แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา445และมาตรา1567แสดงให้เห็นว่าหากบิดาหรือมารดาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองได้มอบหน้าที่ให้บุตรทำการงานอันใดอันหนึ่งในครัวเรือนแล้วปรากฏว่ามีบุคคลใดทำละเมิดต่อบุตรซึ่งมีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทำการงานให้แก่บิดามารดาจนถึงแก่ความตายผู้ทำละเมิดจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคือค่าขาดแรงงานในครัวเรือนให้แก่บิดามารดาที่ต้องขาดแรงงานนั้นด้วยและการฟ้องเรียกค่าขาดแรงงานดังกล่าวมิใช่การฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา443วรรคสาม ขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ตายได้ให้ผู้ตายช่วยดำเนินกิจการของบริษัทว.ที่โจทก์ทั้งสองได้จัดตั้งขึ้นและโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทแต่บริษัทว. เป็นนิติบุคคลต่างหากการที่ผู้ตายช่วยดำเนินกิจการของบริษัทว. จะถือว่าผู้ตายช่วยดำเนินกิจการของโจทก์ทั้งสองหาได้ไม่และเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายโจทก์ทั้งสองต้องจ้างบุคคลภายนอกมาทำงานแทนผู้ตายก็เป็นการจ้างมาทำงานให้แก่บริษัทว.หากเป็นกรณีที่ต้องขาดแรงงานบริษัทว. ก็คือบุคคลที่ต้องขาดแรงงานหาใช่โจทก์ทั้งสองไม่โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าขาดแรงงานจากจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชีวิต กิจสวัสดิ์ ผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 1 ฌ-4140 ของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยประมาทเลินเล่อได้พุ่งเข้าชนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 5 ฌ-2844 ที่ผู้ตายขับมา เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร5 ฌ-2844 พังยับเยินและผู้ตายได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวกับการตายของผู้ตายเป็นเงิน 120,000 บาท ค่าขาดแรงงานเพราะในระหว่างที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ได้ช่วยเหลือโจทก์ทั้งสองในกิจการงานค้าขายเป็นค่าขาดแรงงานเดือนละ 3,000 บาท เป็นระยะเวลา 10 ปี เป็นเงิน360,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ทั้งสองคนละ 2,000 บาทหรือเดือนละ 4,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี เป็นเงิน 960,000 บาทรวมค่าสินไหมทดแทนทั้งสิ้น 1,440,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 4 เดือนเป็นเงิน 36,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,476,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสอง1,476,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่อาจฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดแรงงานเพราะผู้ตายไม่เคยช่วยเหลือโจทก์ทั้งสองในกิจการงานค้าขาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ผู้ตายมิได้ช่วยเหลือกิจการงานใด ๆโจทก์ทั้งสองมิได้ขาดแรงงานและมิได้จ้างบุคคลใด ๆ มาทำงานแทนผู้ตาย จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงาน และผู้ตายอาจให้ค่าอุปการะแก่โจทก์ทั้งสองไม่เกินเดือนละ 200 บาท ในระยะเวลา 20 ปีเป็นเงินเพียง 48,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน1,200,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลย ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน530,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า ผู้ตายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ทำงานในตำแหน่งหัวหน้าหมวดจดหน่วยเครื่องวัดประจำสำนักงานเขตคลองเตย จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 1 ฌ-4140 โดยได้มอบให้จำเลยที่ 1ไว้ใช้งานพร้อมทั้งอนุญาตให้นำกลับบ้านได้ ตามวันและเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ได้ขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 1 ฌ-4140 กลับบ้านซึ่งอยู่ที่ซอยวัดดงมูลเหล็กขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ออกจากซอยแสงศึกษาข้ามถนนอิสระภาพเพื่อเข้าซอยวัดดงมูลเหล็ก ได้ชนกับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 5 ฌ-2844 ที่ผู้ตายขับมาตามถนนอิสระภาพจากทางวัดชิโนรสมุ่งหน้าไปทางสี่แยกพรานนกในช่องเดินรถด้านซ้ายติดขอบทางบริเวณปากซอยวัดดงมูลเหล็กเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย เหตุที่รถจักรยานยนต์ทั้งสองคันชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที 1 และจำเลยที่ 1ขับรถจักรยานยนต์ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2
ปัญหาสุดท้ายมีว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดแรงงานหรือไม่ เพียงใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 445บัญญัติว่า “ในกรณีทำให้เขาถึงตาย ฯลฯ ถ้าผู้ต้องหามีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย” และมาตรา 1567 บัญญัติว่า”ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ (1) ฯลฯ (3) ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป (4) ฯลฯ” ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ย่อมแสดงให้เห็นว่า หากบิดาหรือมารดาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองได้มอบหน้าที่ให้บุตรทำการงานอันใดอันหนึ่งในครัวเรือนแล้วปรากฏมีบุคคลใดทำละเมิดต่อบุตรซึ่งมีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทำการงานให้แก่บิดามารดาจนถึงแก่ความตาย ผู้ทำละเมิดจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคือค่าขาดแรงงานให้ครัวเรือนให้แก่บิดามารดาที่ต้องขาดแรงงานอันนั้นด้วย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดแรงงานดังกล่าว เพราะถือว่าแรงงานที่บุตรทำให้บิดาหรือมารดาก็คือการอุปการะเลี้ยงดูอย่างหนึ่งเท่ากับเป็นการฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะนั่นเอง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะการฟ้องเรียกค่าขาดแรงงานดังกล่าวมิใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 443 วรรคสาม ซึ่งเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตรานี้มีความมุ่งหมายว่าหากมีการทำละเมิดจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย บิดาหรือมารดาของผู้ตายก็ชอบที่จะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนการขาดไร้อุปการะได้ตามกฎหมายโดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายจะมีรายได้หรือได้อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาหรือไม่ก็ตามแต่จากคำเบิกความของโจทก์ทั้งสองได้ความว่า ขณะที่ผู้ตายมีชีวิตอยู่ โจทก์ทั้งสองได้ให้ผู้ตายช่วยดำเนินกิจการของบริษัทวีวา เคมีคัลส์และปราบศัตรูพืช จำกัด ที่โจทก์ทั้งสองได้จัดตั้งขึ้นและโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทดังนี้ เห็นว่า บริษัทวีวา เคมีคัลส์และปราบศัตรูพืช จำกัดเป็นนิติบุคคลต่างหากจากโจทก์ทั้งสอง การที่ผู้ตายช่วยดำเนินกิจการของบริษัทวีวา เคมีคัลส์และปราบศัตรูพืช จำกัด จะถือว่าผู้ตายช่วยดำเนินกิจการของโจทก์ทั้งสองหาได้ไม่ และเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายโจทก์ทั้งสองต้องจ้างบุคคลภายนอกมาทำงานแทนผู้ตายก็เป็นการจ้างมาทำงานให้แก่บริษัทวีวา เคมีคัลส์และปราบศัตรูพืชจำกัด ดังนั้น หากเป็นกรณีที่ต้องขาดแรงงาน บริษัทวีวาเคมีคัลส์และปราบศัตรูพืช จำกัด ก็คือบุคคลที่ต้องขาดแรงงานหาใช่โจทก์ทั้งสองไม่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าขาดแรงงานจากจำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดค่าขาดแรงงานให้โจทก์ทั้งสอง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองรวมเป็นเงิน 770,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์