คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 236/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าเนื่องจากเครื่องวัดหน่วยกระแสไฟฟ้าแสดงหน่วยการใช้ไฟฟ้าไม่ถูกต้องจึงต้องคำนวณหน่วยการใช้ไฟฟ้าใหม่โดยใช้ค่าตัวประกอบภาระไฟฟ้าในช่วงที่ใช้กระแสไฟฟ้าตามความเป็นจริงคำนวณได้เท่ากับ 0.7369 แล้วใช้ค่าตัวประกอบนี้เป็นฐานในการหาหน่วยกระแสไฟฟ้าที่ใช้ไปแต่ละเดือนคำฟ้องส่วนนี้แม้จะใช้ศัพท์ทางเทคนิคแต่เป็นการบรรยายวิธีคำนวณตามหลักวิชาการไม่ถือว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 3 ได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันการใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่1หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่ากระแสไฟฟ้าแล้วจำเลยที่ 3 ยอมชำระแทนทันทีไม่มีข้อโต้แย้งถึงแม้โจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันฉบับใดแต่จำเลยที่ 3 เป็นผู้ออกหนังสือค้ำประกันเองย่อมจะตรวจสอบสัญญาค้ำประกันแต่ละฉบับและให้การต่อสู้คดีได้อยู่แล้วคำฟ้องโจทก์จึงได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาครบถ้วนแล้วไม่เคลือบคลุม จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระค่ากระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 รวม 3 ฉบับฉบับที่ 1 ค้ำประกันวงเงินไม่เกิน 260,000 บาทมีผลตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2530 ถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2531 ฉบับที่ 2 ขยายเวลาอีก 1 ปีไปจนถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2532 และฉบับที่ 3 วงเงินไม่เกิน 400,000 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2532 ถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2532 แม้หนังสือสัญญาสองฉบับหลังจะสิ้นสุดในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2532พร้อมกันแต่ออกจากธนาคารเดียวกันข้อความฉบับที่ 3 ระบุว่าจำเลยที่ 3 ยอมรับผิดชำระค่ากระแสไฟฟ้าแทนในจำนวนไม่เกิน 400,000 บาทอันเป็นการจำกัดวงเงินที่ต้องรับผิดไว้ไม่มีข้อความตกลงยอมรับผิดในวงเงินเพิ่มขึ้นจากฉบับอื่นอีกจำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในต้นเงินเพียง 400,000 บาท เท่านั้น โจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจมีวัตถุประสงค์จัดให้ได้มาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าแก่ประชาชนอันมีลักษณะเป็นกิจการสาธารณูปโภคโจทก์จึงไม่ใช่พ่อค้าที่จะต้องฟ้องคดีภายใน 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 165 (1) เดิม แต่ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164 เดิม การฟ้องเรียกค่ากระแสไฟฟ้าส่วนที่ขาดเพราะเหตุเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าคำนวณค่าใช้ไฟฟ้าบกพร่องไปมิใช่ฟ้องเรียกหนี้อันเกิดจากละเมิดจึงฟ้องร้องได้ภายใน 10 ปี ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจในการสั่งค่าฤชาธรรมเนียมโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวงเมื่อโจทก์ชนะคดีบางข้อและแพ้คดีบางข้อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับแก่ทุกฝ่ายจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์สำรวจแล้วอนุมัติให้ติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ พี เค – 65010 ขนาด 25 แอมแปร์ 24,000 โวลท์จ่ายกระแสไฟฟ้าให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2530 จำเลยที่ 2ได้เข้าครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้าร่วมกับจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าจากเครื่องวัดหน่ายไฟฟ้าดังกล่าวตลอดมา เมื่อวันที่ 19พฤษภาคม 2532 โจทก์ตรวจพบว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่พี เค – 65010 มีการกระทำให้เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแสดงหน่วยการใช้ไฟฟ้าผิดไปจากความเป็นจริง หรือทำให้กระแสไฟฟ้าไม่ผ่านเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าทั้งหมดหรือบางส่วน เป็นการผิดข้อบังคับการบริการและใช้ไฟฟ้าของโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องชำระเบี้ยปรับ 50,000 บาท เมื่อโจทก์แจ้งให้ทราบแล้วจำเลยที่ 1และที่ 2 ยอมรับผิดได้ชำระเบี้ยปรับ 50,000 บาท ให้แก่โจทก์แล้วเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2532 จากการตรวจสอบสถิติการใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 พบว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่พี เค -65010 แสดงค่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าแต่ละเดือนน้อยกว่าความเป็นจริงตั้งแต่วันเริ่มต้นติดตั้งเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2530ถึงเดือนพฤษภาคม 2532 อันเป็นเหตุให้โจทก์ออกใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้าประจำเดือนไม่ถูกต้อง โจทก์จึงต้องคำนวณค่าไฟฟ้าใหม่ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2530 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2532 ซึ่งคำนวณแล้วจะต้องเสียค่าไฟฟ้าทั้งสิ้นเป็นเงิน 12,850,426.87 บาทเมื่อหักจำนวนเงินที่ชำระแล้ว 7,779,612.96 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องชำระเพิ่มอีกเป็นเงิน 5,070,813.91 บาทจำเลยที่ 3 สาขาลาดพร้าว ซอย 111 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการใช้ไฟฟ้าว่าถ้าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าไฟฟ้า จำเลยที่ 3จะชำระแทนในจำนวน 660,000 บาท ทันที โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 5 กันยายน 2532 แต่จำเลยทั้งสามไม่ยอมชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 5,482,817.53 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ที่ซื้อมาจากโจทก์ มิได้ใช้กระแสไฟฟ้าของโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 2 ได้ชำระค่าไฟฟ้าให้จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 นำไปชำระให้โจทก์ถูกต้องแล้วมิได้ติดค้างค่าไฟฟ้าแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยต่อสายคร่อมสายควบคุมกระแสไฟฟ้า โจทก์ได้ตรวจสอบการใช้กระแสไฟฟ้าตั้งแต่เริ่มติดตั้งตลอดมา ไม่เคยทักท้วง หากผิดพลาดก็เป็นความผิดของโจทก์เอง เจ้าหน้าที่ของโจทก์อ้างว่าตรวจพบการต่อสายคร่อมสายควบคุมกระแสไฟฟ้า ทำให้เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแสดงค่าผิดพลาดและข่มขู่ให้ชำระเงิน 50,000 บาท มิฉะนั้นจะตัดมิให้ใช้กระแสไฟฟ้าต่อไป จำเลยที่ 1 และที่ 2 เห็นว่าถ้าถูกตัดกระแสไฟฟ้าจะต้องหมดอาชีพไป จึงจำเป็นต้องชำระเงิน 50,000 บาท แก่โจทก์ทั้งที่ไม่ทราบว่าเป็นค่าอะไร หรือผู้ใดกระทำไว้ โจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า 2 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 3 ได้ทำหนังสือค้ำประกันการใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ไว้หลายฉบับ โดยไม่ต่อเนื่องกัน แต่ละฉบับหมดอายุการค้ำประกันไปแล้ว ฉบับสุดท้ายมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2533 ถึงวันที่ 28 มิถุนายน2534 จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่ากระแสไฟฟ้า เป็นการค้างชำระก่อนที่จำเลยที่ 3 จะเข้าทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 3 ค้ำประกันการผิดนัดหนี้ค่าไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ที่ใช้อย่างปกติธรรมดา มิใช่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะมิได้บรรยายให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันฉบับใด จำเลยที่ 1 ทำให้เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าของโจทก์แสดงค่าผิดตั้งแต่เมื่อใด เพื่อนำมาเป็นเกณฑ์คำนวณค่ากระแสไฟฟ้าเพิ่ม นอกจากนั้นโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าไฟฟ้าจำนวนเท่าใดและการที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไม่เป็นการยาก โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อเกิน 1 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน834,868.65 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 6 กันยายน 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดไม่เกิน 400,000 บาท ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 5,070,813.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันผิดนัด (6 กันยายน 2532)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 3 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 400,000 บาท นับแต่วันผิดนัด (6 กันยายน 2532) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลย ที่ 1 และ ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันฟังเป็นยุติว่า โจทก์มีวัตถุประสงค์ในการจัดหาและจำหน่ายพลังไฟฟ้าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขอใช้กระแสไฟฟ้า โจทก์ได้นำเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ พี เค – 65010 ไปติดตั้งที่หน้าโรงงานผลิตน้ำแข็งของจำเลยที่ 2 เพื่อคำนวณหน่วยกระแสไฟฟ้าที่ใช้ไป เมื่อวันที่ 19พฤษภาคม 2532 เวลา 11 นาฬิกา นายกมล ฉิมสกุล และนายรามินทร์ช่วยเรียง พนักงานของโจทก์ได้ตรวจพบมีผู้ใช้สายไฟที่มีคีมไปคีบที่สายควบคุมกระแสไฟฟ้าที่เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าคร่อมกับตู้ครอบด้านนอก เพื่อให้กระแสไฟฟ้าไหลลงดิน ทำให้กระแสไฟฟ้าบางส่วนไม่ผ่านเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า มีผลทำให้เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแสดงหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าค่าที่แท้จริง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์ฟ้องว่า เนื่องจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแสดงหน่วยการใช้ไฟฟ้าไม่ถูกต้อง จึงต้องคำนวณหน่วยการใช้ไฟฟ้าใหม่ โดยใช้ค่าตัวประกอบภาระไฟฟ้าในช่วงที่ใช้กระแสไฟฟ้าตามความเป็นจริงคำนวณได้เท่ากับ 0.7369 แล้วใช้ค่าตัวประกอบนี้เป็นฐานในการหาจำนวนหน่วยกระแสไฟฟ้าที่ใช้ไปแต่ละเดือน คำฟ้องส่วนนี้แม้จะใช้ศัพท์ทางเทคนิค แต่เป็นการบรรยายวิธีคำนวณตามหลักวิชาการไม่ถือว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ส่วนความรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันนั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกัน การใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่ากระแสไฟฟ้าแล้ว จำเลยที่ 3 ยอมชำระแทนทันทีไม่มีข้อโต้แย้งถึงแม้โจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันฉบับใด แต่จำเลยที่ 3 เป็นผู้ออกหนังสือค้ำประกันนั้นเองย่อมจะตรวจสอบสัญญาค้ำประกันแต่ละฉบับและให้การต่อสู้คดีได้อยู่แล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาครบถ้วนแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อมาตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นจำนวนเงินเพียงใด โจทก์และจำเลยที่ 3นำสืบรับกันว่า จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระค่ากระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.46 รวม 3 ฉบับ ฉบับที่ 1ค้ำประกันวงเงินไม่เกิน 260,000 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 30พฤศจิกายน 2530 ถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2531 ฉบับที่ 2 ขยายเวลาอีก 1 ปีไปจนถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2532 และฉบับที่ 3 วงเงินไม่เกิน 400,000 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2532 ถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2532 โจทก์ฎีกาว่า หนังสือสัญญาค้ำประกันฉบับที่ 2 และที่ 3 มีวันสิ้นสุดตรงกัน จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดทั้งสองรวมเป็นวงเงิน 660,000 บาท นั้น เห็นว่า แม้หนังสือสัญญาสองฉบับนี้จะสิ้นสุดในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2532 พร้อมกันแต่หนังสือทั้งสองฉบับออกจากธนาคารเดียวกัน ข้อความฉบับที่ 3ระบุว่า จำเลยที่ 3 ยอมรับผิดชำระค่ากระแสไฟฟ้าแทนในจำนวนเงินไม่เกิน 400,000 บาท อันเป็นการจำกัดวงเงินที่ต้องรับผิดไว้ไม่มีข้อความตกลงยอมรับผิดในวงเงินเพิ่มขึ้นจากฉบับอื่นอีกจึงให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันทั้งสองฉบับไม่ได้ ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยที่ 3 รับผิดในต้นเงิน 400,000 บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อมาเกี่ยวกับอายุความฟ้องร้อง จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลเช่นเดียวกับผู้ประกอบการค้าทั่ว ๆ ไป โจทก์จึงต้องฟ้องคดีภายในอายุความ 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 ฎีกาว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการลักกระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1เป็นหนี้เกิดจากการละเมิด ต้องฟ้องภายใน 1 ปีนั้น ได้ความว่าโจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ มีวัตถุประสงค์จัดให้ได้มาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าแก่ประชาชน อันมีลักษณะเป็นกิจการสาธารณูปโภค โจทก์จึงมิใช่พ่อค้าที่จะต้องฟ้องคดีภายใน 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายสารบัญญัติที่ใช้ในขณะนั้น แต่ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม การฟ้องเรียกค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยที่ 1 เป็นการเรียกหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าเพราะเหตุเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าคำนวณค่าใช้ไฟฟ้าขาดตกบกพร่องไปเมื่อโจทก์คำนวณใหม่ให้ถูกต้องแล้วเรียกค่าใช้กระแสไฟฟ้าเพิ่มเติมในส่วนที่ขาด มิใช่ฟ้องเรียกหนี้อันเกิดจากการละเมิด จึงฟ้องร้องได้ภายในเวลา 10 ปี ดังที่ได้วินิจฉัยมา ฎีกาของจำเลยที่ 1และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์มีว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่าศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจในการสั่งค่าฤชาธรรมเนียมโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง คดีนี้หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ได้รับชำระค่ากระแสไฟฟ้าเพียง 3 เดือน ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 3 รับผิดในวงเงิน 400,000 บาทแล้วโจทก์อุทธรณ์ขอให้โจทก์ได้รับชำระหนี้มากขึ้น ให้จำเลยที่ 2ร่วมรับผิดด้วยและให้จำเลยที่ 3 รับผิดในวงเงิน 660,000 บาทตามฟ้อง แม้ชั้นอุทธรณ์โจทก์จะชนะคดีในข้อที่ได้รับชำระหนี้มากกว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่โจทก์ก็แพ้ในข้อให้จำเลยที่ 2ต้องร่วมรับผิดและให้จำเลยที่ 3 รับผิดในวงเงินตามฟ้อง เมื่อโจทก์ชนะคดีบางข้อและแพ้คดีบางข้อเช่นนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับแก่ทุกฝ่ายจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 834,868.65 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 กันยายน 2532เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share