แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่1รับผิดตามสัญญาขายลดเช็คมิได้ฟ้องบังคับให้ใช้เงินตามเช็คและให้จำเลยที่2รับผิดตามสัญญาค้ำประกันสัญญาขายลดเช็คต้องนำอายุความสัญญาขายลดเช็คและสัญญาค้ำประกันมาใช้บังคับซึ่งกฎหมายมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงอยู่ในอายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/30มีกำหนด10ปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2523 จำเลยที่ 1ขอวงเงินนำเช็คมาขายลดกับโจทก์ไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งโจทก์อนุมัติตามขอ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 นำเช็คมาขายลดหลายครั้งคิดถึงเดือนตุลาคม 2524 จำเลยที่ 1 มียอดหนี้ค้างชำระ 340,000 บาทจำเลยที่ 1 นำเช็คธนาคารมหานคร จำกัด สำนักงานใหญ่ จำนวน9 ฉบับ จำนวนเงิน 340,000 บาท มาขายลดให้โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ โจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คได้ 8 ฉบับ ส่วนเช็คฉบับที่ 9 ซึ่งลงวันที่ 25 สิงหาคม 2525 สั่งจ่ายเงินจำนวน260,000 บาท นั้น จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนกำหนดการใช้เงินไปเป็นวันที่ 25 มิถุนายน 2528 ในระหว่างที่เช็คฉบับที่ 9 ยังไม่ถึงกำหนดชำระ จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระเฉพาะต้นเงินให้โจทก์ 100,000บาท คงเหลือต้นเงินที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ 160,000 บาทซึ่งจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระให้โจทก์ ต่อมาเมื่อเช็คฉบับดังกล่าวถึงกำหนด ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระต้นเงิน 160,000 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ20 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2528 ถึงวันที่ 4 มีนาคม 2529เป็นเงิน 13,501.37 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2528 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 135,430.14 บาทรวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น 308,931.51 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 308,931.51 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 18.5 ต่อปีของต้นเงิน 160,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินต้นจำนวน160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ต่อปี นับแต่วันที่3 ตุลาคม 2528 จนถึงวันที่ 4 มีนาคม 2529 ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529 จนถึงวันฟ้อง (วันที่ 3ตุลาคม 2533) และนับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 148,931.51 บาท
จำเลย ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายลดเช็คตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.10 ไว้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.11 ไว้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์จำนวน 340,000 บาท จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ให้โจทก์ได้ จำเลยที่ 1 จึงสั่งจ่ายเช็คจำนวน 9 ฉบับ ขายลดให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.14 ปรากฏว่าเรียกเก็บเงินตามเช็คได้เพียง 8 ฉบับ ส่วนเช็คฉบับที่ 9 ซึ่งจะต้องชำระในวันที่ 25 สิงหาคม 2525 นั้น จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนกำหนดใช้เงินไปเป็นวันที่ 25 มิถุนายน 2528 ในระหว่างที่เช็คฉบับที่ 9ยังไม่ถึงกำหนดชำระ จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระเฉพาะต้นเงินแก่โจทก์รวม 100,000 บาท จำเลยที่ 1 คงเป็นหนี้โจทก์เฉพาะต้นเงินจำนวน 160,000 บาท ต่อมาเมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แล้วแต่ส่งหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ปฏิเสธหนี้ไปยังโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อ 2.2 เพียงข้อเดียวว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาขายลดเช็คมิได้ฟ้องบังคับให้ใช้เงินตามเช็ค และให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันต้องนำอายุความตามสัญญาขายลดเช็คและสัญญาค้ำประกันมาใช้บังคับ ซึ่งกฎหมายมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงอยู่ในอายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา193/30 (มาตรา 164 เดิม) ซึ่งมีกำหนด 10 ปี ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 นำเช็คมาขายลดให้แก่โจทก์หลายครั้ง เมื่อถึงเดือนตุลาคม 2524 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์จำนวน 340,000 บาทจำเลยที่ 1 ได้นำเช็คธนาคารมหานคร จำกัด สำนักงานใหญ่รวม 9 ฉบับ มาทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.12 ให้ไว้แก่โจทก์ศาลฎีกาพิจารณาเอกสารหมาย จ.12 แล้ว ข้อความในเอกสารดังกล่าวมิใช่หนังสือรับสภาพหนี้ แต่เป็นสัญญาขายลดเช็ค เมื่อปรากฏว่าเช็คฉบับที่ 9 ตามสัญญาขายลดเช็คดังกล่าวครบกำหนดการใช้เงินเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2528 แล้ว ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินซึ่งตามสัญญาขายลดเช็คถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดนับแต่วันที่เช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป ซึ่งนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 3 ตุลาคม 2533ยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์ส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความ สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดโจทก์ชอบที่จะเรียกให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ได้แต่นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 คดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน