คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4957/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ. ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายอาหารและเครื่องดื่มมีบันทึกถึงป. ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลว่าควรเลิกจ้างโจทก์และขอให้ป. ดำเนินการพิจารณาอีกขั้นตอนหนึ่งตามลำดับของการบังคับบัญชาไม่มีผลเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ทันทีเมื่อป. มิได้บอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ตามขั้นตอนปฏิบัติแต่ขอเป็นการส่วนตัวให้โจทก์ลาออกเพื่อพักรักษาตัวก่อนเมื่อหายดีแล้วจึงค่อยกลับเข้ามาทำงานใหม่ในเชิงไม่ต้องการเลิกจ้างโจทก์และเป็นข้อแนะนำในเชิงทางเลือกที่จะเป็นผลดีแก่โจทก์เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้โจทก์ถูกเลิกจ้างจึงเป็นสิทธิของโจทก์จะปฏิบัติตามคำแนะนำหรือไม่ก็ได้ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินประกันการทำงาน เงินค่าบริการ ค่าจ้างค้างจ่ายค่าชดเชย ค่าเสียหายที่เกิดจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยเลิกจ้างโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหาย ค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าบริการ และให้จำเลยคืนเงินประกันการทำงานแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่านายแพทริค เฮอเซ่ และนายประภัทร สุทธาเวช ผู้จัดการฝ่ายบุคคลไม่มีอำนาจเลิกจ้าง ผู้ที่มีอำนาจในการเลิกจ้างได้คือนายจตุพร สิหนาทกถากุล กรรมการผู้จัดการ และนายเดวิดผู้จัดการใหญ่เท่านั้น บันทึกของนายแพทริค ลงวันที่ 8 พฤษภาคม2536 ถึงนายประภัทร มิใช่หนังสือบอกเลิกการจ้าง การที่นายประภัทรปฏิเสธไม่ให้โจทก์ทำงานโดยขอให้โจทก์ลาออกเพื่อรักษาตัวแล้วค่อยกลับเข้าทำงานใหม่เป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจไม่ผูกพันผู้สั่งจ้าง ถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหาย ค่าชดเชยค่าจ้างค้างจ่าย เงินค่าบริการ และเงินประกันการทำงานนั้นเห็นว่า ตามคำแปลบันทึกของนายแพทริคลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2536ถึงนายประภัทรผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลย มีข้อความว่า”โปรดดำเนินการพิจารณาเลิกจ้างนายประดิษฐ์ ผลทาน หมายเลข 241ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกจัดเลี้ยงด้วยเหตุผลขาดงาน ตั้งแต่วันที่1 พฤษภาคม 2536 ถึง 8 พฤษภาคม 2536 โดยมิได้แจ้งให้ผู้จัดการฝ่ายอาหารและเครื่องดื่มทราบ อีกทั้งในการปฏิบัติหน้าที่มักจะหยุดงานอยู่เสมอ ให้มีผลวันที่ 8 พฤษภาคม 2536″ เป็นเรื่องที่นายแพทริคมีความเห็นว่าควรเลิกจ้างโจทก์และได้ขอให้นายประภัทรดำเนินการพิจารณาอีกขั้นตอนหนึ่งตามลำดับของการบังคับบัญชาหาได้มีผลเป็นการสั่งหรือบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ทันทีไม่นายประภัทรยังมีหน้าที่จะต้องดำเนินการพิจารณา หากเห็นชอบด้วยแล้วก็ต้องดำเนินการบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์เป็นขั้นตอนต่อไปตามระเบียบข้อบังคับและวิธีปฏิบัติของจำเลย ส่วนการที่นายประภัทรมิได้ดำเนินการบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ตามขั้นตอนปฏิบัติแต่กลับขอให้โจทก์ลาออกเพื่อพักรักษาตัวก่อนเมื่อหายดีแล้วจึงค่อยกลับเข้ามาทำงานใหม่ดังที่ศาลแรงงานกลางฟังมานั้นเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่นายประภัทรพิจารณาแล้วดำเนินการไปตามความเห็นของนายประภัทรเองในเชิงไม่ต้องการมีการเลิกจ้างโจทก์และเป็นข้อแนะนำในเชิงให้ทางเลือกที่จะเป็นผลดีแก่โจทก์ เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้โจทก์ต้องถูกเลิกจ้าง กรณีเช่นว่านี้จึงเป็นสิทธิของโจทก์จะปฏิบัติตามที่นายประภัทรแนะนำหรือไม่ก็ได้เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายประภัทรได้รับมอบหมายจากจำเลยให้ทำการแทนในการแนะนำโจทก์ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างนายประภัทรกับโจทก์ ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำของจำเลย เมื่อยังมิได้มีการบอกเลิกจ้างโจทก์ตามขั้นตอนปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย จึงยังคงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหาย และค่าชดเชยให้แก่โจทก์”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหาย และค่าชดเชยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share