คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5385/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนี้ตามสัญญากู้เงินระบุวันครบกำหนดสัญญาไว้ถือได้ว่าเป็นหนี้ที่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทินจำเลยทั้งสามจะอ้างว่ามีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1ให้โจทก์เป็นผู้รับเงินค่าซื้อตึกแถวจากผู้ซื้อตึกแถวหักชำระหนี้โดยจำเลยที่1ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยเป็นงวดและไม่มีกำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนและนำพยานบุคคลมาสืบตามข้ออ้างดังกล่าวเพื่อที่จะให้ศาลรับฟังว่าหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระจำเลยทั้งสามไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาหาได้ไม่เพราะเป็นการสืบพยานบุคคลเพื่อเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94(ข) ปัญหาที่ว่าม. ทนายความได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแทนโจทก์แต่โจทก์ไม่มีหนังสือมอบอำนาจที่ให้ม.มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองแทนโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา728เป็นปัญหาที่จำเลยมิได้ยกต่อสู้ไว้ในคำให้การและมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงเป็นปัญหาที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา225วรรคแรก โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นบริษัทเงินทุนและเป็นสถาบันการเงินตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ของสถาบันการเงินพ.ศ.2523อันจะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้เป็นพิเศษโดยมีอัตราสูงกว่าที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา654ร้อยละ15ต่อปีจำเลยทั้งสามให้การในส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยแต่เพียงว่าดอกเบี้ยที่โจทก์ฟ้องร้องสูงกว่ากฎหมายกำหนดไว้ซึ่งจำเลยที่1เห็นว่าไม่ควรเกินร้อยละ15ต่อปีคำให้การของจำเลยทั้งสามดังกล่าวไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องสูงกว่ากฎหมายอะไรและเพราะเหตุใดจึงไม่ควรเกินร้อยละ15ต่อปีเป็นคำให้การไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา177วรรคสองจึงไม่มีประเด็นว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อนี้ไว้และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และได้มอบอำนาจให้นายทวีศักดิ์ จิรังกาญจนา ฟ้องคดี โจทก์ประกอบกิจการธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์โดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 และประกาศกระทรวงการคลังที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 มกราคม2526 จำเลยที่ 1 กู้เงินจากโจทก์ 10,000,000 บาท ยอมให้ดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อปี กำหนดชำระต้นเงินคืนวันที่ 28 มกราคม 2527 ชำระดอกเบี้ยทุกวันสิ้นเดือนถ้าผิดนัดชำระดอกเบี้ยให้โจทก์บอกเลิกสัญญาเรียกต้นเงินทั้งหมดคืนได้ทันทีแต่ทั้งนี้โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนก่อนครบกำหนดชำระหนี้จำเลยที่ 2 กับนางสุมณฑ์ เอี่ยมสกุล ได้ค้ำประกันการกู้เงินของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 10,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อปี โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมนอกจากนี้นางสุมณฑ์ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 6475, 6476, 6487,7861, 6469, 6700, 6701, 16579 ถึง 16588 กับเลขที่ 3322 และโฉนดเลขที่ 6580 รวม 21 โฉนด พร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์เป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อปี มีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองไม่พอชำระหนี้ยอมให้ยึดทรัพย์สินอื่นชำระหนี้ได้จนครบ ก่อนครบกำหนดชำระต้นเงินคืน จำเลยที่ 1 ขอต่ออายุสัญญากู้เงินดังกล่าวโดยขยายระยะเวลาชำระต้นเงินคืนไปเป็นวันที่ 16 ธันวาคม 2529และยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ 8,900,000 บาท และเมื่อวันที่16 ธันวาคม 2528 จำเลยที่ 1 กู้เงินจากโจทก์อีก 9,600,000 บาทยอมให้ดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อปี กำหนดชำระเงินคืนวันที่ 16ธันวาคม 2529 ชำระดอกเบี้ยทุกวันสิ้นเดือน หากผิดนัดชำระดอกเบี้ยยอมให้โจทก์บอกเลิกสัญญาเรียกต้นเงินทั้งหมดคืนได้ทันที โดยโจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนก่อนครบกำหนดชำระหนี้ จำเลยที่ 2 กับที่ 3 ได้ค้ำประกันการกู้เงินของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 9,600,000 บาท และ19,600,000 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อปี โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2527 นางสุมณฑ์ตาย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสุมณฑ์ได้รับภาระหนี้ตามสัญญาจำนองด้วยความยินยอมของทายาทของนางสุมณฑ์ได้จดทะเบียนเพิ่มจำนวนเงินจำนองที่ดินจำนวน 19 โฉนด เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น18,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อปี ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 16577 และ 16578 ได้ปลดจำนองไปแล้ว หลังจากจำเลยที่ 1ต่ออายุสัญญากู้เงินและกู้เงินครั้งที่สองจากโจทก์ จำเลยที่ 1ไม่ชำระดอกเบี้ยตามข้อตกลง ครั้นครบกำหนดชำระต้นเงินตามสัญญากู้ทั้งสองฉบับคืนก็ไม่ชำระโจทก์จึงให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้เงินกู้และบอกกล่าวบังคับจำนอง แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ถึงวันฟ้องเป็นต้นเงิน18,450,000 บาท และดอกเบี้ย 4,190,455.10 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 22,640,455.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ21 ต่อปีของต้นเงิน 18,300,000 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 18.5 ต่อปีของต้นเงิน 150,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองตามฟ้องพร้อมสิ่งปลูกสร้าง กับทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินจากโจทก์เพื่อลงทุนก่อสร้างตึกแถวขาย มีข้อตกลงให้โจทก์เป็นผู้รับเงินค่าซื้อตึกแถวจากผู้ซื้อตึกแถวหักชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยเป็นงวดและไม่มีกำหนดเวลาชำระต้นเงินคืน เมื่อจำเลยที่ 1 ยังขายตึกแถวไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงยังไม่ผิดสัญญา โจทก์ไม่เคยมีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ และบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 3 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2และที่ 3 ค้ำประกันการกู้เงินของจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 19,600,000 บาท หากจะต้องรับผิดก็รับผิดไม่เกินจำนวนดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงรับผิดตามสัญญาจำนองไม่เกินจำนวนเงินตามสัญญาค้ำประกัน โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ15 ต่อปี การที่โจทก์เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสามตามฟ้องจึงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน22,640,455.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน18,300,000 บาท และร้อยละ 18.5 ต่อปีของต้นเงิน 150,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินจำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลย ทั้ง สาม อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระต้นเงินรวม 18,450,000 บาท และดอกเบี้ยที่ค้างชำระในต้นเงิน9,400,000 บาท ถึงวันที่ 10 มีนาคม 2529 เป็นเงิน 29,573.10 บาทดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 8,900,000 บาท นับแต่วันที่17 ธันวาคม 2519 ดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อปี ในต้นเงิน 9,400,000 บาทนับแต่วันที่ 11 มีนาคม 2529 และดอกเบี้ยร้อยละ 18.5 ต่อปี ในต้นเงิน 150,000 บาท นับแต่วันที่ 14 มีนาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ และ จำเลย ทั้ง สาม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์สองครั้ง ครั้งแรกจำนวน 10,000,000 บาทครั้งที่สองจำนวน 9,600,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.9จำเลยที่ 2 ที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นจำนวนเงินคนละ 19,600,000 บาท โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและนางสุมณฑ์ เอี่ยมสกุล ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินรวม 21 โฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยก่อนจำเลยที่ 1 จะกู้เงินโจทก์ครั้งที่สอง จำเลยที่ 1 ได้ชำระต้นเงินกู้ครั้งแรกให้แก่โจทก์บางส่วน คงเป็นหนี้ต้นเงินกู้ครั้งแรกจำนวน8,900,000 บาท จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ต้นเงินกู้รวมสองครั้งจำนวน18,500,000 บาท และโจทก์ได้ปลดจำนองสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่16577 และเลขที่ 16578 คงติดจำนองอยู่ 19 โฉนด ภายหลังนางสุมณฑ์ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสุมณฑ์ยอมรับภาระหนี้สินตามสัญญาจำนองที่นางสุมณฑ์มีต่อโจทก์ และจำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนเพิ่มเงินจำนองอีก 8,500,000 บาท รวมเป็นจำนองจำนวน 18,500,000 บาท
ปัญหาที่จำเลยทั้งสามฎีกามีว่า จำเลยทั้งสามมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์สองครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28มกราคม 2526 สัญญาครบกำหนดวันที่ 28 มกราคม 2528 ต่อมาวันที่27 มกราคม 2528 โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงต่ออายุสัญญาออกไปเป็นวันที่ 16 ธันวาคม 2529 ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2528สัญญาครบกำหนดวันที่ 16 ธันวาคม 2529 จำเลยที่ 2 ที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และนางสุมณฑ์ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินรวม 21 โฉนด พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ด้วย ต่อมาโจทก์ปลดจำนองที่ 2 โฉนดคงติดจำนองอยู่ 19 โฉนด หลังจากนางสุมณฑ์ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 3ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสุมณฑ์ได้ทำหนังสือยอมรับภาระหนี้สินตามสัญญาจำนองและจดทะเบียนเพิ่มจำนองที่ดินดังกล่าวอีก เมื่อหนี้ตามสัญญากู้เงินระบุวันครบกำหนดสัญญาไว้ อันถือได้ว่าเป็นหนี้ที่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทิน จำเลยทั้งสามจะอ้างว่ามีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้โจทก์เป็นผู้รับเงินค่าซื้อตึกแถวจากผู้ซื้อตึกแถวหักชำระหนี้ โดยจำเลยที่ 1 ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยเป็นงวดและไม่มีกำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนและนำพยานบุคคลมาสืบตามข้ออ้างดังกล่าวเพื่อที่จะให้ศาลรับฟังว่า หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ จำเลยทั้งสามไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาหาได้ไม่เพราะเป็นการสืบพยานบุคคลเพื่อเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) เมื่อครบกำหนดสัญญาจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้จำเลยทั้งสามจึงตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ได้
สำหรับปัญหาที่จำเลยทั้งสามและโจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้นเห็นว่า โจทก์ฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์โดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523และประกาศกระทรวงการคลังที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์สองครั้ง โดยยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อัตราร้อยละ 21 ต่อปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและจำเลยที่ 3ได้นำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนองไว้เป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องของโจทก์เห็นได้ว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นบริษัทเงินทุนและเป็นสถาบันการเงิน ตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 อันจะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้เป็นพิเศษโดยมีอัตราสูงกว่าที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ร้อยละ 15 ต่อปีจำเลยทั้งสามให้การว่า ได้ทำสัญญากู้เงินค้ำประกันและจำนองกับโจทก์จริง แต่จำเลยทั้งสามมิได้ผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ ส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยจำเลยทั้งสามให้การแต่เพียงว่า ดอกเบี้ยที่โจทก์ฟ้องร้องสูงกว่ากฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งจำเลยที่ 1 เห็นว่าไม่ควรเกินร้อยละ15 ต่อปี ดังนี้ คำให้การของจำเลยทั้งสามดังกล่าวไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งว่า ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องสูงกว่ากฎหมายอะไร และเพราะเหตุใดจึงไม่ควรเกินร้อยละ 15 ต่อปี เป็นคำให้การไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อนี้ไว้ และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ส่วนปัญหาที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดเพียงใด และโจทก์บังคับจำนองได้เพียงนั้น เห็นว่า สัญญาจำนองและบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองได้ระบุจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์เป็นจำนวน 18,500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 20 ต่อปี ด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3ผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ต้นเงินพร้อมอัตราดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ให้แก่โจทก์และโจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองดังกล่าวในต้นเงิน18,500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 20 ต่อปีแต่ทั้งนี้ไม่เกินจำนวนที่โจทก์ขอมา หาใช่จำเลยที่ 2 และที่ 3ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงในวงเงิน 19,600,000 บาท ดังจำเลยที่ 2และที่ 3 ฎีกาไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share