจากกันดังจะเห็นได้จากใบแต่งทนายความที่ผู้รับมอบอำนาจทั้งสองคนก็ได้ลงลายมือชื่อร่วมกันเพื่อแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีนี้ จึงเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลหลายร่วมกระทำการมากกว่าครั้งเดียว ซึ่งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรข้อ 7 (ข) กำหนดค่าอากรแสตมป์ไว้ 30 บาท ดังนั้น หนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมายจ.3 จึงเป็นการปิดอากรแสตมป์ถูกต้องตามกฎหมายและศาลรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
อนึ่ง ปรากฏตามสำเนาบัญชีเงินฝากและสำเนาแบบขอฝากเงินของนิติบุคคลเอกสารหมาย จ.4 ว่าการเปิดบัญชีเงินฝากรายพิพาทนี้ทำในนามวัดโจทก์ จำเลยเป็นเพียงผู้มีสิทธิลงลายมือชื่อเบิกจ่ายเงินตามบัญชีดังกล่าวแทนโจทก์ได้เท่านั้น ดังนี้หากโจทก์ประสงค์จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขลายมือชื่อผู้มีสิทธิเบิกจ่ายเงินตามบัญชีดังกล่าวอย่างไร โจทก์ก็ย่อมทำได้อยู่แล้ว กรณีไม่มีนิติกรรมอย่างใดให้จำเลยต้องไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเกี่ยวกับตัวบุคคลที่จะลงลายมือชื่อเบิกจ่ายเงินให้แก่โจทก์ จึงบังคับให้จำเลยดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอในส่วนที่ให้จำเลยไปยื่นคำขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินต่อธนาคาร โดยให้นายลิ้มนิ่มน้อย กับนายวิชาญ สืบสมุทรผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นผู้มีอำนาจเบิกจ่ายเงินแทนโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาเสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share