คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3582/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การท้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลที่คู่ความตกลงกันให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นที่คู่ความท้ากันเป็นข้อแพ้ชนะมิได้มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลเพื่อจะก่อเปลี่ยนแปลงโอนสงวนหรือระงับซึ่งสิทธิตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา112จึงไม่เป็นนิติกรรมที่อยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1574ที่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน เมื่อคู่ความท้ากันเป็นข้อแพ้ชนะโดยให้ดูผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของโจทก์ที่2ในเอกสารหนังสือยินยอมให้เช่าอีกคดีหนึ่งและปรากฏว่าโจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้าจำเลยที่1ย่อมจะบังคับตามฟ้องแย้งแก่โจทก์ได้โดยไม่ต้องพิจารณาอีกว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องแย้งเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าหรือไม่เพราะเป็นเรื่องนอกเหนือคำท้าโจทก์ทั้งสองจึงต้องไปจดทะเบียนการเช่าแก่จำเลยที่1และกรณีไม่ถือว่าอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา538

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4568 เลขที่ดิน 88 แขวงบางบอน เขตบางขุนเทียนกรุงเทพมหานคร ในปี 2515 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวเพื่อปลูกสร้างตึกแถวมีกำหนดระยะเวลา 15 ปี เพื่อให้คนอื่นเช่า และมีข้อตกลงกันว่าเมื่อครบกำหนดการเช่าแล้วก็ให้ตึกแถวที่สร้างขึ้นนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 ได้สร้างตึกแถวห้องพิพาทเลขที่ 81/73 และห้องอื่น ๆ ลงในที่ดินดังกล่าว ต่อมาในปี 2519 โจทก์ที่ 2 ได้ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 และต่อมาจำเลยที่ 2 ได้เช่าตึกแถวห้องพิพาทจากจำเลยที่ 1 วันที่ 23 พฤษภาคม 2530 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอายุสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตึกแถวห้องพิพาทได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองตามผลแห่งสัญญาและโดยผลแห่งกฎหมาย แต่จำเลยทั้งสองก็ยังคงอาศัยอยู่ในตึกแถวห้องพิพาทโจทก์ได้บอกเลิกการเช่าแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมออกจากตึกแถวห้องพิพาท ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินตามโฉนดเลขที่ 4568แขวงบางบอน เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร และออกจากตึกแถวห้องพิพาท ให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาทแก่โจทก์ทั้งสองนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกไปจากที่ดินและตึกแถวห้องพิพาท
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เพราะโจทก์ที่ 2 มิได้ยกตึกแถวห้องพิพาทให้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ได้ทำหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ 1นำตึกแถวห้องพิพาทไปให้เช่าช่วงได้ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2549โดยจำเลยที่ 1 เสียค่าตอบแทนให้โจทก์ที่ 2 เป็นเงินหลายแสนบาทฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้เพราะจำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญาแต่อย่างใดเมื่อโจทก์ที่ 2 มีหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนเช่าช่วงได้ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2549 โจทก์ที่ 2 ก็ต้องทำการจดทะเบียนสัญญาเช่า ถ้าโจทก์ทั้งสองไม่ยินยอมไปจดทะเบียนการเช่าจำเลยที่ 1 จะได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันจัดการจดทะเบียนการเช่าตึกแถวห้องพิพาทถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2549 หากโจทก์ทั้งสองไม่ไปจดทะเบียนตามกำหนดจนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2549 ให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 500 บาท นับจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ทั้งสองจะปฏิบัติตามคำพิพากษา
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ 2 ไม่เคยทำหนังสือแสดงความยินยอมหรืออนุญาตให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินและตึกแถวห้องพิพาทไปให้ผู้อื่นเช่าช่วง ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
ก่อนสืบพยานโจทก์ คู่ความท้ากันว่า ถ้าผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อเจ้าของที่ดินในหนังสือยินยอมให้เช่าในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2166/2533 ของศาลชั้นต้น เป็นลายมือชื่อของโจทก์ที่ 2โจทก์ทั้งสองยอมแพ้ หากมิใช่ลายมือชื่อของโจทก์ที่ 2 จำเลยทั้งสองยอมแพ้ ปรากฏว่าในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2166/2533ผู้เชี่ยวชาญกรมตำรวจตรวจพิสูจน์แล้วได้รายงานผลการตรวจพิสูจน์และลงความเห็นว่าลายมือชื่อเจ้าของที่ดินในหนังสือยินยอมดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของโจทก์ที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไปดำเนินการจดทะเบียนการเช่าตึกแถวห้องพิพาทเลขที่ 81/73 ถนนเอกชัยแขวงบางบอน เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร เป็นระยะเวลาถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2549 ให้แก่จำเลยที่ 1 หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ คำขออื่นตามฟ้องแย้งให้ยก
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ แต่ศาลชั้นต้นรับเฉพาะอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ไม่รับอุทธรณ์โจทก์ที่ 2
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าคดีนี้โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1ต่างฎีกา ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ 1 ก่อนโดยโจทก์ที่ 1 ฎีกาสรุปเป็นใจความได้ว่า การที่โจทก์ที่ 2ผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ 1 ผู้เยาว์ ดำเนินกระบวนพิจารณาแทนโจทก์ที่ 1 เกี่ยวกับการท้าเป็นการกระทำนิติกรรม การที่โจทก์ที่ 2 ทำการท้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล จึงเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การท้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลที่คู่ความตกลงกันให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นที่คู่ความท้ากันเป็นข้อแพ้ชนะ มิได้มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 112(ตรงกับฉบับที่ตรวจชำระใหม่ มาตรา 149) จึงไม่เป็นนิติกรรมที่อยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 ที่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 นั้นสรุปเป็นใจความได้ว่า เอกสารสัญญาขยายเวลาการเช่าตึกแถวพิพาทออกไปถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2549โดยจำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินตอบแทนให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน300,000 บาท เป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้องแย้งให้โจทก์ทั้งสองไปจดทะเบียนการเช่าได้ และเมื่อโจทก์ทั้งสองแพ้คดีจำเลยที่ 1 ตามคำท้า โจทก์ทั้งสองจึงต้องไปจดทะเบียนการเช่าให้จำเลยที่ 1 ตามฟ้องแย้ง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อคู่ความท้ากันเป็นข้อแพ้ชนะโดยให้ดูผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของโจทก์ที่ 2 ในเอกสารหนังสือยินยอมให้เช่าในคดีหมายเลขดำที่2166/2533 ของศาลชั้นต้นและปรากฏว่าโจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้า จำเลยที่ 1 ย่อมจะบังคับตามฟ้องแย้งแก่โจทก์ได้โดยไม่ต้องพิจารณาอีกว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องแย้งเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องนอกเหนือคำท้า โจทก์ทั้งสองจึงต้องไปจดทะเบียนการเช่าแก่จำเลยที่ 1 และกรณีไม่ถือว่าอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share