คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3744/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ซึ่งเสียค่าขึ้นศาลมาอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์เสียค่าขึ้นศาลใหม่อย่างคดีมีทุนทรัพย์ภายใน15วันโจทก์อุทธรณ์คำสั่งเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาศาลฎีกามีคำสั่งว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ให้ยกคำร้องของโจทก์ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์และให้โจทก์นำเงินค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องมาวางศาลภายใน15วันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นกำหนดเวลาใหม่ให้โจทก์นำเงินค่าขึ้นศาลมาชำระคำสั่งของศาลชั้นต้นเช่นนี้มิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีไม่ต้องด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา144 ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลใหม่ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องภายใน15วันโจทก์กลับแถลงขออนุญาตไม่เสียค่าขึ้นศาลก่อนโดยอ้างว่าจะอุทธรณ์ฎีกาต่อไปในภายหลังซึ่งศาลชั้นต้นไม่อนุญาตจนเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้วถือได้ว่าโจทก์ทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา174(2) คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาแม้โจทก์จะเป็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องอย่างไรโจทก์กระทำได้แต่เพียงโต้แย้งคำสั่งนั้นเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาในโอกาสต่อไปเท่านั้นการที่โจทก์มีข้อโต้แย้งหรือเห็นว่าคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่ไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาล

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรบุญธรรมของนายชิน ปิ่งทองคำ และโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของนายชิน จำนวนเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 70 ตารางวาแต่ทางนางพุ่ม ปิ่นทองคำ ภริยานายชินได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 และนางสำเภา ปิ่นทองคำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วจำเลยที่ 1 และนางสำเภากระทำการฉ้อฉลร่วมกับจำเลยที่ 9 และที่ 10 โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางพุ่มจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2611บางส่วนให้แก่นางสำเภา นางสำเภาจดทะเบียนโอนเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ได้จะทะเบียนแบ่งแยกที่ดินออกเป็นหลายแปลง แล้วจดทะเบียนโอนเป็นของตนเองโอนขายให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ขายฝากให้แก่จำเลยที่ 5ที่ 7 และที่ 8 โดยไม่สุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบจดทะเบียนลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท หากไม่ปฏิบัติขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสิบ จำเลยทั้งสิบให้การว่าโจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้สิทธิโดยการครอบครองที่ดินพิพาทแล้วและต่อสู้คดีข้ออื่นอีกหลายประการระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 5 ศาลชั้นต้นอนุญาต
วันที่ 21 มิถุนายน 2537 ศาลชั้นต้นนัดชี้สองสถาน คู่ความมาพร้อม ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่า ฟ้องโจทก์ขอให้ศาลเพิกถอนการโอนที่ดินโดยการฉ้อฉล และขอให้ลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วย นอกจากนี้จำเลยยังต่อสู้กรรมสิทธิ์จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ การที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลมาอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์เป็นการไม่ถูกต้อง มีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลใหม่ให้ถูกต้องตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2537 มิฉะนั้นถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องและให้เลื่อนการชี้สองสถานไป โจทก์ยื่นคำร้องว่า คดีโจทก์เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ เพราะเป็นคำสั่งเกี่ยวกับการเรียกค่าฤชาธรรมเนียม (ค่าขึ้นศาล) ที่มิชอบหรือถูกต้องตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์คำสั่งเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยขออนุญาตต่อศาลชั้นต้นศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีมิใช่เรื่องการกำหนดหรือคำนวณค่าฤชาธรรมเนียมไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 168 แต่เป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่ ซึ่งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จึงไม่รับอุทธรณ์ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยขออนุญาตต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา จึงให้ส่งไปศาลฎีกา
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์ซึ่งเสียค่าขึ้นศาลมาอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ เสียค่าขึ้นศาลใหม่อย่างคดีมีทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องภายใน 15 วัน มิฉะนั้น ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องนั้น เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะโต้แย้งเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวเป็นการที่มิได้กำหนดหรือคำนวณค่าฤชาธรรมเนียมให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 168 ก็ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 วรรคหนึ่ง และเมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนี้ โจทก์ยังไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาโดยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ได้ ให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลฎีกาให้คู่ความฟังและมีคำสั่งในวันเดียวกันนั้นว่า ศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ ฉะนั้นโจทก์จึงต้องนำค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องมาวางต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ 28 กันยายน 2537 มิฉะนั้นให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องวันที่ 29 กันยายน 2537 โจทก์ยื่นคำแถลงโต้แย้งคัดค้านว่าคำสั่งศาลฎีกายังมิได้วินิจฉัยเนื้อหาว่า คดีโจทก์เป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่ และรับฟังว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา และคำสั่งของศาลที่สั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลให้ถูกต้องภายใน 15 วันนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเลยขั้นตอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 แล้ว ปัญหาเรื่องนี้ยังไม่ยุติซึ่งโจทก์จะได้อุทธรณ์ฎีกาต่อไป ในชั้นนี้โจทก์จึงขออนุญาตไม่เสียค่าฤชาธรรมเนียมเพิ่มตามคำสั่งศาลไว้ก่อน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคำแถลงโต้แย้งคัดค้านให้รวมเรื่องไว้ ส่วนเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่อนุญาต
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียม ขอให้ศาลอุทธรณ์กลับคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้โจทก์ได้งดเสียค่าฤชาธรรมเนียมประเภทคดีมีทุนทรัพย์จนกว่าจะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 12 ตุลาคม 2537 ว่าโจทก์กลับมายื่นอุทธรณ์เรื่องที่ศาลสั่งให้เสียค่าฤชาธรรมเนียมอีกจึงเป็นการประวิงเพื่อที่จะไม่เสียค่าฤชาธรรมเนียมตามคำสั่งศาลทั้งเป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 วรรคหนึ่งจึงไม่รับอนุญาต
วันที่ 17 ตุลาคม 2537 เจ้าหน้าที่ศาลรายงานต่อศาลชั้นต้นว่าศาลมีคำสั่งให้โจทก์นำเงินค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องมาวางศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ 28 กันยายน 2537มิฉะนั้นถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง จนบัดนี้โจทก์ยังไม่ดำเนินการแต่อย่างใด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 18 ตุลาคม 2537 ว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินการตามที่ศาลกำหนด ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ
วันที่ 26 ตุลาคม 2537 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2537 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลสั่งจำหน่ายคดีแล้ว จึงไม่รับอุทธรณ์
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีลงวันที่ 18 ตุลาคม 2537โดยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาพร้อมคำฟ้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และคำร้องแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และจำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 แล้ว จำเลยทั้งหมดมิได้คัดค้านคำร้องดังกล่าวภายในกำหนดระยะเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นจึงสั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่าหลังจากศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งศาลฎีกาเมื่อวันที่ 28 กันยายน2537 แล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่อีกว่า ให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมเพิ่มภายใน 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องนั้นเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144 เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ซึ่งเสียค่าขึ้นศาลมาอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ เสียค่าขึ้นศาลใหม่อย่างคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องภายใน 15 วัน โจทก์อุทธรณ์คำสั่งเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ให้ยกคำร้องของโจทก์ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าเมื่อศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ จึงให้โจทก์นำเงินค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องมาวางศาลภายใน 15 วันมิฉะนั้นถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องนั้น เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นกำหนดเวลาใหม่ให้โจทก์นำเงินค่าขึ้นศาลมาชำระ เพื่อที่จะให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยชอบ คำสั่งของศาลชั้นต้นเช่นนี้มิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดี กรณีไม่ต้องด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144ดังที่โจทก์อุทธรณ์ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์มิได้เพิกเฉยไม่ดำเนินการตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดนั้น ได้ความว่าศาลชั้นต้นได้สั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ 28 กันยายน 2537 โจทก์กลับแถลงขออนุญาตไม่เสียค่าขึ้นศาลก่อน โดยอ้างว่าจะอุทธรณ์ฎีกาต่อไปในภายหลัง ซึ่งศาลชั้นต้นไม่อนุญาตจนเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้ว ถือได้ว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรกำหนด เพราะคำสั่งของศาลดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา แม้โจทก์จะเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องอย่างไร โจทก์กระทำได้แต่เพียงโต้แย้งคำสั่งนั้นเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาในโอกาสต่อไปเท่านั้นการที่โจทก์มีข้อโต้แย้งหรือเห็นว่าคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่ไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลแต่อย่างใด มิฉะนั้นการดำเนินกระบวนพิจารณาจะเป็นไปโดยไม่สะดวกและเรียบร้อย การกระทำของโจทก์จึงเป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2)ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share