คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6232/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนปี2530จำเลยที่1ไม่เคยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการยกตู้สินค้าขึ้นลงจากเรือบรรทุกสินค้าหรือที่เรียกว่าสิทธิหน้าท่าเรือบรรทุกสินค้าที่เข้ามาขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือกรุงเทพฯในขณะนั้นหากมีปั้นจั่นประจำเรือก็จะใช้ปั้นจั่นของตนยกตู้สินค้าหากเรือลำใดไม่มีหรือมีไม่เพียงพอก็จะใช้ปั้นจั่นของจำเลยที่1หรือของเอกชนซึ่งได้รับอนุญาตจากจำเลยที่1ให้เข้าไปรับจ้างยกตู้สินค้าโดยเสียค่าธรรมเนียมการเข้าออกด้วยต่อมาจำเลยที่1มีนโยบายที่จะริเริ่มประกาศสิทธิหน้าท่าจึงได้สั่งซื้อปั้นจั่นเคลื่อนที่ชนิดเดินบนรางจำนวน6คัน จากประเทศยูโกสลาเวีย กำหนดติดตั้งแล้วเสร็จภายใน520วันได้มีบริษัทเอกชนมีหนังสือไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอขอเข้าทำการการรับจ้างขนถ่ายตู้สินค้าขึ้นลงจากเรือบรรทุกสินค้าในช่วงเวลาที่รอการติดตั้งปั้นจั่นของจำเลยที่1ดังกล่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจึงส่งเรื่องให้จำเลยที่1พิจารณาจำเลยที่1ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาตรวจวิเคราะห์ถึงผลได้ผลเสียแล้วเห็นชอบให้มีการประกาศสิทธิหน้าที่โดยให้เอกชนเข้ามารับจ้างเหมาขนถ่ายตู้สินค้าครั้งวันที่26พฤศจิกายน2530โจทก์กับจำเลยที่1จึงได้ทำสัญญาจ้างเหมายกตู้สินค้าขึ้นลงจากเรือณท่าเรือกรุงเทพฯโดยใช้ปั้นจั่นเคลื่อนที่เริ่มลงมือทำงานภายใน90วันนับแต่วันทำสัญญาเมื่อโจทก์เริ่มปฏิบัติงานก็มีสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพฯได้ร้องเรียนต่อจำเลยที่1รัฐบาลและคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐบาลและเอกชนว่าการที่จำเลยที่1ประกาศสิทธิหน้าท่าและจ้างเหมาให้โจทก์ยกตู้สินค้านั้นทำให้ตู้สินค้าแออัดที่หน้าท่าความสามารถในการยกตู้สินค้าของโจทก์ไม่เพียงพอชมรมเดินเรือต่างประเทศจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมความคับคั่งที่ท่าเรือกรุงเทพฯอันจะนำความเสียหายทางเศรษฐกิจมาสู่ประเทศชาติกระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือสั่งการให้จำเลยที่1พิจารณาหาทางยกเลิกสัญญาที่ทำกับโจทก์และให้จำเลยที่1พิจารณาอนุญาตให้เรือบรรทุกสินค้าใช้ปั้นจั่นของเรือยกสินค้าขั้นลงได้ต่อมาวันที่31พฤษภาคม2531จำเลยที่1ได้ประกาศสิทธิการยกตู้สินค้าหน้าท่าอนุญาตให้เรือสินค้าใช้ปั้นจั่นของเรือยกสินค้าขึ้นลงในบริเวณหน้าท่าเรือกรุงเทพฯได้เมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมให้แก่จำเลยที่1ในอัตราร้อยละ25ของค่าธรรมเนียมการใช้ปั้นจั่นยกสินค้าของจำเลยที่1แล้วดังนี้สิทธิหน้าที่จำเลยที่1ประกาศไว้แต่แรกโดยพื้นฐานของสิทธิจำเลยที่1ซึ่งเป็นผู้ทรงเอกสิทธิดังกล่าวย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกได้เสมอและต้องสันนิษฐานไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา6ว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริตโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าจำเลยที่1กระทำการโดยไม่สุจริตมีภาระที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ความตามข้อกล่าวอ้างเช่นนั้นแต่จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎในทางพิจารณาได้ความว่าการประกาศสิทธิหน้าท่าของจำเลยที่1เป็นเหตุโดยตรงก่อให้เกิดข้อท้วงติงและร้องเรียนจากบรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่าจะก่อปัญหาให้เกิดผลเสียหายเป็นการล่วงหน้าแล้วที่โจทก์อ้างว่าเป็นพฤติการณ์วางแผนต่อต้านเพื่อล้มการประกาศสิทธิหน้าท่าโดยไม่สุจริตแต่จากเอกสารหมายจ.60ซึ่งเป็นหนังสือของบรรดาเจ้าของเรือขออนุญาตจำเลยที่2ใช้ปั้นจั่นของเรือทำการขนถ่ายสินค้าเองรวม105ฉบับด้วยเหตุขัดข้องล่าช้าอันเกิดจากการทำงานของโจทก์ที่สืบเนื่องจากการประกาศเอกสิทธิหน้าท่าของจำเลยที่1ทั้งสิ้นและยังปรากฎตามเอกสารหมายล.26ถึงล.51อันเป็นใบเสร็จรับเงินค่าจ้างของโจทก์จากจำเลยและบันทึกรายงานการตรวจการจ้างของบริษัทโจทก์ปรากฎว่าโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติงานถูกต้องครบถ้วนตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ตามสัญญาจ้างเอกสารหมายจ.20ข้อ16,17และ18ต้องถูกหักเงินค่าจ้างเป็นค่าปรับและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยที่1ตั้งแต่วันเริ่มสัญญาคือวันที่25กุมภาพันธ์2531ตลอดมาจนถึงสิ้นเดือนมกราคม2532เป็นข้อเท็จจริงที่ชี้ชัดว่าการประกาศสิทธิหน้าท่าของจำเลยที่1และความล่าช้าในการทำงานของโจทก์ได้ก่อให้เกิดความแออัดคับคั่งที่หน้าท่าเป็นผลเสียหายดังที่ได้มีการร้องเรียนก่อนหน้านั้นจริงการร้องเรียนต่อต้านล่วงหน้าของบรรดาผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวจึงเป็นการคาดการณ์โดยสุจริตและถูกต้องตามความจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกร้องให้แก้ไขซึ่งปรากฎรายละเอียดตามบันทึกรายงานการประชุมเรื่องการแก้ไขปัญหาจากการประกาศเอกสิทธิหน้าท่าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยวันที่13พฤษภาคม2531มีการแสดงข้อเท็จจริงและเหตุผลตลอดจนผลเสียหายที่เกิดแก่บรรดาผู้เกี่ยวข้องทุกแง่มุมโดยละเอียดจากผู้แทนของหน่วยราชการต่างๆตลอดจนผู้แทนองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องสรุปได้ชัดว่าหากไม่มีการแก้ไขจะเกิดผลกระทบเสียหายต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจของชาติโดยรวมรุนแรงต่อไปด้วยดังนี้การประกาศยกเลิกสิทธิหน้าท่าณท่าเรือกรุงเทพฯและอนุญาตให้เรือสินค้าที่มีปั้นจั่นบนเรือยกตู้สินค้าขึ้นลงได้เองนั้นจำเลยที่1ได้กระทำสืบเนื่องจากผลการประชุมดังกล่าวเป็นการกระทำที่เกิดจากการรับฟังพิเคราะห์ความเห็นและเหตุผลของทุกฝ่ายโดยรอบคอบแล้วเป็นการใช้อำนาจในการบริหารตามเอกสิทธิของตนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งข้อเท็จจริงและเหตุผลเพื่อระงับและป้องกันมิให้เกิดผลเสียหายต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องตลอดจนความเสียหายต่อเศรษฐกิจของชาติโดยรวมโดยสุจริตและเป็นการกระทำเพื่อแก้ไขมิให้เกิดความเสียหายอันสืบเนื่องมาจากเหตุที่โจทก์มีส่วนก่อขึ้นโดยตรงด้วยจึงหาใช่การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา421ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดการและดำเนินการของการท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการจำเลยที่ 3 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีอำนาจและหน้าที่กำกับโดยทั่วไปในกิจการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2530 จำเลยที่ 1 และที่ 2โดยได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 และจากจำเลยที่ 3ได้กระทำการประกาศสิทธิยกตู้สินค้าหน้าท่า ณ ท่าเทียบเรือกรุงเทพฯและห้ามบรรดาเรือสินค้าที่มีปั้นจั่นบนเรือยกสินค้าขึ้นลงโดยเด็ดขาดนอกจากจะใช้ปั้นจั่นของการท่าเรือแห่งประเทศไทยหรือที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยจัดหาให้ และจำเลยที่ 1 ได้เปิดประมูลจ้างเหมาให้บริษัททั่ว ไป มารับจ้างจำเลยที่ 1 ยกตู้สินค้าขึ้นลงจากเรือบรรทุกสินค้า โดยกำหนดเงื่อนไขผู้มารับจ้างว่าจะต้องมีรถปั้นจั่นเคลื่อนที่ใช้ยกตู้สินค้าขั้นลงได้จำนวน 12 ค้น แต่ละคันสามารถยกตู้สินค้าได้โดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ 12 ตู้ ต่อมาโจทก์เข้าประมูลเสนอราคาได้และได้ทำสัญญาจ้างเหมายกตู้สินค้ากับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2530 โดยจำเลยที่ 1จะจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ในการยกตู้สินค้าขนาดไม่เกิน 20 ฟุต ตู้ละ750 บาท และขนาดเกิน 20 ฟุต ตู้ละ 1,275 บาท กำหนดเริ่มรับจ้างภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันทำสัญญา ซึ่งโจทก์ได้เริ่มทำการยกตู้สินค้าตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2531 เป็นต้นมา ตั้งแต่เริ่มสัญญาจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้อนุญาตให้เรือสินค้าที่มีปั้นจั่นบนเรือยกตู้สินค้าขึ้นลงได้เองจำนวนหนึ่ง ต่อมาจำเลยที่ 3กระทำการโดยมิชอบและไม่สุจริตได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ประกาศยกเลิกสิทธิหน้าท่า ณ ท่าเรือกรุงเทพฯ แล้วอนุญาตให้เรือสินค้าที่มีปั้นจั่นบนเรือยกตู้สินค้าขึ้นลงได้เองโดยเสียค่าธรรมเนียมให้แก่จำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 25 ของค่าธรรมเนียมการใช้ปั้นจั่น ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ได้ประกาศดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่30 พฤษภาคม 2531 โดยให้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2531เป็นต้นไป ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกระทำการโดยไม่สุจริตไม่มีอำนาจที่กระทำได้ และร่วมกันปฏิบัติผิดสัญญาจ้างเหมา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถรับจ้างยกตู้สินค้าจากเรือบรรเทาสินค้าที่มีปั้นจั่นได้เต็มจำนวนตามสัญญา ทำให้ขาดประโยชน์ที่ควรจะได้ กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2531 ถึงวันที่ 31พฤษภาคม 2531 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้อนุญาตให้เรือสินค้าที่มีปั้นจั่นบนเรือยกตู้สินค้าได้เองหลายครั้งทำให้โจทก์ขาดรายได้จากการยกตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต จำนวน 25,856 ตู้ ขนาด 40 ฟุตจำนวน 9,905 ตู้ เป็นเงิน 32,020,875 บาทคิดรวมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 33,850,013 บาท และตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2531อันเป็นวันบังคับใช้การยกเลิกสิทธิยกตู้สินค้าหน้าท่า ถึงวันที่ 31สิงหาคม 2532 อันเป็นวันครบกำหนดตามสัญญา โจทก์ขาดรายได้จากการยกตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต จำนวน 372,277 ตู้ และขนาด 40 ฟุต จำนวน189,126 ตู้ คิดเป็นเงินรวม 549,872,775 บาท รวมเป็นค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสิ้น 583,722,788 บาท โจทก์ได้บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระเงินดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 583,722,788 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 581,893,650 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจนชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ไม่สมบูรณ์ และลายมือชื่อผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ทั้งไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3ให้รับผิดเป็นส่วนตัว เพราะโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาจ้างเหมาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยให้ลงชื่อในสัญญาจ้างเหมาะตามฟ้องแทนจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ใช่คู่สัญญาด้วย จำเลยที่ 2และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสามมิได้เป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญาตามฟ้องแก่โจทก์เป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญามาตั้งแต่วันเริ่มสัญญา กล่าวคือ โจทก์ไม่สามารถทำการยกตู้สินค้าขึ้นลงจากเรือบรรทุกสินค้าได้อย่างครบถ้วนต่อเนื่อง ไม่ติดขัด และไม่สามารถยกตู้สินค้าขึ้นลงจากเรือให้ได้โดยเฉลี่ยไม่ตำกว่าชั่วโมงละ 12 ตู้ต่อคันทั้งนี้ เนื่องจากรถปั้นจั่นที่โจทก์นำมาใช้งานตามสัญญาจ้างเหมาจำนวน 12 คัน นั้นมีอยู่ 8 คัน ที่มีสภาพเก่า ผ่านการใช้งานมานาน ทั้งรถปั้นจั่นของโจทก์ทั้งหมดเป็นชนิดเครื่องยนต์ดีเซลประสิทธิภาพในการทำงานจะลดลงเรื่อย ๆ และจะต้องมีเวลาพักการใช้จ่าย จึงไม่อาจทำงานให้ต่อเนื่องโดยไม่ติดขัดตามที่กำหนดไว้ในสัญญา และจำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิปรับโจทก์ตามสัญญา คิดคำนวณจนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2532 เป็นเงินค่าปรับถึง 3,615,700 บาทซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ได้ แต่จำเลยที่ 1 เกรงจะเกิดความเสียความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศเพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีรถปั้นจั่นเพียงพอให้บริการในการยกตู้สินค้าขึ้นลงจากเรือบรรทุกสินค้าได้ จึงยังคงให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาต่อไป และจากการปฏิบัติผิดสัญญาของโจทก์ดังกล่าวก่อให้เกิดความแออัดคับคั่งและความล่าช้าในการยกตู้สินค้าที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก เรือบรรทุกสินค้าที่เข้ามาเทียบท่าต้องเสียเวลารอให้โจทก์ยกตู้สินค้าขึ้นลงเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น กลุ่มพ่อค้าผู้ส่งออกและนำเข้า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพฯ จึงได้มีหนังสือร้อยเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาแก้ไข จำเลยที่ 2 ร่วมกับคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยพิจารณาแล้วเสนอความเห็นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี และต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงคมนาคมรับไปสั่งการให้จำเลยที่ 1แก้ไขประกาศเรื่องสิทธิการยกตู้สินค้าหน้าท่าเสียใหม่ โดยให้มีข้อยกเว้นให้เรือสินค้าที่มีปั้นจั่นประจำเรือและยินยอมชำระเงินค่าสิทธิหน้าท่าในอัตราร้อยละ 25 ของอัตราค่าธรรมเนียมการใช้ปั้นจั่นของจำเลยที่ 1 มีสิทธิยกสินค้าขึ้นลงจากเรือของตนเองได้การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการปฏิบัติไปตามกฎหมายและข้อสัญญาโดยสุจริตมิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงสัญญาและลดงานจ้างตามสัญญาดังที่โจทก์ฟ้อง การประกาศสิทธิหน้าท่าเป็นเอกสิทธิเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1สัญญาจ้างเหมาตามฟ้องเป็นรูปแบบของสัญญาจ้างทำของ มิใช่เป็นการให้สัมปทานหรือมอบสิทธิผูกขาดให้แก่โจทก์เป็นผู้ยกตู้สินค้าขึ้นลงที่ท่าเรือกรุงเทพฯ ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยินยอมอนุญาตให้เรือสินค้าที่มีปั้นจั่นประจำเรือใช้ปั้นจั่นของเรือยกตู้สินค้าขึ้นลงได้เองเพราะโจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาจนเกิดความแออัดล่าช้าในการขนถ่ายสินค้า ถือว่าความเสียหายเกิดจากการกระทำของโจทก์เองส่วนค่าเสียหายจากการที่มีการแก้ไขประกาศสิทธิหน้าท่าของจำเลยที่ 1นัน เป็นการคิดคำนวณอย่างเลื่อยลอย โดยคิดเต็มจำนวนที่โจทก์คาดว่าจะทำงานได้ทั้งมิได้หักค่าใช้จ่าย ค่าภาษี ความจริงจำเลยที่ 1 กำลังติดตั้งปั้นจั่นเคลื่อนที่ชนิดเดินบนรางจะแล้วเสร็จและใช้งานได้แล้วซึ่งปั้นจั่นของจำเลยที่ 1 จะต้องยกตู้สินค้าก่อนตามสัญญา และจำเลยที่ 1 อาจติดตั้งครบ 6 คัน ได้ก่อนวันที่ 31 สิงหาคม 2532 และแจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว ถือว่าสัญญาจ้างเหมาสิ้นสุดในวันที่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบค่าเสียหายของโจทก์จึงไม่ตรงกับความเป็นจริง และโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ทั้งมิได้ทวงถามจำเลยทั้งสามขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคล จัดตั้งขั้นตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2494 มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินการบริหารกิจการต่าง ๆของท่าเรือกรุงเทพฯ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการ มีหน้าที่และรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการจัดการและการดำเนินการของการท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยตรง ซึ่งรวมกิจการท่าเรือกรุงเทพฯ ด้วยจำเลยที่ 3 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลกิจการของจำเลยที่ 1 ก่อนปี 2530 จำเลยที่ 1 ไม่เคยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการยกตู้สินค้าขึ้นลงจากเรือบรรทุกสินค้าหรือที่เรียกว่าสิทธิหน้าท่าซึ่งโดยทั่วไปแล้วแทนทุกประเทศจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการยกตู้สินค้าเรือบรรทุกสินค้าที่เข้ามาขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือกรุงเทพฯ ในขณะนั้น หากมีปั้นจั่นประจำเรือก็จะใช้ปั้นจั่นของตนยกตู้สินค้า หากเรือลำใดไม่มีหรือมีไม่เพียงพอ ก็จะใช้ปั้นจั่นของจำเลยที่ 1 หรือของเอกชนซึ่งได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1ให้เข้าไปรับจ้างยกตู้สินค้าโดยเสียค่าธรรมเนียมการเข้าออกด้วยต่อมาจำเลยที่ 1 มีนโยบายที่จะริเริ่มประกาศสิทธิหน้าท่า จึงได้สั่งซื้อปั้นจั่น เคลื่อนที่ชนิดเดินบนรางจำนวน 6 คัน จากประเทศยูโกสลาเวีย กำหนดติดตั้งแล้วเสร็จภายใน 520 วัน ได้มีบริษัทเอกชนมีหนังสือไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอขอเข้าทำการรับจ้างขนถ่ายตู้สินค้าขึ้นลงจากเรือบรรทุกสินค้าในช่วงเวลาที่รอการติดตั้งปั้นจั่นของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจึงส่งเรื่องให้จำเลยที่ 1 พิจารณาจำเลยที่ 1ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาตรวจวิเคราะห์ถึงผลได้ผลเสียแล้วเห็นชอบให้มีการประกาศสิทธิหน้าท่าโดยให้เอกชนเข้ามารับจ้างเหมาขนถ่ายตู้สินค้าต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนให้เข้ามายื่นซองเสนอราคารับจ้างเหมาขนถ่ายตู้สินค้า โดยกำหนดเงื่อนไขว่าเอกชนที่เข้ามารับจ้างจำเลยที่ 1 จะต้องมีรถปั้นจั่นเครื่องที่ไม่น้อยกว่า 12 คัน แต่ละคันสามารถยกตู้สินค้าได้ไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ 12 ตู้ ต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม 2530 จำเลยที่ 1 ได้ประกาศสิทธิการยกตู้สินค้าหน้าท่าห้ามเรือสินค้าใช้ปั้นจั่นของเรือยกตู้สินค้าขึ้นลงในบริเวณหน้าท่า และให้ใช้ปั้นจั่นของจำเลยที่ 1หรือที่จำเลยที่ 1 จัดหาให้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ปั้นจั่นของเรือยกตู้สินค้าต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ก่อน ปรากฎตามประกาศการท่าเรือแห่งประเทศไทย เรื่อง สิทธิการยกตู้สินค้าหน้าท่าเอกสารหมาย จ.13 ซึ่งประกาศดังกล่าวมีผลบังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศหลังจากนั้นชมรมเดินเรือต่างประเทศได้มีหนังสือร้องเรียนไปยังจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และนายกรัฐมนตรีว่าการประกาศสิทธิการยกตู้สินค้าหน้าท่าดังกล่าวจะทำให้เกิดความแออัดที่หน้าท่าและไม่เป็นผลดีแก่ประเทศ จำเลยที่ 3 ได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1แจ้งว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้ทบทวนการประกาศสิทธิหน้าท่าปรากฎตามเอกสารหมาย จ.27 คณะกรรมการจำเลยที่ 1 ได้พิจารณาทบทวนมติการประกาศสิทธิหน้าท่า ในระหว่างนั้นมีโจทก์และบริษัทอื่นยื่นซองประกวดราคารับจ้างเหมาขนตู้สินค้า และโจทก์เป็นผู้ประกวดราคาได้ในที่สุดนายกรัฐมนตรีมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ให้ประกาศสิทธิหน้าท่าและทำสัญญากับโจทก์ได้ ปรากฎตามเอกสารหมาย จ.29 ครั้นวันที่ 26พฤศจิกายน 2530 โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงได้ทำสัญญาจ้างเหมายกตู้สินค้าขึ้นลงจากเรือ ณ ท่าเรือกรุงเทพฯ โดยใช้ปั้นจั่นเคลื่อนที่เริ่มลงมือทำงานภายใน 90 วัน นับแต่วันทำสัญญา มีกำหนดระยะเวลาจ้างไม่เกิน 520 วัน นับแต่วันเริ่มลงมือทำงานหรือเมื่อจำเลยที่ 1ได้ทำการติดตั้งปั้นจั่นจำนวน 6 คัน เสร็จเรียบร้อย โดยจำเลยที่ 1จะแจ้งให้โจทก์ทราบแล้วแต่อย่างใดจะถึงกำหนดก่อน จำเลยที่ 1ตกลงจ่ายค่าจ้างให้โจทก์สำหรับตู้สินค้าขนาดยาวไม่เกิน 20 ฟุตตู้ละ 750 บาท ขนาดยาวเกินว่า 20 ฟุต ตู้ละ 1,275 บาท โดยจ่ายค่าจ้างเดือนละครั้ง ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1ได้รับใบเรียกเก็บเงินจากโจทก์ ในกรณีที่รถยนต์ลากพ่วงและรถพ่วงของจำเลยที่ 1 มีไม่เพียงพอในการปฏิบัติงาน โจทก์ต้องจัดหามาปฏิบัติงานร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่จำเลยที่ 1 ได้แจ้งเป็นหนังสือ ในระหว่างการทำงานตามสัญญา โจทก์ต้องยินยอมให้รถปั้นจั่นของจำเลยที่ 1 เข้าปฏิบัติงานยกตู้สินค้าก่อนเป็นอันดับแรก และเมื่อรถปั้นจั่นหน้าท่าชนิดเดินบนรางของจำเลยที่ 1ติดตั้งแล้วเสร็จไม่ว่ากี่คันก็ตาม รถปั้นจั่นดังกล่าวนี้ก็มีสิทธิปฏิบัติงานยกตู้สินค้าก่อนเป็นอันดับแรกเช่นกัน และนับตั้งแต่วันเริ่มปฏิบัติงาน โจทก์จะต้องทำการยกตู้สินค้าขึ้นลงจากเรือสินค้าให้ได้โดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ 12 ตู้ ต่อคัน หากยกได้น้อยกว่านี้ โจทก์ยินยอมให้ปรับในอัตราชั่วโมงละ 12,000 บาท ทั้งจะต้องรับผิดต่อความเสียหายเมื่อเรือสินค้าไม่สามารถออกจากท่าได้ตามกำหนดเวลา และโจทก์จะต้องมีปั้นจั่นเคลื่อนที่เข้ามาประจำอยู่ไม่น้อยกว่า12 คัน หากมีน้อยกว่าจำนวนดังกล่าว และจำเลยที่ 1 ไม่ใช่สิทธิเลิกสัญญา โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 ปรับชั่วโมงละ 12,000 บาทต่อคันที่ขาดไปปรากฎรายละเอียดตามสัญญาจ้างเหมาเอกสารหมาย จ.20หรือ ล.1 ต่อมาวันที่ 29 ธันวาคม 2530 จำเลยที่ 1 ได้ประกาศกำหนดจะใช้สิทธิการยกตู้สินค้าหน้าท่าตามที่ประกาศไปแล้วเมื่อวันที่ 27กรกฎาคม 2530 ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2531 เวลา 8 นาฬิกาเป็นต้นไป ปรากฎตามเอกสารหมาย จ.32 หรือ ล.3 ซึ่งเป็นกำหนดเวลาที่ให้โจทก์เริ่มปฏิบัติงานตามสัญญาจ้างเหมาดังกล่าว เมื่อโจทก์เริ่มปฏิบัติงานก็มีสมาคมเจ้าของและต้นแทนเรือกรุงเทพฯ ได้ร้องเรียนต่อจำเลยที่ 1 รัฐบาล และคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐบาลและเอกชนว่า การที่จำเลยที่ 1 ประกาศสิทธิหน้าท่าและจ้างเหมาให้โจทก์ยกตู้สินค้านั้น ทำให้ตู้สินค้าแออัดที่หน้าท่าความสามารถในการยกตู้สินค้าของโจทก์ไม่เพียงพอ ชมรมเดินเรือต่างประเทศจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมความคับคั่งที่ท่าเรือกรุงเทพฯ อันจะนำความเสียหายทางเศรษฐกิจมาสู่ประเทศชาติ กระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือสั่งการให้จำเลยที่ 1 พิจารณาหาทางยกเลิกสัญญาที่ทำกับโจทก์ และให้จำเลยที่ 1 พิจารณาอนุญาตให้เรือบรรทุกสินค้าใช้ปั้นจั่นของเรือยกสินค้าขึ้นลงได้ คณะกรรมการของจำเลยที่ 1 พิจารณาแล้วมีหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงคมนาคมว่าการยกเลิกสัญญากับโจทก์อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 อย่างร้ายแรงหลายประการกล่าวคือโจทก์อาจเรียกค่าเสียหายจำนวนมาก การเลิกสัญญากะทันหันจะเป็นเหตุให้เรือสินค้าอีกประมาณร้อยละ 30 ที่ไม่มีปั้นจั่นไม่อาจทำการขนถ่ายสินค้าได้ จำเลยที่ 1 อาจถูกเจ้าของเรือฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ เรือสินค้าที่ไม่มีปั้นจั่นจะก่อให้เกิดปัญหาความคับคั่ง ทำให้เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงานและการให้บริการของจำเลยที่ 1 ซึ่งจะเกิดความเสียหายอย่างยิ่งแก่ผู้ใช้บริการของจำเลยที่ 1 และคณะกรรมการจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่จะดำเนินการเช่นนั้นได้จึงมีความเห็นเป็นเอกฉันธ์ ว่าควรรายงานข้อเท็จจริงและผลกระทำต่าง ๆต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อทราบรายละเอียดปรากฎตามเอกสารหมายจ.42 จำเลยที่ 3 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเห็นว่าเรื่องดังกล่าวจำเลยที่ 1 น่าจะรับไปปฏิบัติได้ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่ได้สั่งการไปก่อนที่ชมรมเดินเรือต่างประเทศจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมความคับคั่งที่ท่าเรือกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่1 มิถุนายน 2531 แต่เมื่อจำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่มีอำนาจกระทรวงคมนาคมจึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและสั่งการตามที่เห็นสมควรต่อไป คณะรัฐมนตรีรับทราบแล้วกระทรวงคมนาคมจึงดำเนินการโดยมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการตามที่กระทรวงคมนาคมได้สั่งการโดยด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรหาทางยกเลิกสัญญาจ้างเหมากับโจทก์ และอนุญาตให้เรือใช้ปั้นจั่นของเรือยกสินค้าขึ้นลงได้ทันทีก่อนที่ชมรมเดินเรือต่างประเทศจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมความคับที่ท่าเรือกรุงเทพฯ รายละเอียดปรากฎตามเอกสารหมาย จ.43 ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม 2531 จำเลยที่ 1ได้ประกาศสิทธิการยกตู้สินค้าหน้าท่าอนุญาตให้เรือสินค้าใช้ปั้นจั่นของเรือยกสินค้าขึ้นลงในบริเวณหน้าท่าเรือกรุงเทพฯ ได้ เมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมให้จำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 25 ของค่าธรรมเนียมการใช้ปั้นจั่นยกสินค้าของจำเลยที่ 1 แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่1 มิถุนายน 2531 เวลา 8 นาฬิกา เป็นต้นไป รายละเอียดปรากฎตามเอกสารหมาย จ.44 แต่โจทก์ยังคงปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาต่อไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2532 อันเป็นวันที่สัญญาจ้างเหมาสิ้นสุดลงปรากฎว่าในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2531ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2531 จำเลยที่ 1 ได้ยินยอมอนุญาตให้เรือสินค้าใช้ปั้นจั่นของเรือยกตู้สินค้าขึ้นลงจากเรือมีตู้สินค้าขนาด 20 ฟุตจำนวน 19,586 ตู้ และขนาด 40 ฟุต จำนวน 8,965 ตู้ และตั้งแต่วันที่1 มิถุนายน 2531 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2532 มีจำนวนตู้สินค้าซึ่งเรือสินค้าใช้ปั้นจั่นของตนเองยกเป็นตู้ขนาด 20 ฟุต จำนวน278,786 ตู้ และขนาด 40 ฟุต จำนวน 142,879 ตู้
สำหรับประเด็นว่า จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่นั้นสิทธิหน้าท่าที่จำเลยที่ 1 ประกาศไว้แต่แรก โดยพื้นฐานของสิทธิจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ทรงเอกสิทธิดังกล่าวย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกได้เสมอและต้องสันนิษฐานไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 กระทำการโดยไม่สุจริต มีภาระที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ความตามข้อกล่าวอ้างเช่นนั้นแต่จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎในทางพิจารณาได้ความว่า การประกาศสิทธิหน้าท่าของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุโดยตรงก่อให้เกิดข้อท้วงติงและร้องเรียนจากบรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่าจะก่อปัญหาให้เกิดผลเสียหายเป็นการล่วงหน้าแล้ว ที่โจทก์อ้างว่าเป็นพฤติการณ์วางแผนต่อต้านเพื่อล้มการประกาศสิทธิหน้าท่าโดยไม่สุจริต แต่จากเอกสารหมายล.60 ซึ่งเป็นหนังสือของบรรดาเจ้าของเรือขออนุญาตจำเลยที่ 2ใช้ปั้นจั่นของเรือทำการขนถ่ายสินค้าเองรวม 105 ฉบับ ด้วยเหตุขัดข้องล่าช้าอันอันเกิดจากการทำงานของโจทก์ที่สืบเนื่องจากการประกาศเอกสิทธิหน้าท่าของจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น และยังปรากฎตามเอกสารหมาย ล.26 ถึง ล.51 อันเป็นใบเสร็จรับเงินค่าจ้างของโจทก์จากจำเลย และบันทึกรายงานการตรวจการจ้างของบริษัทโจทก์ ปรากฎว่าโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติงานถูกต้องครบถ้วนตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.20 ข้อ 16, 17 และ 18 ต้องถูกหักเงินค่าจ้างเป็นค่าปรับและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันเริ่มสัญญาคือวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2531 ตลอดมาจนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2532เป็นข้อเท็จจริงที่ชี้ชัดว่า การประกาศสิทธิหน้าท่าของจำเลยที่ 1และความล่าช้าในการทำงานของโจทก์ได้ก่อให้เกิดความแออัดคับคั่งที่หน้าท่าเป็นผลเสียหายดังที่ได้มีการร้องเรียนก่อนหน้านั้นจริงการร้องเรียนต่อต้านล่วงหน้าของบรรดาผู้เกี่ยวข้องดังกล่าว จึงเป็นการคาดการณ์โดยสุจริตและถูกต้องตามความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกร้องให้แก้ไขซึ่งปรากฎรายละเอียดตามบันทึกรายงานการประชุมเรื่องการแก้ไขปัญหาจากการประกาศเอกสิทธิหน้าท่าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย วันที่ 13 พฤษภาคม 2531 เอกสารหมาย ล.16มีการแสดงข้อเท็จจริงและเหตุผลตลอดจนผลเสียหายที่เกิดแก่บรรดาผู้เกี่ยวข้องทุกแง่มุมโดยละเอียดจากผู้แทนของหน่วยราชการต่าง ๆตลอดจนผู้แทนองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ความชัดว่า หากไม่มีการแก้ไขจะเกิดผลกระทบเสียหายต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจของชาติโดยรวมรุนแรงต่อไปด้วย ดังนี้ การประกาศยกเลิกสิทธิหน้าท่า ณท่าเรือกรุงเทพฯ และอนุญาตให้เรือสินค้าที่มีปั้นจั่นบนเรือยกตู้สินค้าขึ้นลงได้เองนั้นจำเลยที่ 1 ได้กระทำสืบเนื่องจากผลการประชุมดังกล่าว เป็นการกระทำที่เกิดจากการรับฟังพิเคราะห์ความเห็นและเหตุผลของทุกฝ่ายโดยรอบคอบแล้ว เป็นการใช้อำนาจในการบริหารตามเอกสิทธิของตนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งข้อเท็จจริงแห่งข้อเท็จจริงและเหตุผลเพื่อระงับและป้องกันมิให้เกิดผลเสียหายต่อเอกชนที่เกี่ยวข้องตลอดจนความเสียหายต่อเศรษฐกิจของชาติโดยรวมโดยสุจริต หาใช่การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 ที่โจทก์อ้างไม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการกระทำที่มีผลเป็นการแก้ไขมิให้เกิดความเสียหายอันสืบเนื่องจากเหตุที่โจทก์มีส่วนก่อโดยตรงด้วย
พิพากษายืน

Share