คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6003/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การออกเช็คที่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ.2534มาตรา4นั้นจะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายข้อเท็จจริงที่ว่าการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายจึงเป็นองค์ประกอบการกระทำความผิดด้วยโจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา158(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2535 วันใดไม่ปรากฏชัดเวลากลางวัน จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน คือจำเลยได้ออกเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาเกาะสมุย 5 ฉบับลงวันที่ 10, 20, 30 สิงหาคม วันที่ 10 และ 20 กันยายน 2535สั่งจ่ายเงินจำนวน 27,009, 23,738, 23,249, 34,075 และ 34,437 บาทตามลำดับ รวมเป็นเงิน 142,553 บาท มอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ เช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดใช้เงิน โจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทุกฉบับ ฉบับแรกปฏิเสธกาาจ่ายเงินวันที่ 17 สิงหาคม 2535 อ้างเหตุว่า โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย ฉบับต่อ ๆ มา ปฏิเสธการจ่ายเงินวันที่24 สิงหาคม วันที่ 1, 11 และ 21 กันยายน 2535 ตามลำดับ อ้างเหตุว่า มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายการกระทำของจำเลยจึงเป็นการออกเช็คโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค หรือในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชี อันจะพึงให้ใช้ได้หรือให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินให้ในขณะที่ออกเช็คนั้นหรือห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยทุจริต เหตุเกิดที่ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษลงโทษจำคุกกระทงละ 3 เดือน รวมเป็นจำคุก 15 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ(ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78) ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้วคงจำคุก 10 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยกระทงละ 1 เดือน รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 5 เดือน และไม่ลดโทษให้นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่าคำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น (2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชี อันจะพึงให้ใช้เงินได้ (3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนที่อยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น (4) ฯลฯ (5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต เมื่อได้มีการยื่นเช็คให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด” ตามบทบัญญัติดังกล่าวการออกเช็คที่จะเป็นความผิดนั้นจะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายด้วย ข้อเท็จจริงที่ว่าการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จึงเป็นองค์ประกอบการกระทำความผิดด้วย การที่โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share